ฟื้นเหมืองแร่โปแตชอาเซียน รัฐยอมยืดหนี้จ่ายคืนเป็นปุ๋ย

เหมืองแร่โปแตช

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ร่างสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เงินผลประโยชน์พิเศษ 6,000 ล้านบาท หวังให้ โครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียน เดินหน้าต่อไปได้ หลัง TRC ยื่นข้อเสนอขอยืดระยะเวลาการชำระหนี้ เพื่อนำเงินที่จะต้องชำระหนี้ไปเป็นเงินลงทุนในโครงการก่อน ด้านวงการเหมืองวิจารณ์กันแซดหลังเปิดไส้ในจ่ายหนี้คืนเป็นผลผลิตแร่-ปุ๋ยโพแทช

โครงการทำเหมืองแร่โปแตชของอาเซียนที่ จังหวัดชัยภูมิ กำลังฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ บริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRC ได้ดำเนินความพยายามทุกช่องทางที่จะให้มีการเปิดทำเหมืองแห่งนี้ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหาผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ การแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่อง การเรียกชำระค่าหุ้นเพิ่มทุน ไปจนกระทั่งการเปิดการเจรจากับ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ในส่วนของหนี้สินระยะยาวที่เรียกว่า ผลประโยชน์พิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐเพื่อตอบแทนการออกประทานบัตรที่ค้างชำระมาเกือบ 6,000 ล้านบาท

โครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จังหวัดชัยภูมิ เป็นโครงการอุตสาหกรรมอาเซียนของประเทศไทยในปี 2532 หรือ 34 ปีมาแล้ว ภายใต้ข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (Basic Agreement on ASEAN Industrial Projects) โดยเจ้าของโครงการจะต้องลงทุนร้อยละ 60 ของเงินลงทุนทั้งหมด (Total Equity) และรัฐบาลเจ้าของโครงการจะต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของเงินลงทุนนั้น

ที่ผ่านมาโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียนอยู่ในความดูแลของ กระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านการทำผลการศึกษามาไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งและลงทุนเครื่องจักรคิดเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท จนโครงการได้รับ “ประทานบัตร” ทำเหมืองใต้ดินที่ประทานบัตร 31708/16118 ชนิดแร่โปแตชและเกลือหินที่ ต.บ้านเพชร ต.หัวทะเล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ประทานบัตรมีอายุ 25 ปี หรือตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 จนถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2583 หรือเท่ากับยังเหลืออายุประทานบัตรอีก 17 ปีเท่านั้น

ที่ผ่านมาได้มีการ “ทดลอง” การทำเหมืองใต้ดินด้วยวิธีขุดเจาะมีเสาค้ำยันปรากฏ โครงการต้องประสบกับปัญหาขาดสภาพคล่อง จนในที่สุดเหมืองแร่โปแตชอาเซียนที่ จ.ชัยภูมิ ต้องหยุดดำเนินการลง เนื่องจากบริษัทขาดสภาพคล่องอย่างหนัก

ร่างสัญญาปรับโครงสร้างหนี้

นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ กระทรวงการคลัง เพิ่มทุนส่วนแรกจำนวน 90 ล้านบาท ให้กับ บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) เพื่อเดินหน้าโครงการเหมืองแร่โปแตชนั้น ทางบริษัทก็จะเริ่มทำการศึกษาโครงการเหมืองแร่โปแตชอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เหมืองได้หยุดดำเนินการมาหลายปี เนื่องจากไม่สามารถหาทุนเพิ่มได้ และที่ผ่านมาโครงการนี้ก็ยังคงเป็นโครงการทดลองทำเหมืองเท่านั้น

แต่การระดมทุนเพื่อกลับมาฟื้นโครงการทำเหมืองแร่โปแตชอาเซียนครั้งนี้ จะเป็นการเริ่มทำเหมืองจริง มูลค่าโครงการกว่าแสนล้านบาท (เคยมีการประมาณการเงินลงทุนระหว่างการก่อสร้างอยู่ที่ 63,800 ล้านบาท IRR ที่ร้อยละ 15.42 NPV ที่ 11,888 ล้านบาท ภายใต้สมมุติฐานราคาแม่ปุ๋ยโพแทสเซียมอยู่ที่ 612 เหรียญ/ตัน) โดยทางบริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRC ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จะต้องระดมทุนจากผู้ถือหุ้นอีกประมาณ 18,000 ล้านบาท และในส่วนของเงินกู้อีกประมาณ 40,000 ล้านบาท รวมประมาณ 60,000 ล้านบาท เพื่อเดินหน้าลงทุนโครงการให้เกิดขึ้นจริงให้ได้

