ภาคธุรกิจคิดอย่างไร กับการที่ “เพื่อไทย” เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล

ภาคธุรกิจคิดอย่างไร กับการที่ “เพื่อไทย” เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล

หลังจากพรรคก้าวไกล “ยอมรับ” ไม่สามารถเป็นการแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ และเปิดทางให้ พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแทน 

“ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจความเห็นภาคธุรกิจว่ามีความคิดเห็น มีความคาดหวัง หรือมีข้อเสนอแนะอย่างไรต่อการที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 

 

ถ้าเพื่อไทยเป็นแกนตั้งรัฐบาล

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ครั้งถัดไปในวันที่ 27 ก.ค.นี้ ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนว่าจะเป็นในลักษณะใด แต่สิ่งที่เป็นภาพชัดเจนแล้วขณะนี้ก็คือ การเสนอชื่อโหวตนายกรัฐมนตรีสามารถทำได้เพียงครั้งเดียว และไม่สามารถจะใช้ญัตติเดิมในการเสนอชื่อคนเดิมได้ ซึ่งหมายความว่า หมดสิทธิที่จะเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกลซ้ำแล้ว

หลังจากนี้คงเป็นไปตามแนวทางที่พรรคก้าวไกลเสนอให้พรรคอันดับ 2 ซึ่งคือ พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยสามารถวิเคราะห์ได้ 2 กรณีที่อาจจะเกิดขึ้น คือ 

1) กรณี ส.ว.ยืนยันไม่โหวตหากมีพรรคก้าวไกลเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ทั้ง 8 พรรคร่วมเดิมยังจับมือเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล โดยเสนอแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยขึ้นมาแทน ก็จะต้องมาพิจารณาว่า สมาชิกรัฐสภาจะให้การสนับสนุนถึง 375 เสียงได้หรือไม่

2) กรณีทั้ง 8 พรรคร่วมสลายขั้ว เพื่อเปิดโอกาสให้ พรรคเพื่อไทย เป็นอิสระในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคใดก็ได้ ซึ่งจะมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยเสนอชื่อ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หรือ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี “แต่อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขนี้ต้องเป็นไปตามความตกลงของ 8 พรรคร่วมอีกทีหนึ่ง”

นายสนั่นแสดงความเห็นอีกว่า หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จก็จะได้คนที่มีประสบการณ์เข้ามาขับเคลื่อนงานด้านเศรษฐกิจ ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็มีคณะทำงานในด้านนี้อยู่แล้ว และเคยได้พิสูจน์ให้เห็นในครั้งที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องรอดูพัฒนาการต่อไปจนกว่าจะถึงวันโหวตว่า จะมีทิศทางจะเป็นอย่างไร หากในวันที่ 27 ก.ค.นี้ไม่ผ่าน ครั้งต่อไปน่าจะเป็นต้นเดือนสิงหาคม

“ดังนั้นการคัดสรรชื่อต้องเป็นที่ยอมรับในทางรัฐสภา”

 

ส.อ.ท.ชี้ 4 โจทย์รอรัฐบาลใหม่

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากพรรคเพื่อไทยพลิกกลับมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลก็จะเดินตามนโยบายช่วงที่หาเสียงไว้ โดยจะเน้นไปที่รากหญ้าและ SMEs เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่อาจจะ “ยกเว้น” ไม่ดำเนินโครงการที่ใช้จ่ายเงินเยอะ อย่างเช่น Digital Wallet แต่น่าจะไม่ดำเนินการเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างใด ๆ มากนัก และพรรคเพื่อไทยไม่มีนโยบายสุดโต่งเหมือนพรรคก้าวไกล

“ส่วนตัวเห็นว่า คุณเศรษฐาดีที่สุดใน 3 ทางเลือก สำหรับด้านเศรษฐกิจ ซึ่งการที่ปรับเปลี่ยนมาเป็นเพื่อไทย จะเห็นว่าจุดแข็งที่สำคัญของพรรคเพื่อไทย คือ เข้าใจกลไกเศรษฐกิจ มีประสบการณ์ทำงาน มีทีมเศรษฐกิจแน่น และทำการบ้านมาดี”

