หมุดหมายใหม่ “บีโอไอ” รับทศวรรษนักลงทุนจีน

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

การลงทุนเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญหลังจากโควิด 19 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย “ยานยนต์ไฟฟ้า-ดิจิทัล-อิเล็กทรอนิกส์” เพื่อสร้างการเติบโตและการพัฒนาให้สินค้าใหม่ที่มีมูลค่าสูงให้กับประเทศ และเป็นโจทย์ใหญ่ที่ประเทศไทยต้องฝ่าไปให้ได้ เพื่อดึงนักลงทุนให้เลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิต ในภาวะที่นักลงทุนทั่วโลกต่างต้องฝุ่นตลบกับปรับยุทธศาสตร์การลงทุนให้ก้าวข้ามปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้า

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์” เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ถึงยุทธศาสตร์การดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะทัพนักลงทุนจากจีนที่กำลังมองหาฐานการผลิตและการส่งออกใหม่ดังนี้

“นฤตม์” เริ่มต้นการสนทนาว่า “คลื่นการลงทุนจากจีนจะเป็นคลื่นใหญ่ในทศวรรษข้างหน้า และจะเป็นทศวรรษที่คลื่นจากจีนถาโถมเข้ามา เพราะตอนนี้จีนเปิดประเทศแล้ว และมีความจำเป็นที่ต้องขยายการลงทุนออกสู่ต่างประเทศ ภายหลังจากเกิดประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศ (geopolitic) การเกิดปัญหาสงครามการค้า ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อผู้ที่ทำธุรกิจค้าขายระหว่างจีนและสหรัฐ”

ทศวรรษคลื่นการลงทุนจีน

“การออกไปต่างประเทศของคลื่นการลงทุนจากจีนจะไม่ใช่แค่การขยายฐานการลงทุน แต่ยังรวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานคนหนุ่ม-สาวที่จะออกมาเรียนในต่างประเทศด้วย และคนกลุ่มนี้นับเป็นแรงงานทักษะสูงที่สามารถสร้างประโยชน์ต่อประเทศได้ ไทยต้องใช้โอกาสนี้ในการวางกลยุทธ์เรื่องจีน เพื่อจะสามารถสร้างประโยชน์ระหว่างกันให้ได้”

“จีนเป็นประเทศที่ใหญ่มาก จับไปตรงไหนก็มีแต่โอกาส สินค้าของจีนมีจำนวนมาก ซึ่งเราต้องคัดสรรและส่งเสริมธุรกิจที่ดีที่น่าสนใจมาลงทุน”

เลขาฯ บีโอไอ ยังระบุด้วยว่า เป้าหมายของการขยายฐานการลงทุนจากจีนหลัก ๆ จะมุ่งมาที่อาเซียน เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย ซึ่งเชื่อว่าไทยมีจุดแข็งที่จะสามารถดึงดูดการลงทุนจากจีนได้ โดยจะเห็นว่าเพียงไม่กี่เดือนหลังเปิดประเทศ มีนักลงทุนจีนขยายการลงทุนมาในไทยประมาณ 10,000-20,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีมาก

“เราจะปล่อยให้สูญเสียโอกาสนี้ไปไม่ได้ เหมือน 30 ปีก่อน เราพยายามอย่างมากในการดึงนักลงทุนญี่ปุ่นมาตั้งฐานผลิตยานยนต์ในไทย ถ้าไม่มีวันนั้นเราจะไม่มีความแข็งแกร่งอย่างวันนี้ ดังนั้น ตอนนี้เราต้องพยายามอย่างเต็มที่ เช่น เรื่องรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ถ้านักลงทุนจีนไม่มาไทยก็อาจจะไปเวียดนามหรืออินโดนีเซีย ซึ่งถ้าเค้าตัดสินใจไปแล้วเราจะสูญเสียโอกาสไปนานอีก 10-20 ปี และเลิกพูดถึงเรื่องนี้ได้เลย”

มิ.ย.โรดโชว์จีน ดึงนักลงทุน

นายนฤตม์กล่าวด้วยว่า ในเดือน มิ.ย.ที่จะถึงนี้ บีโอไอมีแผนจะเดินทางไปโรดโชว์ฝั่งตะวันตกของจีน คือ เฉิงตูและฉงชิ่ง โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการดึงทุนคือยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่จีนมีศักยภาพ จากเมื่อเดือนก่อนไปโรดโชว์ที่เซียงไฮ้ หางโจว เซินเจิ้น และกวางโจว ล่าสุดมีสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากจีน นำสมาชิก 60 คนเข้ามาพบเพื่อหารือถึงโอกาสการลงทุน ซึ่งวันนี้การผลิตสินค้าในจีนอาจจะส่งออกไปขายสหรัฐยาก คนที่ค้าขายกับอเมริกาจำเป็นต้องหาประเทศที่ 3 ที่สามารถเป็นฐานผลิตที่ส่งออกไปทั่วโลกได้ ซึ่งไทยก็ตอบโจทย์ตรงนี้ได้

“ก่อนหน้านี้ ฉางอันผู้ผลิตรถอีวีก็คุยกับเราอยู่นาน ในที่สุดก็ตัดสินใจมาลงทุนที่ไทย และเตรียมยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ทั้งเกรท วอลล์ฯ บีวายดี ซึ่งอุตสาหกรรมนี้อาศัยการเชื่อมโยงซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งซึ่งไทยมีความพร้อม ทั้งยังมีเทคโนยีเบสที่โดดเด่น ที่พร้อมรองรับการลงทุน”