ทั้งนี้ ก่อนดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตชที่ จ.ชัยภูมิ ทาง TRC ได้เข้าหารือกับ กพร. หลายครั้ง เพื่อขอเจรจาการ “ไกล่เกลี่ย” เรื่องเงินผลประโยชน์พิเศษ ที่ค้างชำระอยู่จำนวน 8 งวด หรือประมาณ 6,000 ล้านบาท ประกอบด้วย หนี้เงินผลประโยชน์พิเศษที่ค้างชำระ + ค่าปรับผิดนัด 4 งวด ประมาณ 4,000 ล้านบาท และเงินผลประโยชน์พิเศษที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ 2 งวด อีกประมาณ 2,000 ล้านบาท

โดย TRC จะขอยืดระยะเวลาการชำระหนี้เงินผลประโยชน์พิเศษออกไปก่อน เพื่อนำเงินส่วนที่เป็นหนี้ต้องใช้คืนประมาณ 6,000 ล้านบาทนี้ ไปลงทุนเดินหน้าก่อสร้างโรงแต่งแร่ ถลุงแร่ และส่วนอื่น ๆ ในโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี หรือปี 2569 จากนั้นโครงการก็จะเมื่อเริ่มผลิตปุ๋ยได้จึงจะทำการชำระหนี้กับทางภาครัฐที่มีจนครบ โดย กพร.อยู่ระหว่างการร่างสัญญาปรับโครงสร้างหนี้และบันทึกข้อตกลง รายละเอียดต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมลงนาม เพียงแค่เสนอและขอความเห็นชอบจากทางกระทรวงการคลังในฐานะเจ้าของหนี้เท่านั้น

“เรารอดำเนินการอยู่เพราะมีการเจรจากับ TRC กันหลายครั้ง เพื่อขอต่อรองการผ่อนชำระหนี้ ส่วนการแปลงหนี้ด้วยการจ่ายด้วยปุ๋ยโพแทชนั้น “จะคุ้มหรือไม่” ซึ่งเรื่องนี้เราได้นำเรื่องเข้า ครม.ไปแล้ว และด้วยเป็นบริษัทที่รัฐบาลถือหุ้น แนวทางดังกล่าวจึงสามารถกระทำได้ก็ถือว่าคุ้ม เพราะโครงการสามารถเดินต่อไปได้ เกิดการจ้างงาน ซึ่งคนในพื้นที่ก็รอเหมืองโปแตชเปิดเช่นกัน ผมว่าครั้งนี้จะเป็นการทำเหมืองโปแตชของจริงเป็นครั้งแรก

ดังนั้นการที่เขาขอยืดหนี้ไปก่อนจากเดิมหนี้ที่มีต้องจ่ายเลย แต่เราให้โอกาสเขาเอาเงินส่วนนี้ไปลงทุนก่อนเพื่อให้โครงการมันเกิด เพราะหากให้เขาใช้หนี้เงินผลประโยชน์พิเศษให้เราเลย เงินลงทุนก็จะหมด โครงการโปแตชอาเซียนที่ชัยภูมิก็คงไม่เกิดอีก” นายนิรันดร์กล่าว

ส่วนเรื่องใบอนุญาตต่าง ๆ ของเหมืองโปแตชอาเซียน ตอนนี้ไม่มีอะไรติดขัด เพราะบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ ได้รับประทานบัตรไปแล้ว เรื่องการเตรียมการทำเหมือง บริษัทก็สามารถดำเนินการได้ตาม มาตรา 59 ของ พ.ร.บ.แร่ 2560 เมื่อไกล่เกลี่ยทำบันทึกข้อตกลงเสร็จก็สามารถผลิตได้เลย แต่กว่าจะเจาะอุโมงค์ลงไป กว่าจะปรับปรุงพื้นที่และกว่าจะสร้างโรงแต่งแร่เสร็จ คาดว่าอย่างน้อยต้องใช้เวลากว่า 3 ปี

แบ่งชำระหนี้ด้วยปุ๋ยโพแทช

มีรายงานข่าวเข้ามาว่า โครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียน มีภาระต้องชำระเงินผลประโยชน์พิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐเพื่อตอบแทนการออกประทานบัตรจำนวนทั้งหมด 8 งวด โดยขณะนี้โครงการเป็นหนี้ค้างชำระและเงินค่าปรับผิดนัดชำระตั้งแต่งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 6 เป็นเงินประมาณ 5,848 ล้านบาท และเงินค่าปรับผิดนัดชำระหนี้อีกจำนวนหนึ่ง แต่เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้จึงให้รวมหนี้สินที่เกิดขึ้นเป็นก้อนเดียวกัน ภายใต้หลักการการชำระหนี้ภายหลังต่อเมื่อโครงการได้ดำเนินการขุดแร่โปแตชจนมี “ผลผลิตแร่” แล้วก็ให้ชำระหนี้สินด้วยผลผลิตแร่โปแตชของโครงการ

โดยมูลค่าผลผลิตแร่โปแตชที่นำมาหักหนี้สิน ให้คิดในอัตราร้อยละ 90 ของราคาประกาศแร่โปแตชของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ณ วันที่ต้องชำระ โดยโครงการต้องส่งมอบผลผลิตแร่โปแตชเพื่อการชำระหนี้แก่ภาครัฐไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของผลผลิตแร่โปแตชของโครงการจนกว่าจะหมดหนี้สิน แต่ต้องมีจำนวนผลผลิตแร่ไม่ต่ำกว่าปีละ 50,000 ตัน และภายในระยะเวลาไม่เกิน 8 ปี นับจากที่มีผลผลิตแร่โปแตชออกมา

กรณีที่ภาครัฐต้องการซื้อผลผลิตแร่โปแตชเพิ่มเติม โครงการต้องจำหน่ายผลผลิตให้ในราคาร้อยละ 93 ของราคาประกาศแร่ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯและโครงการต้องจำหน่ายผลผลิตแร่โปแตชของโครงการให้กับรัฐบาลก่อน

โดยการประเมินการชำระหนี้ของโครงการด้วยผลผลิตแร่โปแตชตามกำลังการผลิตแร่และการปรับโครงสร้างหนี้และเงินค่าปรับ เคยมีการประเมินราคาเฉลี่ยปุ๋ยโพแทชกันไว้ที่ประมาณ 15,000 บาท/ตัน

แร่โปแตชยังอยู่ใต้ดิน

ด้านแหล่งข่าวในวงการเหมืองแร่มีข้อสังเกตถึงสัญญาการปรับโครงสร้างหนี้เงินผลประโยชน์พิเศษที่โครงการผิดนัดชำระหนี้มาถึง 6 งวด คิดเป็นเงินไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาทว่า ค่อนข้างน่าแปลกใจ เนื่องจากจะชำระหนี้เป็น “ผลผลิตแร่” ที่ประเมินราคาเฉลี่ยเป็นปุ๋ยโพแทช โดยบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ ขอ “ยืดระยะเวลาชำระหนี้” ไปจนกว่าเหมืองจะขุดแร่โปแตชขึ้นมาได้ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ เหตุเพราะว่า บริษัทต้องระดมทุน หาผู้ร่วมลงทุนใหม่ และจะต้องดำเนินการหาเงินทุนด้วยการขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะปล่อยกู้ให้หรือไม่

เท่ากับ “ผลผลิตแร่” ของโครงการยังอยู่ใน “อากาศ” ไม่มีใครรู้ว่า บริษัทจะสามารถกลับมาดำเนินการทำเหมืองได้จริงหรือไม่ ที่แม้กระทรวงการคลังจะเพิ่มทุนส่วนแรกไปให้อีก 90 ล้านบาท เพื่อสงวนสิทธิในการเพิ่มทุนและเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลในฐานะเจ้าของโครงการไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 20 ก็ตาม แต่เงินส่วนนี้ก็จะถูกนำมาใช้ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการกลับมาทำเหมืองโปแตชอาเซียนในปัจจุบัน ดังนั้นจึงค่อนข้างน่าเป็นห่วงที่ภาครัฐจะทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ให้กับโครงการโดยที่ไม่มีหลักประกันใด ๆ อีก

ส่วนการดำเนินการของบริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRC ในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียน ปรากฏบริษัทได้เพิ่มทุน 450.93 ล้านบาท จากนักลงทุนรายใหม่ในสัดส่วน 25% โดย TRC ในฐานะผู้ถือหุ้นในบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ 25.13% จะเป็นผู้รับงานก่อสร้างโครงการทั้งหมดภายใน 3 ปี ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปแล้วเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2566