การนิคมฯ ยอดขายที่นิคมปี’66 พุ่ง 182% ลุยต่อปี’67 อีก 3 พันไร่

กนอ.โชว์ยอดขาย/เช่าที่ดินปี’66 พุ่ง 182% ทะลุเป้า นักลงทุนญี่ปุ่นครองแชมป์ แย้มปี’67 ลุยดึงลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศตั้งเป้า 3,000 ไร่ พร้อมขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาคตามแนวนโยบาย รมต.อุตสาหกรรม

วันที่ 5 ตุลาคม 2566 นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) แถลงผลการดำเนินงานในรอบปีงบประมาณ 2566 ว่า ปีงบประมาณ 2566 (กันยายน 2565-ตุลาคม 2566) กนอ.มียอดขาย/เช่าพื้นที่ นิคมอุตสาหกรรม จำนวน 5,693 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 182% และเกินกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ที่ 2,500 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ขาย/เช่าในอีอีซี 4,753 ไร่ และนอกพื้นที่อีอีซี 939 ไร่

โดยกลุ่มอุตสาหกรรม 6 อันดับแรกที่เข้ามาลงทุน ได้แก่

  1. กิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรม 57.33%
  2. อุตสาหกรรมผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์ รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ 11.82%
  3. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ 8.66%
  4. อุตสาหกรรมยางเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 7.61%
  5. อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 7.52%
  6. อุตสาหกรรมพลาสติก 7.06%

ทั้งนี้ นักลงทุนจากญี่ปุ่นยังครองแชมป์สนใจลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่งถึง 30% รองลงมา คือ นักลงทุนจากจีน 12% นักลงทุนจากสิงคโปร์ 8% นักลงทุนจากอเมริกา 6% นักลงทุนจากไต้หวัน 5% และนักลงทุนจากประเทศอื่น ๆ 39%

ต่อมาคือโครงการ Digital Twin ดำเนินโครงการนำร่องที่นิคมสมุทรสาคร แล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2566

โดยจะขยายผลไปยังนิคมที่ กนอ. ดำเนินการเองอีก 13 แห่ง ซึ่งจะช่วยให้เกิดการบูรณาการเทคโนโลยีต่าง ๆ และเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกันอย่างรวดเร็ว พร้อมกับแสดงผลในรูปแบบแดชบอร์ด (Dashboard) ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริหารสามารถบริหารจัดการนิคมได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น

รวมถึง กนอ.ยังมีโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) ซึ่งผลการดำเนินงานพบว่า สามารถลด GHGs ในภาพรวมอยู่ที่ 1,231,270 tCO2e สร้างโรงงานเครือข่ายลด GHGs จำนวน 31 โรงงาน

โดย กนอ.สนับสนุนให้มีผู้เชี่ยวชาญเข้าให้คำปรึกษาด้านการอนุรักษ์พลังงาน เพิ่มการใช้พลังงานทดแทน และประเมินศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกให้กับโรงงาน เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 สอดรับกับเป้าหมายประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนี้ กนอ. ยังดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำ และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการ โดยจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการในนิคม รวมถึงรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการในนิคม ได้

“ปัจจุบันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเริ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คาดว่าเป็นผลจากโครงการวีซ่าพำนักระยะยาว (LTR Visa) ที่ใช้อย่างเป็นทางการ ทำให้มูลค่าการลงทุนเพิ่มสูงขึ้น เห็นได้จากยอดขาย/เช่าที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน

ซึ่งปีที่ผ่านมา กนอ.ตั้งเป้ายอดขาย/เช่าพื้นที่ไว้ที่ 2,500 ไร่เท่านั้น แต่ผู้พัฒนานิคม และ กนอ. กลับสร้างยอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมได้ถึง 5,693 ไร่ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง”

นายวีริศกล่าวว่า โดยปัจจัยหลักเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ทิศทางการเคลื่อนย้ายการลงทุนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประกอบกับแนวทางการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. ได้รับความสนใจทั้งจากผู้ประกอบการและภาคเอกชนในการร่วมจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2567 กนอ.ได้ประมาณการณ์ยอดขาย/เช่าที่ดิน ไว้ที่ 3,000 ไร่ เป็นพื้นที่ในอีอีซี 2,700 ไร่ และนอกอีอีซี 300 ไร่

สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2567 กนอ. ยังคงใช้หลัก “INSPIRE” แรงบันดาลใจ เพื่อให้ หัว และใจ นำพาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย มุ่งสู่สากล ดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุน

ขณะเดียวกัน จะดำเนินการตามนโยบายของนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อย่างเคร่งครัด อาทิ การขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจไปสู่ 4 ภาค การยกระดับการให้บริการอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว และการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อความยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรม