“คาวาซากิ”ชู Gas Engine วาดฝันกวาด SPP 250 MW

นายยาซุฮิโระ โมริ หัวหน้าสำนักงานผู้แทน บริษัท คาวาซากิ เฮฟวี อินดัสทรีส์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัท คาวาซากิ เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ กำลังเร่งทำตลาดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบเครื่องยนต์ก๊าซ (Gas Engine) ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา

โดยเฉพาะไทย จะเน้นจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีแนวโน้มจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก(SPP) มากขึ้น รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้า SPP ของภาครัฐในลอตแรก จำนวน 500 เมกะวัตต์ที่จะหมดอายุสัญญาลงในปี 2568 คาดว่าอย่างน้อย 250 เมกะวัตต์ของลูกค้า SPP กลุ่มนี้จะใช้ Gas Engine ของคาวาซากิฯ

“เราทำตลาด Gas Engine ในญี่ปุ่นมา 9 ปีแล้ว แต่ในไทยยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก ที่ผ่านมาขาย Gas Engine ขนาด 7.8 เมกะวัตต์ในไทยได้ 5 เครื่อง ราคาเครื่องละ 500 ล้านเยน ขายให้โรงงานอุตสาหกรรม 2 เครื่อง และโรงไฟฟ้าเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น จำนวน 3 เครื่อง”

จุดเด่นของ Gas Engine มีต้นทุนต่ำ หากเทียบการใช้เครื่องกังหันก๊าซ (Gas Turbine) ในขนาด 7.8 เมกะวัตต์เท่ากัน ประสิทธิภาพระบบผลิตพลังงานความร้อนของ Gas Turbine ประมาณ 30% ขณะที่ประสิทธิภาพของ Gas Engine อยู่ที่ 49.5%

“กระบวนการผลิตไฟฟ้า Gas Turbine จะไปอยู่โดด ๆ ไม่ได้ ต้องไปรวมกับเครื่องกังหันไอน้ำ (Steam Turbine) ถึงจะคุ้ม แต่ Gas Engine สามารถอยู่โดด ๆ ได้ แต่ผลิตไอน้ำได้น้อย ปกติโรงไฟฟ้า SPP แบบใช้พลังความร้อนร่วมจะมี Gas Turbine 2 ตัว พอผลิตไฟฟ้าได้ ก๊าซร้อนส่วนที่เหลือจะถูกส่งไปยังเครื่องผลิตไอน้ำ (HRSG) เพื่อต้มน้ำให้เป็นไอน้ำ ไอน้ำที่ได้จะจ่ายให้ลูกค้าและอีกส่วนหนึ่งจะนำไปหมุน Steam Turbine ไอน้ำในส่วนนี้จะถูกส่งให้ลูกค้าอุตสาหกรรม แต่ Gas Engine มาตอบโจทย์อุตสาหกรรมที่ไม่ต้องการใช้ไอน้ำ อย่างโรงไฟฟ้าเบิกไพรฯ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และไม่มีลูกค้าใช้ไอน้ำ ตามสัญญาช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ต้องขายไฟให้ กฟผ. 90 เมกะวัตต์ และช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อย (Off Peak) ต้องขายไฟให้ กฟผ. 59 เมกะวัตต์ หากติดตั้ง Gas Turbine 2 ตัว จะผลิตไฟได้เกินความจำเป็น 110 เมกะวัตต์ ไม่คุ้ม

คาวาซากิเสนอให้ตัด Gas Turbine ออกไป 1 ตัว พร้อมเสริม Gas Engine ขนาด 7.8 เมกะวัตต์ 3 ตัวเข้าไป เท่ากับ 23.4 เมกะวัตต์ ทำให้ช่วง Peak จะเดินเครื่องทั้งหมด คือ Gas Turbine 1 ตัว Gas Engine 3 ตัว จะได้ไฟ 90 เมกะวัตต์ แต่ช่วง Off Peak จะหยุดเดินเครื่อง Gas Engine ทั้ง 3 ตัว จะเหลือการผลิตไฟจาก Gas Turbine ประมาณ 60 MW จะขายให้ กฟผ.ได้เต็มประสิทธิภาพ จะทำให้ประหยัดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า