สัมภาษณ์พิเศษ
“ธุรกิจการพิมพ์” เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ต้องเปลี่ยนผ่านสู่ยุคนิวนอร์มอล หลังจากสื่อดิจิทัลเข้ามา ดิสรัปต์สิ่งพิมพ์ ต่อเนื่องด้วยโควิดที่มากระทบธุรกิจต่าง ๆ ที่ใช้สิ่งพิมพ์เป็นส่วนประกอบ แต่ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย รัฐบาลมีการใช้มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยการเปิดฟรีวีซ่า และช่วยลดภาระต้นทุนผู้ประกอบการ ด้วยการปรับลดค่าไฟฟ้า
ภาพรวมของธุรกิจการพิมพ์จึงมีโอกาสจะได้พลิกฟื้นขึ้นมาได้ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายพงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช” นายกสมาคมการพิมพ์ไทยถึงทิศทางธุรกิจการพิมพ์
โควิดกับธุรกิจการพิมพ์
นายพงศ์ธีระฉายภาพว่า อุตสาหกรรมการพิมพ์เป็นอุตสาหกรรมที่เรียกว่า supporting industry เราสนับสนุนสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ให้กับสินค้าทุกอย่าง ซึ่งเติบโตตามจีดีพีของประเทศ ถ้าช่วงไหนที่คนบริโภคเยอะก็จะใช้สิ่งพิมพ์เยอะตามไปด้วย
สถานการณ์โควิดช่วงแรก ธุรกิจต่างมีการหยุดชะงัก เรียกว่าล็อกดาวน์ แต่ว่าหลังจากนั้นก็เกิดพฤติกรรมใหม่ ที่ผู้บริโภคหันมาสั่งอาหารดิลิเวอรี่มากขึ้น เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าพวกบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารที่เป็นดีลิเวอรีมีการใช้กันมากขึ้น ผู้บริโภคหันมากินอาหารดิลิเวอรีมากขึ้นแทนการออกไปที่ร้านอาหาร ทำให้การใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อส่งเสริมการซื้อขายออนไลน์เติบโตสูงขึ้นตามไปด้วย
ตลาดการพิมพ์ 3.5 แสนล้าน
ปัจจุบันอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์มีมูลค่าตลาดต่อปีอยู่ประมาณ 350,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 1.8% ของจีดีพีประเทศ เพราะว่าอย่างที่บอก ว่าอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์เติบโตไปตามจีดีพี ทำให้ถ้าหากจีดีพีลดลง มูลค่าตลาดการพิมพ์ก็อาจจะลดลงตามจีดีพีบ้าง แต่ตลาดสิ่งพิมพ์ของเรามี 2 ส่วน ไม่ใช่มีเฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่เรามีการส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย
“บางครั้งแม้ว่าจีดีพีประเทศลดลง แต่ว่าการส่งออกก็จะมาช่วยชดเชย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าสำเร็จรูปอาหาร อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง หรือว่าสินค้าอื่น ๆ ก็ต้องใส่บรรจุภัณฑ์หรือกล่องกระดาษเพื่อขนส่งสินค้า โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์อาหารสัตว์ที่เติบโตค่อนข้างสูง และต้องพิมพ์ด้วยเทคนิคพิเศษ ซึ่งสินค้าประเภทนี้ประเทศเราก็ส่งออกเยอะ”
“อาเซียน” ตลาดส่งออกเด่น
ตลาดส่งออกการพิมพ์ของไทยในปัจจุบัน มีการส่งออกเกือบทุกประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นยุโรป อเมริกา หรือแม้แต่ในโซนเอเชียก็มีหมด แต่ด้วยโลเกชั่นของประเทศไทยที่อยู่ในจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนทำให้เราได้เปรียบ
โอกาสตลาดสิ่งพิมพ์นั้น เราไม่ได้พูดเฉพาะของประเทศไทยที่มีเกือบ 70 ล้านคนเท่านั้น แต่เราพูดรวมไปถึงตลาดอาเซียนที่มีประชากรรวมกัน 600 กว่าล้านคน และยังมีศักยภาพทางด้านการพิมพ์ไม่เท่ากับประเทศไทย จึงกลายเป็นโอกาสที่เราจะนำสินค้าประเภทสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นอาเซียน CLMV หรือว่าแม้แต่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ก็ใช้สินค้าหลายอย่างที่ผลิตจากประเทศไทยเช่นกัน
“ไทยไม่ใช่เพียงมีศักยภาพในการผลิตบรรจุภัณฑ์ซึ่งเป็น indirect export เท่านั้น แต่ในทางตรงไทยยังเป็นแหล่งผลิตและส่งออกหนังสือภาพพ็อปอัพ อันดับ 1 หรือ 2 ของโลก เพราะว่างานหนังสือพ็อปอัพต้องใช้ฝีมือในการประกอบที่ต้องอาศัยความประณีต
