การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับ 6 พันธมิตรองค์กรธุรกิจ ไทย-ญี่ปุ่น จับมือกัน พร้อมหาลู่ทางจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในเครือ กนอ. ทำธุรกรรมในพื้นที่ สอดคล้องเป้าหมายประเทศ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
วันที่ 28 สิงหาคม 2566 นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กนอ. ร่วมกับ 6 บริษัทไทย-ญี่ปุ่น ประกอบด้วย บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (บีไอจี), บริษัท ฮิตาชิโซเซน คอร์ปอเรชั่น, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยทากาซาโก จำกัด, บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และบริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) จำกัด ลงนามบันทึกความร่วมมือ “การศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการสาธิตการจัดหาและใช้ประโยชน์พลังงานไฮโดรเจนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม Smart Park และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด”
โดยโครงการความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือโดยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการสาธิตการจัดหาพลังงานไฮโดรเจนและการใช้ประโยชน์จากไฮโดรเจน เช่น การบริการรถโดยสารไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงไฮโดรเจน และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด รวมถึงศึกษาแนวทางการจัดตั้งบริษัทเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมระหว่างผู้ประกอบการที่เช่าพื้นที่นิคมดังกล่าว กับผู้ให้บริการและผู้จัดหาพลังงานสะอาดด้วย
“โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศในการบรรลุสังคมคาร์บอนต่ำผ่านโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) นอกจากนี้ ยังสนับสนุนวิสัยทัศน์ ‘ไทยแลนด์ 4.0’ ของรัฐบาล ซึ่งเป็นก้าวสำคัญสู่การพัฒนาร่วมกันในอนาคต ผ่านการสนับสนุนโดยองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (New Energy and Industrial Technology Development Organization : NEDO) ประเทศญี่ปุ่น เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และแก้ปัญหาด้านพลังงานอย่างยั่งยืนในอนาคต”
การลงนามความร่วมมือครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ต่อยอดจากบันทึกข้อตกลงเดิมเมื่อปี 2564 ที่ได้ศึกษาความเป็นไปได้การจัดการโครงสร้างพื้นฐานของพลังงานสะอาดประเภทต่าง ๆ ทั้งพลังงานไฮโดรเจน พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวภาพ ตลอดจนการคมนาคมที่ไม่มีการปล่อยคาร์บอน เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และพื้นที่โดยรอบ
สำหรับการดำเนินโครงการในเฟสแรกที่ผ่านมานั้น มีการออกแบบภาพรวมโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานหลักของนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ซึ่งไม่เพียงแต่มีส่วนทำให้เกิดความเป็นกลางคาร์บอน (Carbon Neutral) แต่ยังสนับสนุนการพัฒนาโครงการต้นแบบ BCG ในประเทศไทยด้วย โดยออกแบบให้มีการใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน ไฮโดรเจน และรถขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด ซึ่งคาดว่านิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ถึง 73% ในปี 2578 เมื่อเทียบกับนิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ใช้ไฟฟ้าจากโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้โครงข่ายสายส่งโดยเสรี ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสำหรับนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ยังต้องพิจารณาแผนเงื่อนไขการลงทุน หรือกรอบความร่วมมือต่อไป