ADB เพิ่มคาดการณ์จีดีพีจีน-อินเดีย-เอเชีย ส่วน “ไทย” โดนหั่นลงทั้งปีนี้และปีหน้า

เศรษฐกิจไทย นำเข้า ส่งออก
เรือขนส่งสินค้าที่ท่าเรือกรุงเทพ/ แฟ้มภาพปี 2016 (ภาพโดย Athit Perawongmetha/ REUTERS)

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกปีนี้ขึ้นเป็นเติบโต 4.9% จากที่คาดการณ์ครั้งก่อน 4.7% ส่วนเศรษฐกิจไทยโดนปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตลงทั้งในปีนี้และปีหน้า ขณะที่จีนกับอินเดียได้รับการคาดการณ์ว่าจะโตได้ดีขึ้น

วันที่ 13 ธันวาคม 2566 ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) เผยแพร่รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มในภูมิภาคเอเชียประจำเดือนธันวาคม 2023 (Asian Development Outlook 2023) 

ในรายงานนี้ ADB ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิก เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศอันแข็งแกร่งช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนและอินเดียได้ดีเกินกว่าที่คาดไว้ 

แนวโน้มเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย  

รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มในภูมิภาคเอเชียประจำเดือนธันวาคม 2023 (Asian Development Outlook) ระบุว่า เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกได้รับการคาดการณ์ว่าจะเติบโต 4.9% ในปีนี้ เทียบกับที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่าจะโต 4.7% ส่วนแนวโน้มการคาดการณ์เศรษฐกิจของปี 2024 ยังคงอยู่ที่ 4.8%

นายอัลเบิร์ต พาร์ค (Albert Park) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำ ADB กล่าวว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แม้จะมีสภาพแวดล้อมโลกที่ท้าทายก็ตาม 

“อัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคก็ค่อย ๆ กลับสู่ในระดับที่ควบคุมได้ ถึงกระนั้น ความเสี่ยงก็ยังคงมีอยู่ ตั้งแต่อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่สูงขึ้นไปจนถึงเหตุการณ์ด้านสภาพภูมิอากาศ เช่น เอลนีโญ ซึ่งรัฐบาลในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกนั้นจำเป็นต้องระมัดระวัง เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจของตนนั้นจะมีความยืดหยุ่น-ทนทาน พร้อมไปกับการเติบโตที่ยั่งยืน” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำ ADB กล่าว

ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกปี 2023 นี้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 3.5% จากการคาดการณ์ก่อนหน้าอยู่ที่ 3.6% และสำหรับในปี 2024 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.6% จากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้อยู่ที่ 3.5% 

จีน-อินเดียแนวโน้มดีขึ้น ชดเชยความตกต่ำของอาเซียน 

เศรษฐกิจจีนคาดว่าจะขยายตัว 5.2% ในปีนี้ เทียบกับที่เคยคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าในเดือนกันยายนว่าจะโตที่ 4.9% หลังจากการบริโภคภาคครัวเรือนและการลงทุนภาครัฐช่วยกระตุ้นการเติบโตในไตรมาสที่ 3 

ส่วนแนวโน้มการเติบโตของอินเดียในปีนี้ ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.7% จากคาดการณ์ครั้งก่อนหน้านี้ 6.3% ตามการขยายตัวที่รวดเร็วกว่าที่คาดไว้ในเดือนกรกฎาคม-กันยายน โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักในภาคอุตสาหกรรม 

ทั้งนี้ การยกระดับของเศรษฐกิจจีนและอินเดียช่วยชดเชยการประมาณการเศรษฐกิจที่ลดต่ำลงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อันเกิดจากผลการดำเนินงานที่ซบเซาในภาคการผลิตได้เป็นอย่างดี

สำหรับแนวโน้มการเติบโตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้ ถูกปรับลดลงมาอยู่ที่ 4.3% จากก่อนหน้านี้คาดว่าจะโต 4.6% ท่ามกลางความต้องการส่งออกของภาคอุตสาหกรรมที่อ่อนแอ 

ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคคอเคซัสและเอเชียกลางในปีนี้ เอดีบีได้ปรับการคาดการณ์สูงขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่การคาดการณ์ของเศรษฐกิจในแปซิฟิกนั้นยังคงเดิม

ไทยโดนหั่นตัวเลขคาดการณ์ทั้งปีนี้และปีหน้า

สำหรับประเทศไทย ADB ได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2023 ลงมาอยู่ที่ 2.5% จากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนกันยายนที่  3.5% โดยปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโดนหั่นคาดการณ์การเติบโตลง คือ จากการส่งออกที่หดตัว การใช้จ่ายภาครัฐลดต่ำลง และการลงทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเบาบาง 

ส่วนคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2024 ก็ถูก ADB ปรับลดลงด้วย จากที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนกันยายนว่าจะโต 3.7% ปรับลดลงเป็นโต 3.3% เป็นผลเนื่องมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง

เตือน 2 ความเสี่ยงสำคัญ 

รายงานของ ADB ระบุว่า ความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในสหรัฐอเมริกาและประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อความไม่มีเสถียรภาพทางการเงินของเศรษฐกิจที่อ่อนไหวในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจที่มีหนี้สูง นอกจากนั้น การหยุดชะงักของอุปทานที่อาจเกิดขึ้นจากสภาพอากาศเอลนีโญ หรือการรุกรานยูเครนโดยรัสเซียนั้นอาจทำให้เกิดอัตราเงินเฟ้อขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอาหารและภาคพลังงาน

“ADB มุ่งมั่นในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ยังคงพยายามในการขจัดปัญหาความยากจนต่อไป…” ADB กล่าว