เลือกตั้ง 2566-ท่องเที่ยวฟื้น ดันดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค เม.ย. สูงสุดในรอบ 38 เดือน

ราคาสินค้า

หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายน 2566 อยู่ระดับ 55.0 สูงสุดในรอบ 38 เดือน จากปัจจัยการเลือกตั้ง-การท่องเที่ยวฟื้น แต่ยังถือว่าต่ำกว่าก่อนโควิด-19

วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายน 2566 อยู่ระดับ 55.0 สูงสุดในรอบ 38 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยดีขึ้น บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้ง ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนไปตามภูมิภาคต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม แม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะดีขึ้น แต่ก็ยังไม่กลับไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด เพราะประชาชนยังกังวลกับค่าครองชีพ ค่าไฟฟ้า ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ยังปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทุกรายการ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัว รวมไปถึงการใช้จ่ายของประชาชนจะเพิ่มขึ้น

ส่วนสถานการณ์การหาเสียงเลือกตั้งของแต่ละพรรคในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท และในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งจะมีเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจอีก 2-3 หมื่นล้านบาท เห็นได้จากการจับจ่ายในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

หอการค้าไทยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัว 3.0-3.5% และมีโอกาสจะเติบโตได้มากกว่า 3.5% หากเศรษฐกิจโลกไม่รุนแรง จะส่งผลให้การส่งออกของไทยฟื้นตัวดีขึ้น รวมไปถึงการเมืองต้องมีเสถียรภาพ ถ้ารัฐบาลใหม่ไม่มีเสถียรภาพ เศรษฐกิจมีโอกาสขยายตัวต่ำกว่า 3% ซึ่งจะกระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภค นักลงทุน การท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี หอการค้าไทยจะประเมินเศรษฐกิจไทยอีกครั้งหลังเลือกตั้ง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นสูงสุดในรอบ 38 เดือน

นายวาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนเมษายน 2566 อยู่ที่ระดับ 55.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 38 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้น

รวมไปถึงบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่คึกคักทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ ปรับตัวดีขึ้น

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 49.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 52.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 63.6 ซึ่งดัชนีทุกตัวปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2566

ปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่น ได้แก่ 1.บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่คึกคักทั่วประเทศ และมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น 2.จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนภายในประเทศมากขึ้น

3.ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 4.ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับลดลง 5.เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น สะท้อนว่ามีการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศ

ขณะที่ปัจจัยลบที่กระทบ ได้แก่ 1.ผู้บริโภคยังกังวลว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า และปัญหาค่าครองชีพสูง จากปัญหาค่าไฟแพง และราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง ไม่สอดคล้องกับรายได้ในปัจจุบัน 2.สถานการณ์เศรษฐกิจโลกจากปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐและยุโรป กระทบจิตวิทยาเชิงลบ

3.กระทรวงการคลังปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2566 ลงเหลือ 3.6% จากเดิม 3.8% เนื่องจากการส่งออกชะลอตัว 4.กังวลปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังยืดเยื้อ และปัญหาฝุ่น PM 2.5

แถลงข่าวดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค