หอการค้า 5 ภาค ชู “นวัตกรรม” ดันเกษตรมูลค่าสูง-แรงงานสู่ดิจิทัล

หอกาค้า 5 ภาค

หอการค้าไทยเตรียมจัดงานสัมมนา “หอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 41” ขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งปีนี้นับเป็นโอกาสดีที่ครบรอบ 90 ปี ซึ่งจะมีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่

ปกติในการประชุมหอการค้าทั่วประเทศทุกปี หอการค้าจังหวัดต่าง ๆมีการระดมสมอง เพื่อฉายภาพทิศทางการพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัด และสะท้อนปัญหาอุปสรรคของภาคธุรกิจ ซึ่งหลายโครงการต้องการให้ภาครัฐสนับสนุน หลังจากนั้นจะรวบรวมความเห็นทั้งหมด สรุปนำเสนอผ่าน “สมุดปกขาว” ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่ง “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ติดตามรวบรวมข้อเสนอของหอการค้าทั้ง 5 ภาค มาสรุปย่อในโครงการสำคัญ ๆ

หอภาคกลางชูฮับนวัตกรรม

นายธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มิติในการพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของหอการค้าภาคกลาง 17 จังหวัด ต้องการยกระดับการเกษตรและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยเชื่อมโยงกับ Food Valley และพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม รวมถึงศูนย์กลางโลจิสติกส์ และเมือง Smart City

ในด้านท่องเที่ยวมุ่งสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูง และก้าวสู่ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้านการท่องเที่ยว มีการเปิด 3 เส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สร้างสรรค์ (ทวารวดี-ละโว้-อยุธยา) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้อย่างเป็นรูปธรรม สอดรับกับ Happy Model ภายใต้นโยบาย Connect the Dots ของหอการค้าไทย

ซึ่งตั้งเป้าหมายคาดการณ์ผู้มาเยี่ยมเยือนปี 2566 ไว้ที่ 24.3 ล้านคน ตั้งเป้ารายได้รวม 36,311 ล้านบาท แต่ตัวเลข 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย. 66) จากกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ผู้มาเยี่ยมเยือนปี 2566 ทั้งคนไทยและต่างชาติรวม 19,709,992 คน มีรายได้รวม 27,473 ล้านบาท ขณะที่ปี 2567 ตั้งเป้าผู้มาเยี่ยมเยือน ไว้ที่ 25.9 ล้านคน ตั้งเป้ารายได้รวม 38,514 ล้านบาท

ธวัชชัย เศรษฐจินดา
ธวัชชัย เศรษฐจินดา

อีสานดันเปิด 3 ด่านถาวร

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาคอีสานเน้น 3 ด้าน ได้แก่ 1.การค้า การลงทุน ค้าชายแดน ปี 2567 ขอให้เปิดด่านถาวรเพิ่มขึ้นอีก 3 ด่าน ได้แก่ ช่องสายตะกู ต.จันทบเพชร อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์, ด่านช่องจอม อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ และเปิดเขตแดนเขาพระวิหารให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวระหว่างไทยกับกัมพูชาร่วมกัน เสนอจัดตั้งศูนย์ Business Center ของจังหวัดอุดรธานีและหนองคาย ส่งเสริมศูนย์กลางโลจิสติกส์ในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ผลักดันให้แต่ละจังหวัดจัดงาน MINI THAIFEX ระดับภูมิภาค เชิญประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว และเวียดนามเข้ามาร่วม

2.เกษตรและอาหาร โครงการเด่นคือพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ ให้สามารถปลูกข้าวหอมมะลิได้ 2 ครั้งต่อปี เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวให้ประเทศไม่ต่ำกว่า 5 ล้านตันต่อปี, โครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1 ล้านไร่ ให้ได้ผลผลิต 1 ล้านตันต่อปี, โครงการโค 1 ล้านตัว, การเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ในจังหวัดกาฬสินธุ์, การช่วยเหลือแรงงานในอิสราเอลกว่า 80% คืนถิ่น เพื่อนำประสบการณ์มาต่อยอด และยกระดับเกษตรสู่มูลค่าสูง

3.การท่องเที่ยวและบริการ จะผลักดันโครงการ 1 หอการค้า 1 Soft Power และเรื่องที่สำคัญ คือ ต้องยกระดับหอการค้าในแต่ละจังหวัดให้มีความเข้มแข็ง

สวาท ธีระรัตนนุกูลชัย
สวาท ธีระรัตนนุกูลชัย

เหนือชูระบบนิเวศเศรษฐกิจ

นายสมบัติ ชินสุขเสริม ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สิ่งที่หอการค้าภาคเหนือจะมุ่งเน้นเพื่อดําเนินการเป็นสิ่งแรก คือการจัดระบบโครงสร้างการทํางานตามยุทธศาสตร์ 8 ด้าน ที่สอดคล้องกับหอการค้าไทย และเชื่อมโยงสู่หอการค้า 4 กลุ่มจังหวัด ตามแนวทาง Connect The Dots to Connect North

