สมุดปกขาวหอการค้า ปี 2566 ชงนายกฯเศรษฐา เร่ง 4 เรื่องด่วน

สมุดปกขาว

ปิดฉากงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 41 ในโอกาสครบรอบ 90 ปี หอการค้าไทยที่จัดระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด Connect-Competitive-Sustainable ความท้าทายและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก พร้อมยื่น “สมุดปกขาว” ต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อพลิกฟื้นประเทศก้าวทันเทคโนโลยีสามารถแข่งขันบนเวทีโลกต่อไป

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แม้ไทยจะมีความพร้อมในหลายด้าน แต่ยังติดอยู่กับดักรายได้ปานกลาง ดังนั้น ประเทศไทยต้องปฏิรูป 4 ด้านสำคัญ

1.ด้านการค้า การลงทุน เร่งทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยี 2.ด้านเกษตรและอาหาร ต้องทำเทคโนโลยีและดึงคนรุ่นใหม่มาช่วยสร้างนวัตกรรม และเพิ่มผลผลิต

3.ด้านการท่องเที่ยวและบริการ ปี 2567 คาดว่านักท่องเที่ยวสูงถึง 35 ล้านคน จึงต้องเตรียมการรองรับการเติบโต อำนวยความสะดวก 4.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ผลักดันเมกะโปรเจ็กต์ สร้างโอกาสให้เอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อยกระดับและพัฒนาประเทศให้สู่การแข่งขันระดับโลก

ซึ่งจากการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศในครั้งนี้ ได้รวบรวมประเด็น และข้อเสนอแนะจัดทำเป็น “สมุดปกขาว” เพื่อเสนอแนวทำงานการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ผ่านข้อเสนอของภาคเอกชน 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1) เปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน (transform) ไปสู่การแสวงหาโอกาสและรูปแบบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสมัยใหม่ในอนาคต

และ 2) เสนอยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของหอการค้า 5 ภาค ที่ได้รวบรวมประเด็นเชิงพื้นที่ จากหอการค้าจังหวัด เพื่อช่วยกันดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามความต้องการ และความจำเป็นในแต่ละพื้นที่

ไฮไลต์สำคัญ

โดยเวทีสัมมนาหอการค้าไทย 5 ภาค มี highlight สำคัญที่อยู่ในสมุดปกขาว 4 ประเด็น ที่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนและผลักดัน ได้แก่ 1.ประเทศไทยต้องยกระดับ innovation digital และนำเทคโนโลยี มาเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยยังขาดอยู่ 2.นโยบายเพิ่มจำนวนประชากรและพัฒนาประชากรให้มีคุณภาพเพื่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก พร้อมเป็น global citizen ที่มีคุณภาพ

3.รัฐบาลควรสนับสนุนเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนเพื่อช่วยให้ธุรกิจ SMEs ฟื้นตัวควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาหนี้ SMEs สร้างโอกาสให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างเป็นระบบ และ 4.ผลักดันโครงการพัฒนาเมืองรอง 10 จังหวัดเป็นเมืองหลัก ซึ่งจะเป็นโมเดลต้นแบบความร่วมมือภาครัฐภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่เกิดการยกระดับรายได้และลดความเหลื่อมล้ำให้กับประเทศไทย

นายกฯลุยปั๊มเศรษฐกิจ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “The time to act is now พลิกวิกฤต ฟื้นเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน” พร้อมรับข้อเสนอทางเศรษฐกิจจากหอการค้าทั่วประเทศ (สมุดปกขาว) โดยระบุว่า ในช่วง 9-10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวไม่ถึง 2% ขณะที่เศรษฐกิจของประเทคู่แข่ง เติบโตอย่างมาก ซึ่งนับหน้าที่ของรัฐบาลนี้ที่เข้ามาอาสาเข้ามาแก้ไขปัญหา โดยรัฐบาลต้องพยายามทำให้ได้

เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลดำเนินการดูแลประชาชนทุกกลุ่ม เช่น พักหนี้เกษตรกร การลดค่าไฟฟ้า การลดค่าน้ำมันเบนซินและดีเซล การสนับสนุน short quick win การสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวด้วยการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นมาตรการเร่งด่วน

นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยที่ทางหอการค้าแห่งประเทศไทยจะเริ่มขับเคลื่อนใน 4 เมืองรอง พร้อมทั้งขับเคลื่อนเรื่อง soft power ในการพัฒนาเมืองรองของไทยซึ่งต่างประเทศก็ให้ความสนใจ เพราะมองว่าหลายจังหวัดของไทยยังมีศักยภาพอยู่มาก

นอกจากนี้ ยังมองไปถึงการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น การพัฒนาสนามบินต่าง ๆ ทั้งสุวรรณภูมิ ภูเก็ต พังงา เชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเมกะโปรเจ็กต์ที่ต้องดำเนินการให้เกิดขึ้นตามแผน

