เข็นอุตสาหกรรมการบินอีอีซี สร้าง Ecosystem เชื่อม 10 ธุรกิจ

อุตฯการบิน

อุตสาหกรรมการบิน มูลค่านับแสนล้านต่อปี เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีการแข่งขันสูง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสายการบิน ค่าตั๋วเครื่องบินและการบริการ รวมถึงการตรงต่อเวลาของสายการบิน ซึ่งทั้งหมดนี้มีผลเชื่อมโยงต่อการท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งเครื่องจักรสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

ในงานเสวนา “The Future of Aviation Industry” ทิศทางอุตสาหกรรมการบินของไทยในอนาคต ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมหาวิทยาลัยศรีปทุม มีตัวแทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ Narita Internationnal Airport Coporation Company (NAA) ประกาศร่วมกันกับภาครัฐ คือ สำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรืออีอีซี) สตาร์ต New S-curve ตัวสำคัญนี้ให้เป็นอุตสาหกรรมหลักกับประเทศให้ได้

ตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมการบิน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท.มีแนวทาง 4 แนวทางในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ และมีความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ 1.จัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมการบิน

ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างประสานบริษัทให้เข้ามาเป็นสมาชิก 2.ผลักดันให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เข้ามาเป็นซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมการบิน 3.ส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อเป็นน้ำมันของอุตสาหกรรมการบิน (SAF) โดยจะดำเนินงานผ่านคณะทำงานย่อยพัฒนาอุตสาหกรรมเอทานอลด้านเชื้อเพลิงเอทานอลของ ส.อ.ท.

4.ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาแพลตฟอร์มการบินผ่านกองทุน Innovation One ของ ส.อ.ท. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ของกองทุน ในส่วนนี้เองจะยังเปิดโอกาสให้ระหว่าง startup ที่มี นวัตกรรมจับคู่กับ SMEs เพื่อร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มด้านการบิน

โดยการตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมการบิน คลัสเตอร์ที่ 47 ขึ้นนั้น จะทำให้เกิด ecosystem ประกอบไปด้วย 10 ส่วน คือ 1.ผู้ผลิตเครื่องบินและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง 2.ผู้ให้บริการทางการเงิน 3.การนำทางอากาศ 4.สนามบิน 5.อาหารบนเครื่องบิน 6.บริการภาคพื้น 7.ซ่อมบำรุง 8.สายการบิน 9.การขนส่ง 10.ระบบการสำรองที่นั่ง

นอกจากนี้ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจว่าปัจจุบันไทยคือผู้นำในการผลิตแพ็กเกจจิ้ง บรรจุภัณฑ์ที่ใช้บนเครื่องบิน ป้อนให้กับสายการบินทั่วโลกกว่า 30 แห่ง รวมถึงอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ที่ผลิตสีทาเครื่องบิน เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นตามมาในอีกไม่ช้า นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งทางด้านภาคอุตสาหกรรม ซึ่งยังคงมีส่วนอื่นที่เข้ามาสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินนี้ให้เติบโตอีกมาก

จากการคาดการณ์ ปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 30 ล้านคน ซึ่ง 5 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ค. 2566) มีจำนวนนักท่องเที่ยวแล้ว 12.9 ล้านคน

เกรียงไกร เธียรนุกูล
เกรียงไกร เธียรนุกูล

ปั้นอู่ตะเภาสู่นิคม MRO

อย่างที่ทราบอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่จะตามมากับการบิน คือองค์ประกอบที่สำคัญที่จะทำให้ทุก ๆ ส่วนสมบูรณ์ที่สุด ในการพัฒนาพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานของไทยในขณะนี้ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คือจุดยุทธศาสตร์สำคัญและเนื้อหอมที่สุดในอาเซียน

“นายจุฬา สุขมานพ” เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.หรืออีอีซี) กล่าวว่า ขณะนี้ไทยได้พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เฟส 2 ซึ่งเป็นการเพิ่ม capacity รองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคน โดยมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (High Speed Train ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) คือตัวเชื่อมโยง สามารถรองรับกิจกรรมที่ใกล้ที่สุดระหว่างกรุงเทพฯกับภาคตะวันออก

สนามบินอู่ตะเภา ยังมีกิจการโลจิสติกส์ ศูนย์ซ่อมบำรุง (MRO) และมีกิจการอื่น ๆ ตามมา นี่คือคีย์สำคัญที่จะเกิดขึ้นจากการเดินสายโรดโชว์ต่างประเทศที่ผ่านมา นักลงทุนต่างให้ความสนใจที่จะลงทุน MRO จำนวนมาก แม้จะต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งติดเพียงปัญหาของการบินไทยที่ยังอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ แต่การเดินหน้าจะให้อุปสรรคเพียงเล็กน้อยขัดขวางไม่ได้

