สมาคมแบงก์เอกชน-รัฐ เด้งรับมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน อุ้มลูกหนี้ดีต้องการปิดหนี้

นายรณดล นุ่มนนท์

ธปท. ผนึก สมาคมธนาคารไทย-สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ-ชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล เดินหน้ามาตรการแก้หนี้ครัวเรือนยั่งยืน คาดภายใน 5 ปี หนี้เข้าสู่ระดับศักยภาพ 80% เล็งแก้หนี้เรื้อรัง กดดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ด้าน “ธ.ก.ส.” เตรียมวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท จัดโครงการ “สินเชื่อแทนคุณ” แก้หนี้กลุ่มเกษตรกร-สูงวัย 4.2 หมื่นราย

วันที่ 26 กรกฎาคม 2566 นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนขึ้น จึงเหมาะสมกับมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างตรงจุดและยั่งยืน โดยดูแล 1.หนี้เสีย ให้สามารถแก้ไขได้ 2.หนี้เรื้อรัง ให้มีทางเลือกปิดจบหนี้ได้ 3.หนี้ใหม่ ให้มีคุณภาพ ไม่กลายเป็นปัญหาในอนาคต และ 4.หนี้นอกระบบ ให้มีโอกาสมากขึ้นที่จะเข้ามากู้ในระบบได้

โดยเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (responsible lending) จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 และมาตรการดูแลหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) หรือ PD ที่จะเริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป และอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการดูแลหนี้ครัวเรือนเพิ่มเติมควบคู่ไปด้วย ได้แก่

การทดสอบโครงการ Sandbox ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (risk-based pricing: RBP) และการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio: DSR) นั้น

“การจัดทำมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ธปท. ได้หารือกับภาคส่วนต่างๆ เช่น ผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ ลูกหนี้ และเจ้าหนี้ เพื่อออกแบบมาตรการที่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกหลักการ และครบวงจร ซึ่งการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้สำเร็จและยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยความตั้งใจจริงของทุกหน่วยงานในการร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินการต่างๆ ให้เห็นผล เพื่อร่วมกันสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญในการปรับพฤติกรรมของทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป”

TBA เดินยุทธศาสตร์แก้หนี้ยั่งยืน 5 ข้อ

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย (TBA) กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนในระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 36% ของจีดีพี จากระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ 90.6% โดย TBA และธนาคารสมาชิกได้บรรจุปัญหาหนี้ครัวเรือนในแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี ของสมาคมฯ ตั้งแต่ปี 2565 และได้ให้ความร่วมมือกับธปท.ในการผลักดันมาตรการต่าง ๆ มาโดยตลอด ตั้งแต่ช่วงสถานการณ์โควิด-19

ทั้งนี้ สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนตามแนว responsible lending โดยการจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ของสมาคมธนาคารไทยด้านความยั่งยืน (sustainability) ตามหลักการ 5 ข้อ ได้แก่ 1.การมีความรู้ความเข้าใจในการกู้ยืม (healthy borrowing) ให้ข้อมูลเพื่อกระตุ้นพฤติกรรมลูกหนี้ให้มีวินัยทางการเงิน และใช้สินเชื่อที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์

2.การแข่งขันแบบเสรีไม่ผูกขาด (open competition) ลูกหนี้ใช้บริการสินเชื่อและเปิดเผยข้อมูลโดยสมัครใจ 3.ความโปร่งใสและเท่าเทียมระหว่างผู้ให้สินเชื่อ (level playing) ทุกกลุ่มเจ้าหนี้ทั้งธนาคาร Non-bank และสหกรณ์อยู่บนกฎกติกาที่เท่าเทียมกัน 4.ความยุติธรรม (fairness) อัตราดอกเบี้ยต้องสะท้อนความเสี่ยงที่เป็นจริง ลดภาระลูกหนี้ดีที่ต้องแบกภาระลูกหนี้ที่ไม่ดี และ 5.ความครอบคลุมและเข้าถึง (inclusion) สามารถนำข้อมูลทางเลือกมาส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ

“หากดูภาพรวมลูกหนี้เรื้อรังขอระบบธนาคารพาณิชย์ตามกรอบของธปท.ที่มีชำระดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น 5 ปี ถือว่ามีจำนวนน้อย แต่ธนาคารก็พร้อมจะผลักดันตามมาตรการของธปท. และดูแลลูกหนี้ต่อเนื่อง”

ออมสิน หวัง 5 ปี หนี้ครัวเรือนเข้าสู่ระดับศักยภาพ 80%

นายวิทัย รัตนากร ประธานสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนจะทำให้หนี้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคตจะมีคุณภาพมากขึ้น และภายใน 5 ปี สัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะเข้าสู่ระดับศักยภาพที่ระดับ 80% ของจีดีพี

โดยการแก้ไขหนี้นอกระบบก็เป็นยุทธศาสตร์ของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ซึ่งในส่วนของการแก้ไขหนี้เรื้อรัง เป็นสิ่งที่เห็นด้วย เนื่องจากมีการชำระดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น 5 ปี ถือว่ากลุ่มนี้ผู้ประกอบการได้รับรายได้มาพอสมควรแล้ว ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยลงมาเหลือ 15% ต่อปี จะช่วยลูกหนี้กลุ่มนี้มีสุขภาพการเงินแข็งแรง

ทั้งนี้ ในส่วนของธนาคารออมสิน จะพบว่า ธนาคารไม่มีลูกหนี้กลุ่มเรื้อรังตามนิยามธปท. ในส่วนของลูกหนี้ที่ชำระดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น 5 ปี แต่จะมีในกลุ่ม 3 ปี ที่เข้าข่ายเพียง 1 หมื่นรายเท่านั้น ส่วนหนึ่งธนาคารจะปล่อยสินเชื่อเป็น Term loan และพยายามตัดเงินต้นให้ลูกค้า

“การ Flag ลูกหนี้ที่เข้าโครงการ PD มองว่าไม่ได้เป็นการจำกัดให้ลูกหนี้เข้าสินเชื่อ เพราะลูกหนี้กลุ่มนี้เป็นลูกค้าที่ดี แต่จ่ายดอกเบี้ย 25% มานานกว่า 5 ปี ซึ่งตั้งใจชำระหนี้ และเมื่อเวลาผ่านไป 3 ปีหนี้กลุ่มนี้จะลดลงด้วยซ้ำ ทำให้แบงก์มีแนวโน้มอยากปล่อยสินเชื่อ และธปท.เองก็พยายามติดตามดูแลใกล้ชิด”

ธ.ก.ส.ส่ง “สินเชื่อแทนคุณ” แก้หนี้เกษตรกร-สูงอายุ วงเงิน 2 หมื่นล้าน

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ลูกหนี้ของธ.ก.ส.ถือว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง ซึ่งปัจจุบันมีฐานลูกค้าเกษตร 4.3 ล้านราย 10 ล้านสัญญา ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรบุคคล 6 ล้านสัญญา 3 ล้านราย โดยธนาคารจะมีแนวทางดูแลหนี้เกษตรกรที่สอดคล้องกับศักยภาพของเกษตรกรแต่ละกลุ่ม โดยจะให้ความสำคัญกับทั้งกลุ่มเกษตรกรที่ยังพอมีศักยภาพ เช่น มีแนวทางในการปรับโครงสร้างหนี้ให้ตรงกับศักยภาพครัวเรือนมากขึ้น จูงใจเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมให้เกษตรกรชำระหนี้ได้มากขึ้นและบ่อยขึ้น

สำหรับกลุ่มเกษตรกรที่เป็นหนี้เรื้อรังและเป็นกลุ่มสูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ปัจจุบันมีอยู่ 1.2 ล้านคน ธ.ก.ส. ได้จัดทำ “โครงการสินเชื่อแทนคุณ” เพื่อจูงใจให้ทายาทมารับภาระหนี้ต่อและเป็นการรักษาทรัพย์สินให้คงอยู่กับครอบครัว และมาตรการลดภาระหนี้และดอกเบี้ยในรูปแบบต่างๆ เพื่อช่วยให้เกษตรกรกลุ่มนี้สามารถปิดจบหนี้ได้ โดยวงเงินสินเชื่อโครงการนี้เบื้องต้นอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 4.2 หมื่นราย

“กลุ่มลูกหนี้เรื้อรังของเกษตรกรจะแตกต่างจากที่อื่น แต่ธนาคารจะมีแนวทางการช่วยเหลือให้ตรงตามจุด และพยายามกดดอกเบี้ยให้ต่ำลง สะท้อนจากโครงการสินเชื่อแทนคุณ ที่ออกแบบให้ตรงกับลักษณะของลูกหนี้”

ชมรมสินเชื่อบุคคลรับลูกหนี้ส่วนใหญ่ใช้วงเงิน Revolving

นายอธิป ศิลป์พจีการ รองประธานชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล กล่าวว่า ปัจจุบันสมาชิกชมรมที่อยู่ภายใต้การกำกับมีอยู่ 34 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ประมาณ 70% จะเป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) โดยที่ผ่านมาสมาชิกให้การช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่อง ตั้งแต่การพักหนี้ ยืดยอดผ่อนต่อเดือน รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้

อย่างไรก็ดี ลูกหนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยและเปราะบางกว่าลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ เช่น พนักงานบริษัทหรือพนักงานในโรงงานที่มีเงินเดือนประจำค่อนข้างต่ำ หรือพ่อค้าแม่ค้าขายของที่มีหลักฐานทางการเงินจำกัด และต้องใช้ข้อมูลทางเลือกในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ และด้วยลักษณะเฉพาะของลูกหนี้กลุ่มนี้ ที่มีความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือนค่อนข้างจำกัด ทำให้สินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหมุนเวียนเป็นสินเชื่อที่เหมาะกับความต้องการ

ทั้งนี้ ชมรมสินเชื่อส่วนบุคคลและบริษัทสมาชิกพร้อมนำเสนอทางเลือกเพื่อช่วยเหลือให้ลูกหนี้ที่มีความตั้งใจสามารถปิดจบหนี้ โดยเริ่มจากลูกค้าที่มีรายได้ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน และสนับสนุนให้เกิดการเสริมความรู้พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสร้างวินัยทางการเงินที่ดีควบคู่กันไป

“ลูกหนี้ของน็อนแบงก์ยอมรับว่าใช้วงเงินสินเชื่อหมุนเวียนค่อนข้างเยอะ ซึ่งผลกระทบจะมากหรือน้อยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบ และรวบรวมข้อมูล แต่เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นทางเลือกสำหรับลูกหนี้ที่ต้องการลดภาระ”