ด้านการลงทุน จากที่เดินทางไปร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 สัปดาห์ที่ผ่านได้พบกับภาครัฐและเอกชนชั้นนำของต่างประเทศ เช่น Facebook Tesla Google Microsoft ทำให้เห็นถึงศักยภาพประเทศไทยในหลายด้านทั้งเรื่องความพร้อมด้านคมนาคม

โดยเฉพาะเรื่องของ clean energy ซึ่งเป็นนโยบายหลักของประเทศ เรื่อง health care โรงเรียน international ฯลฯ และสนใจที่จะมาลงทุนในไทยอย่างมาก

“ไทยแม้จะเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่ก็มีจุดยืนของตนเองโดยตลอด และแสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่มาเพื่อค้าขายและเชิญชวนให้นักลงทุนมาลงทุนในไทยผ่านการได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่นักลงทุนจะได้รับ เช่น มาตรการสนับสนุนด้านภาษี และมาตรการต่าง ๆ ที่สามารถ offer นักลงทุนต่างประเทศให้มาลงทุนในไทยได้

อย่างไรก็ตามมองว่านี่ยังไม่ใช่ความสำเร็จ ไทยยังสามารถทำได้มากกว่านี้ โดยหลังจากนี้จะเร่งการทำ FTA เป็นอีกหนึ่งวาระที่สำคัญของรัฐบาลนี้ที่จะเดินหน้าเต็มที่และทำให้เกิดผลโดยเร็ว”

แก้กฎหมาย อำนวยความสะดวก

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวระหว่างการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พาณิชย์ยุคใหม่ การค้าไทยเชื่อมโลก” ว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งกฎระเบียบ เศรษฐกิจ เพื่อเตรียมรับมือกับสิ่งเหล่านี้ รัฐบาลพร้อมสนับสนุน เอื้ออำนวยสิ่งที่เป็นอุปสรรคทางการค้าให้ภาคเอกชนเพื่อเดินหน้าไปอย่างเข้มแข็ง

โดยภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2566 นี้ มีแนวนโยบาย ในการแก้ไขกฎหมายและพระราชบัญญัติ อย่างน้อย 4 ฉบับ ให้ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งศึกษาและทบทวน พร้อมหารือกับผู้บริหารกระทรวงแล้ว ซึ่งจะเดินหน้าให้เร็วที่สุด แต่แนวคิดของรัฐบาลชุดนี้ต้องการทำให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล ต้องเชื่อมโยงข้อมูลทั้งระบบ”

ดังนั้น การสร้างบิ๊กดาต้าเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ข้อมูลดังกล่าวเป็นประโยชน์ทั้งประชาชนเอกชน ในการตัดสินใจการลงทุน ทำธุรกิจ ที่จะเพิ่มขีดความสามารถ และพัฒนาตัวเองให้ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ที่ผมดูแลมี 3 เสาหลักสำคัญที่พร้อมจะสนับสนุน ส่งเสริมให้ประเทศก้าวผ่านวิกฤตนี้ และประกอบด้วย 1.การเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการผ่าน การสนับสนุนเงินสินเชื่อ การสร้างเครือข่ายธุรกิจ

2.การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน โดยการแก้ไขกฎระเบียบ ถ้าทำได้เร็วก็จะปลดเปลื้องพันธนาการ พร้อมการบุกตลาด และ 3.การพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมการค้าและการลงทุนในภูมิภาคและตลาดโลก ผ่านการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลก

ไทยเข้าสู่คนสูงวัยสุดยอด

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวระหว่างการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และคนทุกกลุ่ม เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” ว่า ประเทศไทยกำลังเจอปัญหามากมายที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและสังคมและการพัฒนาประเทศ

โดยเฉพาะปัจจุบันไทยมีประชากรกว่า 60 ล้านคน หรือราว 23 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่เป็นผู้สูงอายุและผู้พิการกว่า 4 ล้านครัวเรือน และมีแม่เลี้ยงเดี่ยวกว่า 1 แสนครัวเรือน เด็กและเยาวชน 19 ล้านคน สตรีวัยทำงาน 20 ล้านคน LGBTQ+ 4 ล้านคน

“ไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว มีผู้สูงอายุในปัจจุบัน 12.8 ล้านคน เป็นสัดส่วน 14% ของประชากรทั้งหมด และอีกไม่กี่ปี หากจำนวนประชากรเกิดใหม่ไม่เพิ่มขึ้นอีก ไทยก็จะเปลี่ยนสถานะประเทศเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (super age society) สัดส่วนเกิน 20% ของประชากร หรือ 15-16 ล้านคน เมื่อถึงเวลานั้น ภาคเอกชน เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการจะดำเนินการอย่างไรกับปัญหาคนวัยทำงานลดลง”