ธนาคารโลกคาดดิจิทัลวอลเลตหนุนเศรษฐกิจไทย 1% แต่ทำขาดดุลการคลังเพิ่มเป็น 4-5%

เศรษฐกิจไทย
ภาพโดย Lillian SUWANRUMPHA / AFP

ธนาคารโลก (World Bank) คาดเงินดิจิทัลวอลเลตกระตุ้นเศรษฐกิจโตได้ 0.5-1.0% ในช่วง 2 ปี แต่เสี่ยงทำให้การขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้น 4-5% ของ GDP จากปีงบประมาณ 2566 ไทยขาดดุลการคลัง 4% ของ GDP

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ธนาคารโลก (World Bank) เปิดตัวรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยประจำเดือนธันวาคม 2566 ในรายงานฉบับนี้ ธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในปี 2567 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง 

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.5 ใน พ.ศ. 2566 เป็นร้อยละ 3.2 ใน พ.ศ. 2567 โดยมีการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก 

การส่งออกสินค้าคาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นท่ามกลางการค้าโลกที่ปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวก็ตาม การท่องเที่ยวคาดว่าจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดในช่วงกลางปี พ.ศ. 2568 จากการชะลอตัวของจีน 

ทั้งนี้ การประมาณการกรณีฐานยังไม่รวมโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ยังอยู่ในช่วงของการวางแผน แต่หากมีการดำเนินการจริง โครงการอาจช่วยเร่งการเติบโตในระยะสั้น ศักยภาพการเติบโตในช่วงปี พ.ศ. 2566-2573 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ซึ่งลดลงร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากประชากรสูงวัยที่มากขึ้น และการเติบโตของผลิตภาพที่ลดลง การชะลอตัวนี้ยังพบเห็นได้ในกลุ่มประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เนื่องจากศักยภาพการเติบโตโดยเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (EAP) คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4.8 ในช่วงที่เหลือของทศวรรษนี้ ลดลงจากร้อยละ 6.2 ในช่วงต้นทศวรรษถึงปี พ.ศ. 2564

ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะแข็งแกร่งขึ้นในปี 2567 และสนับสนุนเสถียรภาพด้านต่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 0.5 ของ GDP ในปีพ.ศ. 2566 เป็นร้อยละ 2.4 ของ GDP ในปีพ.ศ. 2567 โดยได้ปัจจัยสนับสนุนจากทั้งการค้าสินค้าและบริการ ตลอดจนใบเรียกเก็บเงินนำเข้าน้ำมันที่ลดลง คาดว่าจะส่งผลให้ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 43 ของ GDP ซึ่งเท่ากับการนำเข้าประมาณ 10 เดือน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.1 ในปี พ.ศ. 2567 อันเนื่องมาจากการอุดหนุนด้านพลังงานอย่างต่อเนื่องและราคาพลังงานโลกที่ลดลง การลดลงนี้มีสาเหตุมาจากราคาพลังงานที่ลดลง และการขยายมาตรการการอุดหนุนด้านพลังงาน ขณะที่ราคาอาหารและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะเพิ่มขึ้น คาดว่าในปี พ.ศ. 2567 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และยังคงอยู่ในช่วงที่ยอมรับได้ โดยสาเหตุจะมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำที่คาดการณ์ไว้ และผลผลิตที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับศักยภาพ

หนี้สาธารณะคาดว่าจะขึ้นสู่จุดสูงสุดที่ร้อยละ 62.8 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จาก Fiscal consolidation ที่ล่าช้ากว่าคาด ขณะที่การสร้างพื้นที่การคลังมีความจำเป็นในระยะกลางสำหรับการใช้จ่ายเพิ่มเติมที่มีความสำคัญ เนื่องจากความท้าทายที่เกิดจากสังคมสูงวัยและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการขยายมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาลใหม่และค่าใช้จ่ายทางภาษี คาดว่ารัฐบาลจะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.1 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และต่อเนื่องไปในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 การลงทุนภาครัฐจะสะดุดจากความล่าช้าในการประกาศใช้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 

“แม้คาดว่าหนี้สาธารณะจะยังคงอยู่ในระดับเสถียรภาพ แต่ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับแรงกดดันที่สูงขึ้นในการใช้จ่ายด้านสังคมและการลงทุนภาครัฐ ปัจจุบันประเทศไทยยังมีช่องทางในการเพิ่มรายได้จากภาษีและรักษาเสถียรภาพทางการคลัง ในขณะเดียวกัน ก็ตอบสนองทั้งแรงกดดันด้านการใช้จ่ายและความต้องการด้านการลงทุน” 

ธนาคารโลกมองว่า หากโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท (5 แสนล้านบาท หรือราวร้อยละ 2.7 ของ GDP) เปิดตัวในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจะเพิ่มสูงกว่าการคาดการณ์พื้นฐานอีกร้อยละ 0.5-1.0 ในช่วงระยะเวลา 2 ปี และการขาดดุลทางการคลังอาจเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4-5 ของ GDP ใกล้ระดับเฉลี่ยในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี พ.ศ. 2563-2565 หนี้สาธารณะอาจสูงถึงร้อยละ 65-66 ของ GDP 

ส่วนความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น และราคาน้ำมันที่สูงอาจทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากประเทศไทยมีการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานสูง 

“การก้าวไปสู่เส้นทางการเติบโตเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ จะสามารถช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำระดับภูมิภาคในด้านการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน โดยการกำหนดราคาคาร์บอน การยกเลิกมาตรการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงฟอสซิล ร่วมกับนโยบายเสริมอื่น ๆ สามารถใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้” ธนาคารโลกระบุในรายงาน

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเพิ่มเติมว่า ธนาคารโลกไม่ได้ระบุในรายงานว่าปัจจุบันไทยขาดดุลการคลังคิดเป็นสัดส่วนเท่าใดของ GDP แต่เพื่อให้เห็นผลกระทบที่แท้จริงของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตต่อฐานะการคลัง ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ตรวจสอบข้อมูลจากกระทรวงการคลังพบว่า ในปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565-กันยายน 2566) ไทยขาดดุลการคลัง 709,607 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.0 ของ GDP ขณะที่ธนาคารโลกระบุว่า โครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะทำให้การขาดดุลการคลังอาจเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4-5% ของ GDP