ภูมิธรรม ลุยงานวันแรก ประกาศลดราคาสินค้า เพิ่มช่องทางใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท

ภูมิธรรม เวชยชัย
ภูมิธรรม เวชยชัย

“ภูมิธรรม” เปิด 7 นโยบายเร่งด่วนในการผลักดันการทำงาน 100 วันแรกจะต้องเห็นแผนการทำงานที่ชัดเจน พร้อมมอบการบ้านให้พาณิชย์ 1-2 สัปดาห์จัดทำแผนการทำงานพร้อมกับมารายงานจะทำอะไรในการช่วยเหลือประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ ขณะที่การดูแลราคาสินค้า พร้อมประกาศลดราคาทั้งประเทศ เห็นแน่ภายใน 15 วัน และเพิ่มช่องทางการใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท

วันที่ 14 กันยายน 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อม นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรงวงพาณิชย์ ประชุมหารือและมอบนโยบายให้กับผู้บริหารและข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ โดยภายหลังการประชุมมอบนโยบายและทิศทางการดำเนินงานสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าตนได้ให้โจทย์การทำงานแก่ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ รวมไปถึงพาณิชย์จังหวัด ทูตพาณิชย์ทั้ง 58 แห่ง

โดยนโยบายสำคัญ 7 แนวทางสำคัญที่เห็นว่าภายใน 100 วันแรกนั้นจะต้องรู้แล้วว่าจะเดินหน้าทำงานอย่างไร ทั้งนี้ ตนได้มอบหมายให้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ทุกหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์จะต้องสรุปแผนการทำงานว่าจะต้องทำอย่างไร เพื่อที่จะกลับมารายงานตนเพื่อผลักดันการทำงานต่อไป

โดยแนวทางหรือแผนการทำงานที่จะต้องทำนั้น จะต้องไม่เพียงทำงานประจำที่ทำ แต่ต้องคิดนอกกรอบว่าจะทำอะไรเพื่อสามารถช่วยเหลือประชาชน ผู้ประกอบการ โดยต้องสร้างให้เกิดสมดุลกับทุกฝ่าย ตนนั้น สามารถบริหารจัดการ มอบหมายงาน เชื่อว่าข้าราชการพาณิชย์ซึ่งมีความรู้และเชี่ยวชาญจะสามารถผลักดันการทำงานให้ประสบผลสำเร็จได้

ส่วนการแบ่งงานนั้นเบื้องต้นยังไม่ได้แบ่งหน้าที่กัน และแม้จะมากันคนละพรรค แต่เราพร้อมทำงานร่วมกันภายในรัฐบาลเดียวกัน และเชื่อว่าความสามารถของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

7 แนวทางสำคัญ

1.นโยบาย “ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” เน้นการรดน้ำที่รากดูแลคนตัวเล็ก

การดูแลและลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการลดภาระต้นทุน ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ลงมาแล้ว ซึ่งมีผลให้ต้นทุนสินค้าลดลง ถือเป็นต้นทางนำไปสู่การพูดคุยกับผู้ประกอบการ ซึ่งได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในไปหารือ และทำความเข้าใจในสิ่งที่ประชาชนต้องการแล้ว มีระยะเวลา 15 วัน ที่จะมาแจ้งว่าอะไรได้ อะไรไม่ได้ มีสินค้าอะไรบ้าง โดยตั้งเป้าต้องทำให้ได้

2.บริหารให้เกิดความสมดุล ระหว่างประชาชนผู้บริโภค เกษตรกรผู้ผลิต และผู้ประกอบการภาคธุรกิจ ให้ทุกฝ่ายสามารถดำรงชีวิต ดำเนินธุรกิจไปได้ สร้างผลประโยชน์ที่ได้รับด้วยกันทุกฝ่าย

การดูแลสินค้าเกษตร จะบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยสร้างหลักประกันว่าผลผลิตจะต้องขายได้ในราคาที่เหมาะสม มีการจัดช่องทางการจำหน่ายและกระจายผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการลดต้นทุน เช่น ปุ๋ยเคมี ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าเครื่องจักร และผลักดันให้มีการแปรรูป ใช้นวัตกรรม และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต

3.การทำงานเชิงรุกและบูรณาการการทำงานร่วมกันของพาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์

ได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ วางแผนยุทธศาสตร์หรือแผนบริหารจัดการสินค้าอย่างครบวงจรร่วมกัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อ “รักษาตลาดเดิม เสริมตลาดใหม่” และเพิ่มบทบาท “พาณิชย์คู่คิด SME” ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กให้สามารถส่งออกได้

เช่น การให้คำปรึกษา ในด้านกฎระเบียบการนำเข้าของตลาดต่างประเทศเชิงลึก เช่น การจัดตั้งบริษัท การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในตลาดเป้าหมายและสร้างเครือข่ายพันธมิตร การจัดทำคู่มือภาษาไทยที่เข้าใจง่าย รวมไปถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มที่มีข้อมูลทั้งในด้านสินค้าศักยภาพของไทยและความต้องการสินค้าจากต่างประเทศที่ครบวงจรและเป็นปัจจุบันมากที่สุด

