หนี้ครัวเรือนไทยปี 2566 เฉลี่ยกว่า 5.5 แสนบาท พุ่งสูงในรอบ 15 ปี

หนี้ครัวเรือนไทยปี 2566

ม.หอการค้าไทย เผยหนี้ครัวเรือนไทยปี 2566 เฉลี่ยกว่า 5.5 แสนบาท พุ่งสูงในรอบ 15 ปี ตั้งแต่ 2552 คาดพีคสุดในปี 2567 เหตุค่าครองชีพสูง รายได้ไม่พอ หนี้ในระบบถึง 80%

วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2566 ทั่วประเทศจำนวน 1,300 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 17-21 กรกฎาคม 2566 พบว่า ภาระหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น มากที่สุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ที่มีการสำรวจความคิดเห็นในปี 2552

นายธนวรรธน์ พลวิชัย

โดยมีหนี้สินรวมอยู่ที่ 559,408.70 บาทต่อครัวเรือน  เพิ่มขึ้น 11.5% จากปี 2565 ที่มีหนี้รวม 501,711.84 บาทต่อครัวเรือน แยกเป็นหนี้ในระบบ 80.2% และหนี้นอกระบบ 19.8% โดยมีภาระการผ่อนชำระ 16,742 บาทต่อเดือน เป็นหนี้ในระบบ 12,012.70 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 80.2% หนี้นอกระบบ 4,715.50 บาทต่อเดือน หรือ 19.8%

สาเหตุของการเป็นหนี้ที่เพิ่มขึ้น 5 อันดับแรก ตอบว่า 1.ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น 2.ซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น 3.รายได้ไม่พอกับรายจ่าย 4.ลงทุนในธุรกิจเพิ่มขึ้น 5.ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมาก

ทั้งนี้ พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 75.6% ยอมรับว่าเคยผิดนัดชำระหนี้ หรือขาดการผ่อนชำระหนี้ เนื่องจากปัญหารายได้ลดลง เศรษฐกิจไม่ดีตกงาน

ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 24.4% ตอบว่าไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ และเมื่อถามว่าในอนาคต 6 เดือน-1 ปีข้างหน้า มีโอกาสจะประสบปัญหาการผ่อนชำระหนี้หรือไม่ พบว่า กลุ่มตัวอย่างเพียง 16% ที่ตอบว่า มีโอกาสมากที่จะผิดนัดชำระหนี้ โดยให้เหตุผลว่ารายได้ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น, ดอกเบี้ยสูงจนไม่สามารถผ่อนชำระได้ เศรษฐกิจไม่ดี มีภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเพิ่มขึ้น และรายได้ลดลง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 46.3% ตอบว่ามีโอกาสน้อยที่จะประสบปัญหาการผ่อนชำระหนี้

นอกจากนี้จากผลการสำรวจยังพบว่าคน GEN Y และ GEN Z ถึง 76% ยอมรับว่าใช้เงินแบบไม่วางแผน และ 60.5% มีการใช้จ่ายเงินเกินตัว และ 47.2 % กู้ยืมเงินในอนาคตมาใช้ โดยเฉพาะการรูดบัตรเครดิตมาใช้ก่อน ผ่อนทีหลัง โดยคาดว่าหนี้ครัวเรือนจะขึ้นไปสูงสุดในปี 2567 หลังจากที่เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ เพราะการจัดตั้งรัฐบาลยังล่าช้า โดยล่าสุดกระทรวงการคลังได้ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เหลือโต 3.5% จาก 3.6%

ขาดวินัยก่อหนี้

นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือน มาจากการขาดวินัยทางการเงิน รองลงมา รายรับไม่พอกับรายจ่าย วางแผนการลงทุนผิดพลาด และมีความรู้ทางการเงินไม่เพียงพอ โดยหนี้ครัวเรือนมีโอกาสสูงขึ้น และคาดวงเงินก่อหนี้ น่าจะพีกสุดในช่วงปี 2567 ส่วนหนี้ครัวเรือนในปี 2566 สูงสุดจากที่ทำการสำรวจมาในรอบ 15 ปี โดยมีผลพวงมาจาก trade war ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการระบาดของโควิด ตั้งแต่ปี 2562-2563 ทำให้คนก่อหนี้มากขึ้น

นอกจากนี้ เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่ควรจะเป็น แม้ให้มีการเลือกตั้ง ความแน่นอนทางเศรษฐกิจก็ยังไม่ชัด ทำให้เขาคาดว่าต้องเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพสูง รายได้ต่ำไปจนถึงต้นปีหน้า

อย่างไรก็ดี มองว่าแม้หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันจะขึ้นไปแตะ 90% ของจีดีพี แต่แนวโน้มจีดีพีที่สูงขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว และครัวเรือนไม่ตั้งใจจะก่อหนี้มากขึ้น อีกทั้งหนี้ที่ก่อก็เป็นหนี้ในระบบ จึงมองว่าหนี้ครัวเรือนไม่ใช่ปัญหารุนแรงต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และเป็นปัญหาระดับบุคคค ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสถาบันการเงินกำลังเร่งแก้ไขอยู่

ตั้งรัฐบาล

อยากเห็นการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว คือในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2566 นี้ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ 3-3.5% และปี 2567 ขยายตัว 3.5-4% เพราะหากการจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อไปอีก 10 เดือน จะส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณ โดยเฉพาะงบฯลงทุนกว่า 700,000 ล้านบาท อาจจะชะลอ และจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่จะชะลอการลงทุนไปด้วย

อีกทั้งเจอปัญหาภัยแล้ง และทิศทางเศรษฐกิจโลก อาจทำให้การส่งออกของไทยติดลบต่อเนื่อง ดังนั้นการมีรัฐบาลใหม่ช้าจะกระทบทำให้เศรษฐกิจฟื้นช้า เศรษฐกิจไทยจะมีความเสี่ยงมากขึ้น อาจโตต่ำกว่า 3-3.5% ได้ หากการเมืองยังมีปัญหาและมีการประท้วงรุนแรง

หนี้ครัวเรือน

หนี้ครัวเรือน