ธรรมนัส หวังแก้ PM 2.5 จากต้นเหตุเผาพื้นที่นาข้าว-ข้าวโพด-อ้อย

ธรรมนัส

ธรรมนัส รมว.กระทรวงเกษตรฯ ประชุมร่วมทุกฝ่าย หาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่ต้นเหตุ ทั้งข้าว ข้าวโพด และอ้อย หวังแก้ไขปัญหา PM 2.5

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ภาคการเกษตร ได้ประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่ต้นเหตุทั้งข้าว ข้าวโพด และอ้อย โดยได้ถอดบทเรียน ปัญหาอุปสรรคจากการดำเนินงานปีที่ผ่านมา และนำมาพิจารณาประกอบการกำหนดแนวทางการดำเนินงานของปีนี้

พร้อมชี้แจงสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในปัจจุบัน รวมถึงการสรุปสถานการณ์การเผาในพื้นที่การเกษตรทั้งหมด และการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปี 2565/2566 ทั้งปัญหาและอุปสรรคของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแล

โดยกระทรวงเกษตรฯวางแนวทางการป้องกันและแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ปี 2566/2567 ดำเนินการเชิงรุกผ่านหลักดำเนินการ 3R ประกอบด้วย

1) Re-Habit : ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชเป็นการปลูกแบบไม่เผา ภายใต้มาตรฐาน GAP PM2.5 Free

2) Replace with perennial crops : ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนชนิดและวิธีการปลูกพืชบนพื้นที่สูง จากพืชที่ยังใช้ระบบการเผา เช่น ข้าวโพด เป็นไม้ผล ไม้ยืนต้น

3) Replace with Alternate crops : ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนชนิดและวิธีการปลูกพืชบนพื้นราบ โดยเน้นการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและเป็นประโยชน์ต่อดิน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย

1) ป้องปรามการเผา เน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยมีเป้าหมายเป็นเกษตรกร 28,855 ราย บนพื้นที่ 60,750 ไร่ โดยการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้หยุดเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ส่งเสริมให้เกษตรกรจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทดแทนการเผา เช่น การไถกลบตอซังหรือเศษซากพืช

การสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการเปลี่ยนเป็นพลังงานชีวมวล การนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ การเปลี่ยนเป็นพืชอาหารสัตว์และสำรองเสบียงสัตว์ รวมถึงการให้บริการยืมเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อใช้เก็บรวบรวมเศษวัสดุเหลือใช้ในแปลง

2) นำร่องโครงการต้นแบบ การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้มาตรฐาน GAP PM2.5 Free โดยเป้าหมายเป็นพื้นที่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่และพะเยา รวม 2,664 แปลง พื้นที่ 25,162 ไร่

3) งานวิจัยและพัฒนา ศึกษาพฤติกรรมการตัดสินใจเผาวัสดุเหลือใช้ในนาข้าว

สำหรับการลดการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลให้ลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กได้อย่างยั่งยืน จะต้องส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP PM2.5 Free

โดยกระทรวงเกษตรฯมีนโยบายจะเสนอให้เกษตรกรได้รับสิทธิพิเศษ เป็นค่าตอบแทน หรือเข้าถึงแหล่งทุนด้วยดอกเบี้ยอัตราพิเศษ

ซึ่งรวมถึงสถาบันเกษตรกรที่รวบรวมผลผลิตที่ไม่เผาด้วย และขอความร่วมมือภาคเอกชนรับซื้อผลผลิตที่ไม่เผาในราคาที่สูงกว่า

นอกจากนี้จะสนับสนุนให้เกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูกทั้งในพื้นที่สูงและที่ราบ โดยสนับสนุนเงินทุนช่วงรอเก็บเกี่ยว จัดหาเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วพร้อมทั้งจัดหาตลาดรองรับผลผลิต ทั้งนี้ ได้กำหนดจัดงาน KICK OFF การรณรงค์ปลอดการเผาในพื้นที่เกษตร ในช่วงเดือนธันวาคมนี้ ที่จังหวัดเชียงใหม่

อย่างไรก็ดี ยังได้มีการหารือในการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับภาคีวิจัยฟิวเจอร์เอิร์ธแห่งประเทศไทย (Future Earth Thailand Consortium) โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาในภูมิภาค 7 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคเหนือตอนล่าง มหาวิทยาลัยนเรศวร ภาคตะวันตก มหาวิทยาลัยมหิดล ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ภาคใต้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศจากภาคการเกษตรอย่างยั่งยืนผ่านเครือข่ายวิจัยและนวัตกรรมทั้งระดับชาติและนานาชาติ