4.แก้ไขข้อจำกัดของกฎหมาย

ขณะเดียวกัน ให้หน่วยงานต่าง ๆ พิจารณาแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายเก่าที่ล้าสมัย เป็นอุปสรรคทางการค้า เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ โดยสร้าง และบัญญัติกฎหมายใหม่ ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก เช่น ด้านการผลิตการค้าในรูปแบบใหม่ ๆ โดยเฉพาะกฎหมายเพื่อให้เท่าทันกับการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งการพัฒนาของเทคโนโลยี AI

5.ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย Digital wallet ให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในเรื่องเงินดิจิทัลวอลเลต ที่รัฐบาลมีเป้าหมายในการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ได้มอบหมายให้หน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์นำไปคิดว่าจะเชื่อมโยงกับนโยบายได้อย่างไร เพราะมีข้อท้วงติงจากประชาชนว่ารัศมี 4 กิโลเมตร อาจจะไม่เข้าถึงในบางพื้นที่ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์สามารถเข้าไปช่วยได้ เช่น เชื่อมโยงฐานข้อมูลช่องทางการตลาดที่กระทรวงพาณิชย์ส่งเสริม เช่น ร้านค้าธงฟ้า ร้านอาหารธงฟ้า ตลาดต้องชม Farm Outlet หมู่บ้านทำมาค้าขาย เพื่อให้การใช้งานของประชาชนสะดวกมากยิ่งขึ้น และให้เตรียมอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสินค้าของประชาชนซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่มีเงื่อนไขข้อจำกัดในการใช้งาน เช่น จัดรถพุ่มพวงเข้าไปจำหน่ายสินค้า เป็นต้น

6.เร่งขยับตัวเลขการส่งออก เปลี่ยนจากติดลบให้เป็นบวก

การส่งออก ขอให้เร่งขยายและผลักดันการส่งออกให้เปลี่ยนจากตัวเลขติดลบเป็นบวก โดยมีนโยบายอย่างน้อยที่สุดให้รักษาเป้าการส่งออกที่ตั้งไว้ 1-2% ให้ได้ และมีนโยบายให้สร้างกระแส โดยใช้ประโยชน์จาก Soft Power ของไทย และสร้างเรื่องราวให้กับสินค้าและบริการไทยเชื่อมโยงกับภาคบริการ เช่น ร้านอาหาร วัฒนธรรม ภาพยนตร์ แอนิเมชั่น และการท่องเที่ยว

และได้ขอให้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกพฤติกรรมผู้บริโภคของตลาดทั่วโลกในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำมาพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองความต้องการและการทำกลยุทธ์ส่งเสริม รวมทั้งแก้ไขปัญหา อุปสรรคการค้าชายแดน การแก้ไขปัญหาคอขวดที่เป็นอุปสรรคต่อสินค้าไทย ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยคัดสินค้าที่มีปัญหาไม่ซับซ้อนทำเป็นตัวอย่างนำร่อง และยกระดับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยให้เป็นผู้ให้บริการระดับภูมิภาค

7.ผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จาก FTA รวมทั้ง การปรับตัวเพื่อรองรับ และส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยในมาตรฐานความยั่งยืนที่เป็นกรอบกติกาใหม่ของโลก

ส่วนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ผลักดันให้มีการเจรจา FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจาให้สำเร็จโดยเร็ว และเริ่มเจรจา FTA ฉบับใหม่ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้กับไทย และผลักดันการใช้ประโยชน์จาก FTA และช่วยในการปรับตัว โดยสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายเล็ก และเตรียมความพร้อมให้ดำเนินธุรกิจสอดรับกับกฎกติกาใหม่ ๆ ของโลก เช่น Carbon Credit/BCG/SDGs

แก้ไขรัฐธรรมนูญ

หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ ได้พิจารณาเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยรัฐบาลให้ความสำคัญจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดและขณะนี้มีบุคคลและหลายกลุ่มเสนอตัวที่จะเข้ามาร่วมที่จะเข้ามาช่วยกันดูและแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้มีความคิดเห็นที่แตกต่างและขัดแย้งกันในบางเรื่องบางประเด็น แต่ไม่อยากให้การแก้รัฐธรรมนูญติดขัดเหมือนกับที่เคยเกิดปัญหามาในช่วงตลอด 4 ปี ที่พยายามเสนอแก้ไขและก็ไม่ผ่านการพิจารณา

ทั้งนี้ จะต้องทำประชามติหรือไม่ ต้องไปหารือกันก่อน แต่จะเร่งกระบวนการต่าง ๆ ให้เร็วที่สุด โเยเฉพาะเรื่องของการใช้งบประมาณที่จะทำประชามติ จะต้องใช้เงินงบประมาณมากน้อยแค่ไหน แต่ยอมรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน หลายครั้งมีความเห็นที่ต่างกันจนถึงขั้นต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่าอำนาจหน้าที่ อยู่ตรงไหน ทำได้อย่างไร และจะทำแบบไหน แม้กระทั่งการเข้าสู่กระบวนการการทำประชามติในครั้งที่แล้วก็มีการเสนอ ที่แตกต่าง บางพรรคเสนอให้ทำประชามติถึงสี่รอบ บางพรรคทำสองรอบ ดังนั้นจะต้องไปดู ไม่ให้ขัดกฏหมาย และต้องไปดูว่าจะทำได้ภายใต้งบประมาณที่ไม่ใช้ไปในจำนวนที่เกินไป