ค่าไฟแพง-ค่าแรงจ่อขึ้น โรงงานอาหารแช่แข็งสะเทือน

อาหารแช่แข็ง

ประเด็นร้อนแรงที่สุดในตอนนี้สำหรับผู้ผลิตอาหารแช่แข็ง คงหนีไม่พ้นภาระต้นทุนที่พุ่งขึ้น ทั้งราคาน้ำมันที่ปรับสูงจนกระทบต้นทุนการผลิตและการขนส่ง ตามติดมาด้วยปัญหาค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกระทบต้นทุนอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟแช่แข็ง และไม่เพียงเท่านั้น หากรัฐบาลชุดใหม่เดินหน้าปรับขึ้นค่าแรง 450 บาท/วัน ทันทีภายใน 100 วันแรก ก็จะยิ่งซ้ำเติมต่อต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมนี้

ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้น ทำให้แข่งขันลำบาก โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามที่ผลิตสินค้าในลักษณะใกล้เคียงกัน ในปีที่ผ่านมา “ธุรกิจอาหารแช่แข็ง” ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้จากการส่งออกได้ถึง 1.1 แสนล้านบาท

GSI ติดโซลาร์แก้ไฟแพง

นายพงศ์ เลิศชูสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัทโกลเด้น ซีฟู้ด อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (GSI) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาค่าไฟแพงส่งผลกระทบกับต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร เพราะอุตสาหกรรมนี้มีการใช้พลังงานไฟฟ้าในกระบวนการผลิตค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็ง เนื่องจากการแช่แข็งอาหารต้องใช้อุณหภูมิติดลบ 18 องศาเซลเซียล ต้องใช้ไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรักษาคุณภาพของสินค้า

ในส่วนของการแก้ปัญหาเรื่องค่าไฟ ทางบริษัทก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ดำเนินการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงานเป็นบางส่วนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ หลังการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าให้ธุรกิจ 8% ของราคาค่าไฟทั้งหมดที่ใช้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้พลังงานของแต่ละโรงงานด้วยเช่นกัน

“แม้โซลาร์เซลล์จะมาช่วยลดราคาค่าไฟบางส่วนได้ แต่อีกด้านราคาขายของสินค้าโภคภัณฑ์กลับตกต่ำลง เพราะราคาต้นทุนการผลิตอื่น ๆ เช่น ค่าวัตถุดิบอย่างถั่วเหลืองที่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น”

PFP ใช้พลังงานสะอาด 100%

ขณะที่ นางสาวปิยกาญจน์ ปิยะพัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายตลาดต่างประเทศ บริษัท แปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ จำกัด และบริษัท พี.เอฟ.พี.เทรดดิ้ง จำกัด (PFP) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทเตรียมมาตรการรับมือปัญหาค่าไฟไว้ล่วงหน้ามาหลายปี โดยการติดตั้งโซลาร์เซลล์และวางแผนในอนาคตที่จะใช้พลังงานสะอาด 100% ในกระบวนการผลิต ทำให้บริษัทไม่ได้รับผลกระทบของค่าไฟที่เพิ่มขึ้น

“ปัจจุบันบริษัทมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณคาร์บอนลง โดยเริ่มจากการลดคาร์บอนฟุตพรินต์กับบางผลิตภัณฑ์ เช่น เต้าหู้ปลา ปูอัด ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมของทางบริษัท เพื่อเตรียมตัวกับมาตรการนำเข้าสินค้าของต่างประเทศเรื่องคาร์บอนเครดิตในอนาคต”

นอกจากนี้ ทางบริษัทเตรียมที่จะขยายตลาดส่งออกไปสู่ตลาดอินเดียและตะวันออกกลาง เพราะอินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรอันดับ 1 ของโลก ทำให้มีปริมาณการบริโภคที่สูง ส่วนตะวันออกกลาง ด้วยความที่ผลิตภัณฑ์อาหารส่วนใหญ่ของบริษัทมีตราฮาลาล ประกอบกับรัฐบาลไทยผลักดันสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดตะวันออกกลางผ่าน Lulu Hypermarket ซึ่งเป็นร้านค้าขายปลีกที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง ทำให้ตลาดตะวันออกกลางก็เป็นอีกตลาดที่น่าเข้าไปลงทุนเช่นเดียวกัน

ตั้งรับระเบิดเวลา “ค่าแรง”

ขณะที่เรื่องการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ จากเดิมอยู่ประมาณ 328-353 บาท มาเป็น 450 บาท ตามนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ นายพงศ์ให้ความเห็นว่า การขึ้นค่าแรงก้าวกระโดดไปสู่ 450 บาทอาจจะเป็นการกระชากมากเกินไป

โดยมองว่าการขึ้นค่าแรงควรขึ้นไม่เกิน 400 บาทในช่วงแรก เพื่อให้เวลาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs สามารถปรับตัวได้ทัน นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงว่าการขึ้นค่าแรงอาจมีผลกระทบต่อการแข่งขันราคาในตลาดโลก เพราะบริษัทเน้นการส่งออกไปขายที่ต่างประเทศเป็นหลัก

ส่วนนางสาวปิยกาญจน์กล่าวว่าเห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงดังกล่าว เพราะมองว่าเป็นเรื่องของการปรับตัวทั้งภาคธุรกิจที่อาจนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย และการปรับตัวของแรงงานที่ต้องมีการอัพสกิลและรีสกิล แต่อย่างไรก็ตาม การขึ้นค่าแรงควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้กระทบต่อธุรกิจ SMEs

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ยังต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ว่ารัฐบาลใหม่เข้ามาสานต่อนโยบายค่าแรงงานตามที่ได้หาเสียงไว้ จะมีมาตรการเยียวยาผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างไร เพราะแน่นอนว่าค่าแรงจะกลายเป็นระเบิดเวลาที่กำลังนับถอยหลังอีกลูก ที่จะซ้ำเติมเอกชนที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูหลังจากโควิด และการส่งออกยังอยู่ในภาวะลูกผีลูกคน เพราะต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจโลกซบเซา ตลาดส่งออกหลักชะลอการสั่งซื้อเพื่อระบายสต๊อก

หากรัฐบาลไม่มีทางออกที่ชัดเจนอาจจะฟาดหางกลับมาที่ภาคอุตสาหกรรมและการจ้างแรงงานของไทยได้