SX2023 ถกปัญหาน้ำ รัฐ-เอกชน หนุน “แพลตฟอร์มน้ำแห่งชาติ”

เขื่อนป่าสัก

น้ำ เป็นปัจจัยสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร ที่จะนำมาสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ แต่กลับมีปัญหา “เรื่องการบริหารจัดการน้ำ” ทุกปี และยิ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยิ่งส่งผลต่อปริมาณน้ำในอนาคต ไทยจึงต้องเตรียมรับมือเพื่อเลี่ยงความเสียหาย อย่างเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 ที่กระทบต่อจีดีพีของประเทศไทยกว่า 1.4 ล้านล้านบาท

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในงานมหกรรม Sustainability Expo 2023 (SX2023) ได้จัดการเสวนาหัวข้อ “Global Boiling ! Working Together 2 Better ESG” แลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ และโอกาสในการจัดทำแพลตฟอร์มน้ำแห่งชาติ (national water platform)

อีอีซีใช้น้ำพุ่ง 20% ปี’67

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัญหาของประเทศไทย คือ แม้จะมีน้ำเหลือเฟือแต่ไม่ได้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ พอโลกเปลี่ยนแปลง ก็ไม่มีฐานข้อมูล ทุกอย่างที่ผ่านมาใช้ความรู้สึกมาตลอด

ทำให้หลายปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีปัญหาเรื่องภัยแล้งวุ่นวายไปหมด เมื่อประมาณ 2-3 ปีก่อนที่เจอภัยแล้งก็ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการในอีอีซีเพื่อช่วยกันลดการบริโภคน้ำลงประมาณ 60% และหาแหล่งน้ำใหม่ โดยผันน้ำจากจังหวัดจันทบุรีมาทดแทน ทว่าภัยแล้งครั้งใหม่ที่กำลังจะมาในปีหน้าจะใช้วิธีการแบบเดิมไม่ได้”

ล่าสุดสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ภายใต้ ส.อ.ท. ได้เก็บรวบรวมข้อมูลความต้องการใช้น้ำเขตอุตสาหกรรม นำร่องที่อีอีซีตั้งแต่ปี 2564 และจะแล้วเสร็จให้ทันในปี 2567 โดยคาดว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำอาจจะเพิ่ม 10-20% จากปี 2565 ผลจากมีการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมมายังประเทศไทย จากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

ซึ่งนอกจากในพื้นที่อีอีซีแล้ว ยังวางแผนจะขยายการเก็บข้อมูลน้ำในทุกจังหวัดที่มีพื้นที่อุตสาหกรรม เพื่อทำเป็นฐานข้อมูลไปเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของ สสน.และมูลนิธิอุทกพัฒน์ และต่อยอดให้เป็น “national water platform”

“เราควรให้ความใส่ใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) เพราะวันนี้ไม่ใช่เรื่องของโลกร้อนแล้ว แต่ยกระดับให้กลายเป็นโลกเดือด หลายพื้นที่เกิดปัญหาน้ำท่วมรุนแรงในรอบ 50 ปีหรือ 100 ปี และปัจจุบันที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้นถึง 8 พันคน จะต้องแย่งชิงทรัพยากรกันในอนาคต

โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีความสำคัญต่อประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศเกษตรกรรม รวมถึงสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมด้วย หากไม่มีน้ำ อุตสาหกรรมก็ไปต่อไม่ได้ วันนี้มีปรากฏการณ์ไม่ว่าจะเอลนีโญที่กำลังจะเผชิญหรือน้ำท่วมที่เกิดขึ้นแล้วในภาคเหนือ”

โชว์เคสแก้ปัญหาน้ำ

นายเกรียงไกรได้ยกตัวอย่างเมื่อหลายปีที่แล้วได้เดินทางพบกับ Mekorot หน่วยงานดูแลเรื่องบริหารจัดการน้ำ ประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็นประเทศที่แห้งแล้ง ในทะเลทรายที่มีน้ำเพียงแค่ 15% ของพื้นที่ แต่ Mekorot ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจและเจาะหาแหล่งน้ำใต้ดินแทนการใช้น้ำทะเล

โดยการขุดบ่อน้ำซึ่งจะมีการวิเคราะห์ค่าต่าง ๆ ที่อยู่ในน้ำว่าเหมาะแก่การใช้ในวัตถุประสงค์ การควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้อิสราเอลสามารถปลูกพืชผักผลไม้ในทะเลทราย จนมีปริมาณเพียงพอกับการบริโภค และยังสามารถส่งออกได้ นอกจากนี้ปริมาณน้ำเพียงพอแล้ว ราคาน้ำประปาของอิสราเอลยังมีระดับใกล้เคียงกับประเทศไทยอีกด้วย

ขณะที่ ดร.ชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารความยั่งยืน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีมีโครงการรักษ์ภูผา มหานทีที่ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำซึ่งเป็นรากฐานสำคัญไปจนถึงปลาย โดยเอสซีจีได้สร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ป่าต้นน้ำทางภาคเหนือ บริเวณจังหวัดเชียงใหม่และลำปาง ก่อนจะขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ อาทิ ระยอง ราชบุรี และกาญจนบุรี ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 120,000 ฝายแล้ว