“การดำเนินนโยบายน่าจะเน้นไปที่โครงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจรากหญ้าและ SMEs หากทำได้สำเร็จจะส่งผลดีต่อคะแนนนิยมในการเลือกตั้งครั้งต่อไป มีการประนีประนอมกับทุนผูกขาดและอำนาจนิยม แต่หากมีก้าวไกลร่วมด้วยจะเสริมเรื่องนโยบายด้านสังคม เช่น ในเรื่องการปฏิรูปการศึกษา การแก้ปัญหาสังคม” นายอิศเรศกล่าว

ด้าน concerned point ของเอกชน ส.อ.ท.เห็นว่า 1) ผู้นำรัฐบาลและทีมงานบริหาร ควรมีความสามารถเข้าใจงานเป็นอย่างดีไม่ต้องมาศึกษาเริ่มใหม่ 2) ทำงานกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดในการแก้ปัญหาสำคัญเศรษฐกิจ 4 เรื่อง คือ เรื่องการส่งออกหดตัว, ส่งเสริมการท่องเที่ยว, เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเร่งแก้ปัญหาค่าครองชีพของประชาชน

3) เข้าใจภาพเศรษฐกิจระดับมหภาค เพื่อวางแผนในระยะกลาง ระยะยาว เช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change การเลือกจุดยืนที่เหมาะสมของประเทศใน geopolitics ปัญหาภัยแล้ง และ supply chain security) และ 4) ต้องวางตัวบุคคลไม่โกงกิน มีความซื่อสัตย์สุจริต เน้นประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศเป็นที่ตั้ง

“ส่วนนโยบายการเพิ่มค่าแรง 600 บาท ของพรรคเพื่อไทยนั้น เท่าที่ทราบพรรคจะดำเนินการภายใน 4 ปี โดยมีเงื่อนไขว่า จะมองถึงปัจจัยต่าง ๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะเศรษฐกิจ GDP growth รวมทั้งความสามารถของนายจ้าง ซึ่งรัฐบาลใหม่ควรเร่งแก้ปัญหาค่าครองชีพของประชาชนและแรงงานควบคู่กันไป” นายอิศเรศกล่าว

 

ถ้า “เศรษฐา” เป็นนายกฯ

นายชาติชาย พานิชชีวะ ประธานกรรมการ บมจ.ชีวาทัย (CHEWA) และกรรมการ บมจ.เออร์โก้ ประกันภัย (ERGO) กล่าวว่า มองสถานการณ์การเปลี่ยนสูตรการจัดตั้งรัฐบาล หากเป็น “สูตรพรรคเพื่อไทย” ที่จะเสนอชื่อนายกฯ คือ นายเศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจหวังว่าจะช่วยทำให้รัฐบาลมีความเข้าใจในเรื่องของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้เร็ว เพราะช่วงที่ผ่านมาเป็นรัฐบาลที่มีผู้นำไม่ใช่นักธุรกิจ ต้องอาศัยแต่ละกระทรวงขับเคลื่อน ซึ่งเสียเวลากว่าจะวางแผนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเสนอต่อนายกฯ 

ฉะนั้น เมื่อได้นายกฯที่เป็นนักธุรกิจ เชื่อว่าขั้นตอนหลาย ๆ อย่างจะรวดเร็วมากขึ้น และทำให้การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น แต่สำคัญคือ ในการโหวตนายกฯในวันที่ 27 ก.ค.นี้ จะเป็นการเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน หรือไม่ เพราะยังไม่ทราบว่า พรรคร่วมรัฐบาลเองในฝั่งพรรคก้าวไกลจะวางตัวอย่างไร 

“อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทุกอย่างหยุดหมด โดยเฉพาะต่างชาติ ซึ่งกำลังเป็นห่วงเรื่องการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้น ภายในเดือนสิงหาคมเป็นอย่างช้า ต้องจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ แม้ว่าจะเป็นขั้วไหนก็ตาม เพราะต่างชาติไม่รู้จักพวกเรา แต่เขาจะมองว่าเป็นรัฐบาลถาวร ไม่ใช่รัฐบาลชั่วคราว เท่านั้นเองที่ต่างชาติกำลังกังวล ส่วนในรายละเอียดการทำงานค่อยมาว่ากันต่อ” นายชาติชายกล่าว 

 

ข้อเสนอ SMEs ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ขณะที่ นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย (สมาพันธ์ SME) กล่าวว่า การที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้รับคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่และหมดโอกาสจะได้รับการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีไทย มีผลต่อนโยบายที่เคยหารือไว้ และจะมีผลต่อการขับเคลื่อนนโยบาย SMEs ที่พรรคก้าวไกลได้วางแนวทางไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และตอบสนองความต้องการของ SMEs ทั้งช่วยให้เกิดการกระจายโอกาส กระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม 

นายแสงชัยกล่าวอีกว่า แม้บทบาทพรรคก้าวไกลจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็มีความคาดหวังจาก SMEs และประชาชนว่า พรรคก้าวไกลจะนำนโยบายหรือให้ข้อเสนอแนะที่ดีอย่างสร้างสรรค์ไปใช้ประโยชน์ได้ในสภาผู้แทนราษฎร

“นอกจากพรรคก้าวไกลแล้ว ก็ยังมีพรรคเพื่อไทยที่มีนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากที่ชัดเจน เช่นเดียวกันกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่แม้จะมีจำนวน ส.ส.ไม่มากเท่า แต่การขับเคลื่อนนโยบาย-มาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจก็มีอยู่ในนโยบายของแต่ละพรรค ความคาดหวังของผู้ประกอบการและประชาชน สิ่งที่สำคัญก็คือ การรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่สร้างสรรค์ สงบ สันติ ไม่สร้างความขัดแย้งให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประเทศ”

ส่วนสิ่งที่ SMEs ต้องปรับตัวในช่วงสุญญากาศทางการเมืองก็คือ การวางแผนธุรกิจรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบ และบริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจของตน โดยมีข้อเสนอต่อการขับเคลื่อนประเทศและเศรษฐกิจไปได้ ได้แก่

1) ค่าแรง ยังต้องมุ่งเน้น “จ่ายตามทักษะ” ซึ่งภาครัฐมีแผนการพัฒนาทักษะ สมรรถนะ ขีดความสามารถอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องอยู่ แต่ปรับปรุงให้สอดรับการกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีตามที่ผู้ประกอบการต้องการและสร้างการมีส่วนร่วม อีกทั้งมาตรการจูงใจแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบ เพื่อได้รับการพัฒนาและค่าแรงงานที่เป็นธรรมตามทักษะฝีมือ

2) ต้นทุนผู้ประกอบการ SMEs ทั้งวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต พลังงานไฟฟ้า น้ำมัน รวมถึงการขยับอัตราดอกเบี้ยที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า ผลประกอบการ ขีดความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งคาดหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะร่วมมือกันกับภาคเอกชนลดภาระดังกล่าวข้างต้นให้ผู้ประกอบการอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม

3) ตลาดและนวัตกรรมนำการผลิต ที่ต้องบูรณาการระบบการส่งไม้ต่อของหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่เป็นกลไกการขับเคลื่อน สร้าง บ่มเพาะผู้ประกอบการ SMEs ให้มีความสร้างสรรค์ มีฐานนวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจ สามารถส่งต่อไปยังหน่วยส่งเสริมสนับสนุนด้านการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ เพื่อนำรายได้เข้าประเทศ การออกแบบกลไกการตลาดเชื่อมผู้ประกอบการให้เข้าถึงสะดวก ง่ายขึ้น เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