ซึ่งประเทศไทยสามารถผลิตออกมาได้สวย เพราะแรงงานของเรามีความพิถีพิถัน ทำให้ต่างประเทศก็มาจ้างให้ไทยผลิตให้ เรียกว่าเป็น direct export เลยทีเดียว ฉะนั้น ที่จริงแล้วตัวเลขของอุตสาหกรรมการพิมพ์อาจจะมากกว่าที่เราเห็น”
ปัจจัยบวกหนุนตลาดการพิมพ์
ขณะที่ตลาดในประเทศในช่วงที่ผ่านมา เป็นช่วงเลือกตั้ง ทำให้เม็ดเงินในอุตสาหกรรมการพิมพ์เรียกว่าขยายตัว เนื่องจากว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องพิมพ์ทั้งป้ายหาเสียงและสื่อประชาสัมพันธ์ รวมถึงบัตรเลือกตั้ง หนังสือคู่มือเลือกตั้ง ซึ่งเฉพาะช่วงนั้นคาดว่ามีเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจถึงประมาณ 30,000 กว่าล้าน
ล่าสุดการเปิดฟรีวีซ่านับว่าเป็นจุดที่ดีมาก เพราะทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะขึ้น และเมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะขึ้น แน่นอนว่าการบริโภคและการใช้สิ่งพิมพ์ก็จะเพิ่มขึ้นตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินค้าหรือสิ่งพิมพ์ที่ต้องใช้สำหรับการท่องเที่ยวต่าง ๆ ก็จะมีการใช้เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าน่าจะทำให้ธุรกิจการพิมพ์ขยายตัว 2-3%
และยิ่งในช่วงปลายปีถือเป็นสีสันของอุตสาหกรรมการพิมพ์ โดยเฉพาะการพิมพ์ไดอารี่ ปฏิทินที่แต่ละองค์กรจะต้องจัดทำเพื่อแจกให้ลูกค้า ทำให้มีการใช้สิ่งพิมพ์ค่อนข้างคึกคัก
“ถึงแม้ว่าเราจะมีสื่อดิจิทัลมาดิสรัปต์ สิ่งพิมพ์อยู่บ้าง ทว่าตอนนี้กลายเป็นว่าลูกค้านิยมแจกปฏิทินมากขึ้น เพราะว่าการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ เช่น ปฏิทินไปตั้งอยู่บนโต๊ะลูกค้าก็เสมือนว่าเป็นสื่อประชาสัมพันธ์องค์กรตลอดทั้งปีด้วยปฏิทินแค่หนึ่งชิ้น ถือว่าเป็นงบฯลงทุนที่ไม่สูงนักเทียบกับสื่อดิจิทัล
ซึ่งหลายคนอาจจะมอง ว่าเข้าถึงคนได้เยอะก็จริง แต่ไม่ได้สร้างการตระหนักรู้หรือสร้างความจดจำเท่ากับสิ่งพิมพ์ ฉะนั้น สิ่งพิมพ์ยังมีจุดแข็งของตัวเอง ในการสร้างความดึงดูดให้น่าสนใจได้มากกว่าตัวดิจิทัล”
ต้นทุนพลังงานลดช่วยแข่งได้
ส่วนอีกเรื่องคือนโยบายรัฐบาล ที่ประกาศลดค่าไฟจากงวดก่อน 4.45 บาทเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะค่าไฟเป็นต้นทุนหลักของการผลิตสิ่งพิมพ์ เนื่องจากสิ่งพิมพ์ของเราไม่ได้พิมพ์แค่บนกระดาษอย่างเดียว เรามีพิมพ์บนพลาสติก แก้ว และโลหะซึ่งการพิมพ์บนวัสดุเหล่านี้ใช้พลังงานค่อนข้างเยอะ ทำให้ค่าไฟสูงกว่าการพิมพ์บนกระดาษ
“การที่รัฐบาลลดค่าไฟลงมาทำให้ต้นทุนของเราสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ อย่างกรณีก่อนหน้านั้นที่ค่าไฟของเราอยู่ที่ 4.70 บาท ซึ่งเมื่อไปเทียบกับค่าไฟของเวียดนามที่มีราคาถูกกว่า ทำให้มีผู้ประกอบการบางส่วนประมาณ 1-2% ย้ายฐานการผลิต เพราะสู้ค่าไฟของบ้านเราไม่ไหว”
แต่พอปัจจุบันที่เริ่มลดค่าไฟลงมา ทำให้การแข่งขันสามารถกลับมา เพราะประหยัดต้นทุนค่าพลังงานมากขึ้น ทั้งการลดค่าไฟ และการลดค่าน้ำมันทำให้ค่าโลจิสติกส์ถูกลงก็เป็นจุดที่ดีที่ทำให้เราสามารถแข่งขันต้นทุนกับประเทศอื่นได้ ประกอบกับไทยมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน และสิทธิพิเศษให้ผู้ประกอบกิจการสิ่งพิมพ์อยู่แล้ว
สู่ศูนย์กลางอุตฯการพิมพ์ภูมิภาค
สมาคมการพิมพ์ฯ เคยประกาศยุทธศาสตร์ไว้ว่า เราต้องการที่จะเป็นผู้นำ หรือว่าเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่วางไว้ตั้งแต่สมัยที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคนปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมการพิมพ์
ที่ผ่านมาสมาคมเคยไปหารือกับทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อขอให้สนับสนุนธุรกิจการพิมพ์ ทั้งการลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรและวัสดุอุปกรณ์การพิมพ์ให้มีอัตรา 0% และไทยยังเป็นประเทศที่มีนิคมการพิมพ์สินสาคร ซึ่งเป็นนิคมเดียวในโลกที่ทั้งนิคมเป็นโรงพิมพ์ ตรงนี้ก็ช่วยให้อุตสาหกรรมของเรา เรียกว่ามีความเข้มแข็งและรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เรียกว่าเป็นแต้มต่อได้