เพราะนี่ถือว่าเป็นช่วงน้ำขึ้นต้องรีบตัก เพราะ MRO ก็เปรียบเสมือนไก่กับไข่ การเลือกพื้นที่อู่ตะเภาด้วยไม่สามารถเอา MRO ไปใส่ที่ดอนเมืองและสุวรรณภูมิได้ ดังนั้นจึงต้องการที่จะให้อู่ตะเภาเป็น “นิคมอุตสาหกรรม MRO” โดยอีอีซีได้มีแพ็กเกจสิทธิประโยชน์ให้ เช่น การให้ต่างชาติลงทุนใน MRO ได้ 100% หรือเจ้าของเป็นต่างชาติได้

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการบินยังดึงภาคการเกษตรเข้ามามีส่วนร่วม เนื่องจากจะเกิดการใช้น้ำมันเครื่องบิน หรือ SAF ที่มาจากปาล์ม จากการวิจัยพบว่าน้ำมันปาล์มคือเบสที่ดีที่สุดในการทำ SAF สอดคล้องกับผลผลิตปาล์มไทยที่มีจำนวนมาก และขณะนี้ทางบางจากได้เริ่มเดินหน้าเรื่องนี้แล้ว

ตาราง เทียบศักยภาพการบิน

TG ฟื้นหลังเปิดประเทศ

แรงผลักดันที่มาจากภาคการท่องเที่ยว แต่ละสายการบินได้รับอานิสงส์อย่างมากหลังจากเปิดประเทศ “นายชาย เอี่ยมศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยข้อมูลให้เห็นว่า จำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารเส้นทางภายในประเทศโต 80% และระหว่างประเทศโต 65.2% สะท้อนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่การบินไทยยอมรับว่าควรที่จะย้ายไปอยู่อีอีซี โดยเฉพาะ MRO เนื่องจากมีความพร้อมมาก การเลือกไปอยู่ที่อีอีซีเพราะ MRO ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่สนามบิน เพราะลูกค้า MRO คือเครื่องบิน ไม่ใช่ผู้โดยสาร ที่ไหนมีแพ็กเกจดี โครงสร้างความพร้อมดี ผู้ให้บริการที่ดี การบินไทยเองก็ควรไปอยู่ที่นั่น

และดีมานด์คือส่วนสำคัญ การจะลงทุนแม้จะต้องดูตรงนี้ก่อนก็ตาม ซึ่งดีมานด์ก็คือเครื่องบินซึ่งหนีไม่พ้นว่ารายใหญ่ที่สุดของไทยก็คือ การบินไทย แปลว่ามันมีวอลุ่มที่เข้าให้บริการมาก หมายถึงความเสี่ยงด้านการลงทุนก็จะน้อย บวกกับสามารถหาลูกค้าอื่นได้ จุดแข็งคือบุคลากรที่ต้องฝึกพัฒนามารองรับ MRO นี้

สำหรับอุตสาหกรรมการบินขณะนี้ ก่อนโควิด-19 การบินไทยมีส่วนแบ่งตลาด 37% ปัจจุบันเหลือ 28.6% เพราะการปรับโครงสร้างบริษัท ปรับให้แข็งแรงเพื่อที่จะขยายโตแบบมีคุณภาพ ดังนั้นจึงคาดว่าการบินไทยจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้ไตรมาส 3/2567 ดังนั้นแผนการลงทุนต่าง ๆ ก็จะกลับมาตามเดิม ซึ่งนั่นคือ MRO

ทัวร์ฮับ-ฮับการบินสมบูรณ์ที่สุด

นายหลุยส์ มอเซอร์ ที่ปรึกษา Narita Internationnal Airport Coporation Company (NAA) ในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กล่าวว่า อู่ตะเภาจะเป็นกรีนฟิลด์แอร์พอร์ต วันนี้อยู่ภายใต้กองทัพเรือ มีการก่อสร้างเทอร์มินอล 1 และ 2 รันเวย์ที่ 1 และกำลังเตรียมก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 หอบังคับการบิน

ส่วนของเอกชนเองได้สัมปทาน 50 ปี ในการทำ 5 โครงการ เพื่อลงทุนสร้างเทอร์มินอล 3 โลจิสติกส์ทุกรูปแบบทั้งทางบก อากาศ ราง สร้างเมืองการบิน อีกส่วนที่จะเป็นคอมเมอร์เชียลเกตเวย์ให้อีอีซี และที่เป็น Airport City Customs Free Trade Zone ไม่เหมือนใครในโลก และนี่คือการผลักดันให้สนามบินอู่ตะเภาได้กลายเป็นสุดยอดโปรเจ็กต์ รองรับการท่องเที่ยว และไทยจะกลายเป็นทัวร์ฮับ และฮับการบินที่สมบูรณ์

ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยศรีปทุมได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบุคลากรด้านการบิน ด้วยการเปิดวิทยาลัยการบินและคมนาคม ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการบินของไทยครบทุกองค์ประกอบ รองรับการลงทุนในอนาคต