เพื่อสร้างผลลัพธ์ให้เกิดกับพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ดังนี้ 1) การผลักดันให้เกิดการออกกฎหมาย พ.ร.บ.อากาศสะอาด 2) การสร้างระบบนิเวศของเศรษฐกิจอนาคต ผ่านการสร้างทักษะอนาคตในกลุ่มโรงเรียนทั่วภาคเหนือ ร่วมกับ depa ในโครงการ Coding School และการเตรียมการจัดการระบบ แรงงานดิจิทัลในพื้นที่ โดยกลุ่มยุทธศาสตร์โครงสร้างเศรษฐกิจ

3) การสร้างการเชื่อมโยงของกลุ่ม supply เมล็ดกาแฟ จากน่าน สู่ตาก เพชรบูรณ์ และพื้นที่อื่น เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มเกษตรและอาหาร 4) การเตรียมการขยายผล happy model สู่การปฏิบัติร่วมกันทั้งภาคทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ

นอกจากนี้จะเน้นการลงทุนพัฒนาความสัมพันธ์กับนานาชาติ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค ขับเคลื่อนและเชื่อมโยงด้านเกษตรและอาหาร พัฒนา Digital & Innovation Ecosystem สร้างแรงงานด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีในพื้นที่ นอกจากนี้ยังเร่งรัดติดตามโครงการสําคัญ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม การชลประทาน โลจิสติกส์ และการลงทุนพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ

สมบัติ ชินสุขเสริม
สมบัติ ชินสุขเสริม

ใต้ดัน 3 สะพานกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายวัฒนา ธนาศักดิ์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หอการค้าภาคใต้ นำเสนอ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-มาเลเซีย และสตูล-เปอร์ลิส

โดยก่อสร้างเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน เริ่มจากฝั่ง ต.มะลัง อ.เมืองสตูล ไปสู่เกาะปู ต.ปู่ยู แล้วไปจดรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย ระยะทาง 14 กม. มูลค่า 14,000-16,000 ล้านบาท หากโครงการแล้วเสร็จจะเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวจากเดิมอีก 50-60% หรืออาจจะมีนักท่องเที่ยวเข้าจังหวัดสตูลไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน

วัฒนา ธนาศักดิ์
วัฒนา ธนาศักดิ์

2.โครงการสะพานสุไหงโก-ลก 2 มูลค่า 220 ล้านบาท จะสร้างคู่ขนานกับสะพานเดิมที่ปริมาณการจราจรแออัด อำนวยความสะดวกในการเดินทาง และกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าชายแดนระหว่างสองประเทศ ทั้งนี้ การก่อสร้างฝ่ายมาเลเซียและฝ่ายไทย แบ่งการลงทุนคนละครึ่ง คือ 110 ล้านบาท ซึ่งทางภาคเอกชนพยายามกระตุ้นให้ภาครัฐไทยอนุมัติงบประมาณโดยเร็ว

3.โครงการแลนด์บริดจ์ หรือโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) ซึ่งได้มีมติเห็นชอบไปเมื่อปี 2561 โดยให้เร่งผลักดันแผนงานเบื้องต้น ประกอบด้วย โครงการพัฒนาท่าเรือระนอง โครงการระบบรถไฟทางคู่ และโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อพลิกโฉมการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้

ตะวันออกชูผลไม้-สมุนไพร

นายปรัชญา สมะลาภา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาคตะวันออกนำเสนอทั้งหมด 6 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.เกษตรและอาหาร 2.ท่องเที่ยวและบริการ 3.การค้า การลงทุน และการค้าชายแดน 4.การบริหารจัดการน้ำ 5.โครงสร้างพื้นฐาน 6.อื่น ๆ

สำหรับด้านเกษตรและอาหาร เช่น ส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร และพืชมูลค่าสูง, ศูนย์วิจัยและพัฒนาความเป็นเลิศพืชสมุนไพรภาคตะวันออก, โครงการมหานครผลไม้เมืองร้อน

ปรัชญา สมะลาภา
ปรัชญา สมะลาภา

ด้านท่องเที่ยวและบริการ อาทิ โครงการเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ภาคตะวันออก การจัดตั้งศูนย์บริการนักท่องเที่ยวแบบเบ็ดเสร็จ บริเวณหน้าด่านชายแดนไทย-กัมพูชา ผลักดันการยกระดับท่าเรือคลองใหญ่ให้เป็นด่านสากลทางทะเล รองรับการเดินเรือท่องเที่ยวระหว่างประเทศ

ด้านการค้า การลงทุน และการค้าชายแดน เช่น การยกระดับด่านชายแดน จังหวัดตราด, จุดผ่อนปรนการค้าบ้านมะม่วง เป็นจุดผ่านแดนถาวร-ช่องทางธรรมชาติบ้านท่าเส้น เป็นต้น

ด้านการบริหารจัดการน้ำ เช่น การแก้ไขปัญหาภัยแล้งโดยใช้ระบบท่อ, โครงการพัฒนาเพิ่มแหล่งน้ำดิบ

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา, โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงแห่งที่ 3, โครงการเชื่อมต่อสถานีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ฯลฯ