“กล่องสุ่มทุเรียน” สุดปังในจีน ดันยอดนำเข้าเมษา 66 ทุบสถิติ 2 เท่า ทุเรียนไทยครองแชมป์ 

ทุเรียน

สมาคมการตลาดผลไม้จีน (China Fruit Marketing Association) รายงานว่า ความนิยมทุเรียนในจีนปีนี้เพิ่มสูงขึ้นมากจากการทำตลาดกล่องสุ่ม ส่งผลให้ยอดนำเข้าทุเรียนของจีนเฉพาะในเดือนเมษายนนี้สูงมาก 

ตามสถิติของกรมศุลกากรจีน มีปริมาณนำเข้าถึง 221,000 ตัน มูลค่า 7,510 ล้านหยวน หรือประมาณ 37,000-38,000 ล้านบาท โดยทั้งปริมาณการนำเข้าและมูลค่าการนำเข้าพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์เกือบ 2 เท่าภายในหนึ่งเดือน และได้ทำลายสถิติมูลค่าการนำเข้าสูงสุดก่อนหน้านี้ 

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าจากกระแสการบริโภคในจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ทั้งปีนี้จีนจะมีการนำเข้าทุเรียนเกิน 1 ล้านตัน


ราคาทุเรียนไทยเทียบคู่แข่ง

ด้านราคาต่อหน่วยทุเรียนนำเข้าของจีนในปีนี้ เฉลี่ยที่ 34.0 หยวน/กก. ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบย้อนไปในเดือนเมษายนปี 2560-2562 อยู่ในช่วงที่ 16.3-20.6 หยวน/กก. ก่อนจะปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2563-2565 ที่ 29.2-36.4 หยวน/กก. 

สำหรับแหล่งนำเข้าทุเรียนของจีนในเดือนเมษายนนั้น นำเข้าจากทั้งไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ แยกเป็น

  • นำเข้าจากไทย 206,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 7,040 ล้านหยวน 
  • นำเข้าจากเวียดนาม 14,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 470 ล้านหยวน 
  • นำเข้าจากฟิลิปปินส์ มีปริมาณอยู่ที่ 251 ตัน คิดเป็นมูลค่า 6.94 ล้านหยวน 

ซึ่งพิจารณาจากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ไทยยังคงครองตำแหน่งการส่งออกทุเรียนไปยังจีนมากที่สุด และในส่วนของราคาทุเรียนนำเข้าต่อหน่วยจาก 3 ประเทศนั้น ทุเรียนฟิลิปปินส์มีราคาต่ำที่สุดที่ 27.6 หยวน/กก. ส่วนทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนามอยู่ที่ 34.1 หยวน/กก. และ 33.5 หยวน/กก. ตามลำดับ

การนำเข้าทุเรียนของจีนที่ท่าเรือจ้านเจียง

ทุเรียน สุดยอดผลไม้ยอดนิยมในจีน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทุเรียนเป็นผลิตภัณฑ์อันดับต้น ๆ ของผลไม้ที่มีการบริโภคมากที่สุดในจีน  ทำให้มีการนำเข้าทุเรียนเติบโตอย่างรวดเร็ว 

เป็นที่น่าสังเกตว่าในปีนี้จีนมีเทรนด์การทำการตลาดรูปแบบใหม่ คือ “กล่องสุ่มทุเรียน” ซึ่งกำลังมาแรงในโซเชียลมีเดียของจีน โดยบางแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและวิดีโอสั้นมีการเผยแพร่ ในหัวข้อ “การเปิดกล่องสุ่มทุเรียน” มีผู้ใช้จำนวนมากอัพโหลดประสบการณ์การเปิดกล่องสุ่มทุเรียนไปยังแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลังจากซื้อทุเรียนซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคและผู้ชมในแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Tiktok เสี่ยวหงชู เป็นต้น จนขึ้นอันดับเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจมากที่สุด 

ขณะเดียวกันแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอาหารสดนิยม ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ก็พบว่า มียอดขายทุเรียนบนแพลตฟอร์มเหม่ยถวน (Meituan) เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน โดยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว อัตราการเติบโตโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 711% ยอดขายในเซี่ยงไฮ้และหวู่ฮั่นเพิ่มขึ้นมากกว่า 40 และ 20 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว 

โดยผู้รับผิดชอบการจัดซื้อผลไม้ของแพลตฟอร์มเหม่ยถวน (Meituan) กล่าวว่า “ผู้ใช้หลายคนจะรีวิวคำสั่งซื้อทันทีหลังจากได้รับทุเรียน และแบ่งปันความสนุกสนานของการเปิดกล่องสุ่มทุเรียนให้กับผู้บริโภคคนอื่น ๆ ดู ทำให้ส่งเสริมให้กระตุ้นยอดขายทุเรียนของจีนให้เพิ่มขึ้นจำนวนมาก”

ทุเรียน

 

ราคาทุเรียนเวียดนามตีตื้นไทย  

สำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ณ นครกว่างโจว ระบุว่า ที่ผ่านมา ทุเรียนเวียดนามมีราคาถูกกว่าทุเรียนไทยมาก แต่ปัจจุบันราคาทุเรียนเวียดนามราคาปรับขึ้นมาเท่ากับทุเรียนไทยได้แล้ว 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการของไทยและหน่วยงานภาครัฐจะต้องติดตามต่อไป รวมถึงจะต้องร่วมมือกันในการเดินหน้านโยบายการควบคุมคุณภาพของทุเรียนให้ได้มาตรฐาน ตามที่รัฐบาลจีนและผู้นำเข้าในตลาดกำหนด เพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับคู่แข่งที่แข็งแกร่งในตลาดจีน อย่างเช่น เวียดนามและฟิลิปปินส์ รวมถึงรักษาความไว้วางใจของผู้บริโภคจีนที่มีต่อทุเรียนไทย 

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์และเทรนด์การบริโภคทุเรียน รวมถึงผลไม้อื่น ๆ ในตลาดจีน เพื่อที่จะสามารถปรับกลยุทธ์การค้าให้สอดคล้องกับตลาดจีนได้ต่อไป

 

5 เดือน จีนนำเข้าจากไทยทะลุ 4 แสนตัน

สำหรับสถิติการส่งออกทุเรียนไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 ไทยส่งออกทุเรียนสดไปจีนแล้วรวม 480,000 ตัน มูลค่าเกือบ 1,304 ล้านหยวน หรือประมาณ 63,000 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2560 โดยปริมาณการนำเข้าของจีนในเดือนเมษายนปีนี้เกินการคาดการณ์เกือบ 100,000 ตัน ซึ่งมากกว่าการนำเข้าระดับสูงสุดช่วงก่อนเกิดการโรคระบาดโรคโควิ-19 ในปี 2562 

ส่วนในด้านมูลค่า การนำเข้าทุเรียนของเดือนเมษายนได้เพิ่มขึ้นจากระดับสูงสุดในปี 2563 กว่าสองเท่า โดยปริมาณการนำเข้ารายเดือนในเดือนเมษายนปีนี้ใกล้เคียงกับปริมาณนำเข้า ทั้งปี 2560 และมูลค่าการนำเข้าสูงเป็นสองเท่าของทั้งปี 2560