แพ็กเกจอีวีดันลงทุน 1.1 แสนล้าน

นายนฤตม์กล่าวว่า การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมอีวี หลังจากที่ใช้แพ็กเก็จส่งเสริมการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า 3.0 เมื่อเดือน ก.พ. 2565 เปิดให้นำเข้าจนถึง ธ.ค. 2566 ที่เป็นเฟสแรก จนถึงขณะนี้มีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมกว่า 70 โครงการ รวมเป็นงบลงทุน 1.11 แสนล้านบาท มีทั้งการขอส่งเสริมในกลุ่มตัวรถ 26 โครงการ 86,000 ล้านบาท ชิ้นส่วนอีวี 16 โครงการ รวม 5,000 ล้านบาท และแบตเตอรรี่ 28 โครงการ 20,000 ล้านบาท

โดยตอนนี้มีแบรนด์อีวีจากจีน 4 แบรนด์เข้ามาลงทุน และมีออร์เดอร์ 25% ในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา ซึ่งผลสำรวจชี้ชัดว่าคนไทยตอบรับแบรนด์อีวีของจีน และคาดว่าปีนี้จะมียอดจองมากกว่า 50,000 คัน โดยช่วง 3 เดือนแรกที่ผ่านมามีแล้ว 14,000 คัน ยอดสะสมอยู่ที่ 30,000 คัน

“จะเห็นว่าตอนนี้โมเมนตั้มรถอีวีเริ่มมาแล้ว จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น และคนไทยเองก็พร้อมที่ลองของใหม่ ซึ่งบอร์ดอีวีมองว่าเราควรรักษาโมเมนตั้มนี้ไว้ ถ้าหยุดจะทำให้สะดุดไป นักลงทุนรายใหม่จะลังเลที่จะเข้ามา บีโอไอจึงเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในการขยายแพ็กเก็จต่อไป 2 ปี คือให้นำเข้าปี’67-68 และเริ่มผลิตปี’69-70 เรียกว่าแพ็กเก็จ 3.5”

ส่งเสริมกิจการสวอปแบตเตอรี่

เลขาฯปีโอไออธิบายถึงความแตกต่างระหว่างแพ็กเก็จ 3.0 และ 3.5 ซึ่งเป็นเฟส 2 ของมาตรการนี้ว่า คือการเพิ่มความเข้มข้นในบางเรื่อง เช่น การสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่ เดิมวางไว้ที่ความจุ 30 kWh ก็ขยับไป 50 kWh ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น ขณะที่มาตรการกระตุ้นดีมานด์ เฟส 2 จะปรับลดลงจากเฟสแรก เช่น ส่วนลดจาก 150,000 บาท เหลือ 100,000 บาท เพราะเทคโนโลยีที่พัฒนาทำให้ราคารถถูกลง เป็นต้น

ซึ่งเป็นตามนโยบายของบีโอไอที่มุ่งส่งเสริม ecosystem การลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ เพื่อให้ไทยเดินหน้าสู่เป้าหมาย 30@30 คือในปี 2030 จะมีรถ BEV ที่ผลิตในประเทศไทยได้ 7.2 แสนคัน จากการผลิตทั้งหมด และตอนนั้นความต้องการใช้แบตเตอรี่จะเพิ่มขึ้นสูง ดังนั้น การส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจสถานีชาร์จรวมถึงกิจการแบตเตอรี่สวอปปิ้งก็ต้องทำคู่ขนานกันไป

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา จากการไปศึกษาดูงานที่ประเทศจีน ทำให้เห็นถึงเทคโนโลยีใหม่ที่จีนใช้ “สวอปแบตเตอรี่” ในรถยนต์และรถบรรทุก ไม่ใช่เฉพาะรถมอเตอร์ไซค์ เทคโนโลยีนี้พัฒนาขึ้นทำให้ผู้ใช้มีความสะดวก ใช้ระยะเวลา แค่ 3 นาที มีเครื่องมาเปลี่ยนแบตไม่ต้องไปจอดชาร์จไว้นาน ซึ่งจะดีสำหรับรถบรรทุกและรถขนส่งสินค้า

ข้อดีคือ ต่อไปหากมีกิจการนี้การซื้อรถไม่มีค่าแบตเตอรี่ จะถูกลงเหมือนเป็นการเช่า แต่ยังมีข้อเสียคือ ยังใช้ได้จำกัดบางแบรนด์ แต่ละแบรนด์ดีไซน์การติดตั้งไม่เหมือนกัน

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ พัฒนาตลอดเวลา เช่น โมบายชาร์จจิ้ง เป็นระบบชาร์จเคลื่อนที่ เหมาะกับผู้ใช้รถอีวีในคอนโดฯ หรือล่าสุดมีผู้ประกอบการมาหารือเรื่องการทำแอพลิเคชั่นเชื่อมโยงระบบอีวีชาร์จ กับระบบ smart parking เพื่อแก้ปัญหาพฤติกรรมผู้ใช้ที่มาแอบใช้ช่องจอดแต่ไม่ชาร์จ