ร้านค้าเสียงแตก เข้า-ไม่เข้าร่วมโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ห่วงภาษี เงินเข้าช้า

เงินดิจิทัล
เงินดิจิทัล

ศูนย์พยากรณ์ฯเผยผลสำรวจนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทส่วนใหญ่ประชาชนเห็นด้วย ยกเว้นรัศมี 4 กิโลเมตร ขณะที่ร้านค้าเสียงแตกเข้า-ไม่เข้าร่วมโครงการ เหตุกังวล เรื่องของภาษีและการรับเงินอาจจะล่าช้ากว่าปกติ

วันที่ 6 ตุลาคม 2566 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า

ผลสำรวจทรรศนะต่อนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท จากผลสำรวจประชาชนส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ทั้งในเรื่องของการเริ่มใช้ครั้งแรกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 การใช้ซื้อสินค้าในรูปแบบออนไลน์ไม่ได้ และระยะเวลาการใช้ 6 เดือน แต่สิ่งที่ประชาชนไม่เห็นด้วย คือ การใช้เงินในรัศมี 4 กิโลเมตรจากที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน

ธนวรรธน์ พลวิชัย

นอกจากนี้ ยังพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 76.4% ประชาชนจะใช้เงินในนโยบายดิจิทัล โดยนำไปใช้ซื้อของใช้ในครัวเรือน อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า และโทรศัพท์มือถือ และ 15.6% ไม่ใช้เงินดิจิทัล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีรายได้ 40,000 บาทขึ้นไป และ 8% ไม่แน่ใจ

Advertisment

ศูนย์พยากรณ์ฯยังได้สำรวจผู้ประกอบการถึงทรรศนะต่อนโยบาย พบว่า ส่วนใหญ่ร้านค้า 38.4% ไม่แน่ใจที่จะเข้าร่วม เนื่องจากกังวลเรื่องของภาษี ยังไม่รู้หลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการที่ชัดเจน และคิดว่าจะได้รับเงินช้ากว่าการขายปกติ รองลงมา 33.8% มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการ

โดยให้เหตุผลว่าจะสามารถทำให้ขายสินค้าได้มากขึ้น และ 27.8% ไม่มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการ โดยให้ความเห็นว่า จะได้รับเงินช้ากว่าปกติ กังวลเรื่องของภาษี ไม่รู้หลักเกณฑ์ กังวลว่าเงินจะไม่เข้าเนื่องจากระบบมีปัญหา คิดว่ากระบวนการเข้าร่วมยุ่งยาก

นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจว่านโยบายเงินดิจิทัล จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่หรือไม่ โดยส่วนใหญ่ 48.3% คิดว่ากระตุ้นได้มาก 35.6% กระตุ้นได้ปานกลาง มีเพียง 0.7% เท่านั้นที่คิดว่ากระตุ้นได้น้อยมาก

นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า จากการสำรวจของนโยบายดิจิทัล 10,000 บาท ที่ส่วนใหญ่ประชาชนไม่เห็นด้วยในรัศมี 4 กิโลเมตร เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความคล่องตัว ควรมีการขยายพื้นที่ให้มีความเหมาะสม เนื่องจากบางพื้นที่อาจจะไม่มีร้านค้าเยอะ จึงเห็นว่าอาจจะต้องมีการหารือกับหน่วยงานในแต่ละพื้นที่เพื่อพิจารณาหาความเหมาะสมให้มากที่สุด

Advertisment

อีกทั้งยังเห็นว่า สินค้าที่จะจำหน่ายอยากจะให้เป็นกลุ่มสินค้าที่ผลิตภายในประเทศเป็นหลัก เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจและเงินสะพัดในพื้นที่ชุมชน พร้อมกันนี้ ยังเห็นว่าควรที่จะกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการแจกเงิน และให้จัดสรรงบประมาณบางส่วนใช้ในมาตรการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากว่าในปี 2567 ประเทศไทยจะเผชิญปัญหาเอลนีโญ

อนุสรณ์ ธรรมใจ

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า นโยบายดิจิทัล 10,000 บาท เห็นว่าเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไทยเดินหน้าได้ดีกว่าแล้วประเทศ อีกทั้งเป็นการนำเทคโนโลยี บล็อกเชนเข้ามาใช้ ที่จะเป็นประโยชน์ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ที่สามารถนำไปใช้ในส่วนของบริการภาครัฐ เช่น การเลือกตั้งได้

และนอกจากนี้ การนำงบประมาณถึง 5.6 แสนล้านบาท เข้ามากระตุ้นหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.14 ถึง 3.3% โดยมีปัจจัยคงที่ เช่นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่เกิดการรั่วไหลของเม็ดเงิน

ทั้งนี้ ยังเห็นว่าควรที่จะกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการแจกเงินด้วย และนำงบประมาณบางส่วนใช้การแก้ปัญหาจัดการน้ำ และนโยบายลงทุนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนพื้นที่ในการใช้คิดว่าระบบเทคโนโลยีจะสามารถออกแบบโปรแกรมให้สนองต่อการใช้งานได้ไม่มีปัญหา

อย่างไรก็ดี ส่วนแหล่งที่มาของงบประมาณที่ใช้ ความเป็นไปได้เชื่อว่ารัฐบาลจะกู้เงินจากธนาคารของรัฐ เพื่อไม่ให้กระทบต่องบประมาณ ซึ่งปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 61% ต่อจีดีพีและยังไม่เกินเพดานที่ 70% ดังนั้น รัฐบาลจะต้องมีวินัยและต้องระวังความเสี่ยงโดยเฉพาะวินัยการเงินการคลัง

แต่ยอมรับว่าเทคโนโลยีบล็อกเชน สกุลเงินดิจิทัล ยังเป็นสิ่งที่ธนาคารกลางในหลายประเทศให้ความระมัดระวัง และยังไม่เปิดให้ทำการอย่างเสรี เนื่องจากหากปล่อยให้มีการออกสกุลเงินเองได้ จะเป็นการลดอำนาจธนาคารกลาง ดังนั้น แต่ละประเทศยังต้องหาแนวทางต่าง ๆ เข้ามากำกับและดูแลเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและประโยชน์สูงสุด