ส่วนการดูแลพื้นที่กลางน้ำ แก้ปัญหาด้วยการสร้าง “แก้มลิง” โดยใช้เหมืองที่เคยขุดไว้เป็นแอ่งเก็บน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้ในช่วงน้ำหลาก และนำไปใช้ในช่วงน้ำแล้ง และสุดท้ายคือพื้นที่ปลายน้ำ ได้ไปฟื้นฟูประมงพื้นบ้านที่จังหวัดตรัง รวมถึงคืนความสมบูรณ์สู่ท้องทะเลด้วยบ้านปะการัง ที่ใช้การผลิตด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ CPAC 3D printing

“สิ่งที่เราเรียนรู้จากโครงการนี้ คือ การทำงานร่วมกับชุมชนแล้วนำมาพัฒนาต่อเนื่อง ให้ความรู้อยู่คู่ชุมชน ต้องหาผู้นำชุมชนที่มีความตั้งใจจริง จึงจะสามารถพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน นำมาสู่ความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ ระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ มูลนิธิอุทกพัฒน์ สสน. และ ส.อ.ท. เพื่อสร้างการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยน พัฒนา และประยุกต์ใช้คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ”

สำหรับการบริหารจัดการน้ำให้เกิดการพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์น้ำในไทยสู่ national water platform ในอนาคต

ชูเทคโนโลยีจัดการน้ำ

นายวิชัย อัศรัสกร ประธานกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กล่าวว่า ปัจจุบันสถาบันได้รวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลด้านน้ำร่วมกับ 52 หน่วยงานจาก 12 กระทรวง นับว่าเป็นฐานข้อมูลน้ำแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเริ่มจัดทำขึ้นนับตั้งแต่ปี 2541 โดย big data นี้ มีผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ ร่วมมือพัฒนาเครื่องมือให้มีความแม่นยำ

รวมถึงพัฒนาระบบวิเคราะห์ติดตามคาดการณ์สภาพอากาศและสถานการณ์น้ำ และยังได้ขยายผลไปยังศูนย์บริหารจัดการน้ำประจำจังหวัด เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลนี้ในการช่วยเหลือและบรรเทาภัยพิบัติได้เต็มที่ ทั้งในรูปแบบของเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น “THAIWATER”

เครื่องมือที่สำคัญของ สสน.คือ ระบบโทรมาตรอัตโนมัติที่พัฒนาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อใช้ตรวจวัดปริมาณน้ำฝนระดับน้ำ และสภาพอากาศ ในปัจจุบันมีระบบโทรมาตรอัตโนมัติกระจายไปทั่วประเทศมากกว่าพันสถานีที่สามารถส่งข้อมูลสถิติที่อัพเดตให้กับทางเว็บไซต์ได้แบบทันท่วงที

สาเหตุที่ทำให้ระบบดังกล่าวสามารถกระจายไปได้ทั่วประเทศ เพราะได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก พร้อมด้วยสภากาชาดไทยในการที่ติดโทรมาตรวัดนี้ให้ครอบคลุมอีก

เทคโนโลยีที่สำคัญคือ ระบบสำรวจภูมิประเทศ (mobile mapping system : MMS) และระบบแสดงผลข้อมูลแผนที่ 3 มิติแบบออนไลน์ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ที่มีการเชื่อมโยงกับดาวเทียม เพื่อสำรวจและพยากรณ์การไหลของน้ำ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นระบบเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำผ่านแบบจำลองที่เชื่อมโยงเข้ากับระบบจากท้องฟ้า

หลังจาก สสน.ได้นำความรู้และเทคโนโลยีมาช่วยบริหารน้ำแบบชุมชน เพื่อบริหารความเสี่ยงลดภัยพิบัติ และช่วยจัดการน้ำในการอุปโภคบริโภค และสามารถดำรงชีพได้ในช่วง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2565 สามารถช่วยลดอุทกภัยและภัยแล้งได้ 3.8 ล้านล้านบาท เพิ่มผลผลิตในฤดูแล้งได้เกือบ 4 พันล้านบาท และเพิ่มปริมาณน้ำ 116 ล้านลูกบาศก์เมตรในเครือข่าย 1,827 หมู่บ้าน ใน 60 ชุมชน ทำให้สามารถวางแผนเพาะปลูกทำให้เกิดความมั่นคงและยังยืนในชีวิต

ตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับระบบโทรมาตรวัดอัตโนมัตินี้ให้กลายเป็น national water platform ที่ทุกภาคส่วนทั่วไปสามารถใช้เครื่องมือมาตรวัดนี้ได้ โดยใช้เทคโนโลยีของ cloud และ AI มาช่วย ลดภัยพิบัติและพัฒนาต่อเนื่องให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทุกภาคส่วนอีกด้วย