การเมืองมีเสถียรภาพ หนุนความเชื่อมั่นผู้บริโภค ธ.ค. 2566 ฟื้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5

วาทิตร รักษ์ธรรม

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ธ.ค. 2566 อยู่ที่ระดับ 62.0 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สูงสุดในรอบ 46 เดือน รับปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจฟื้น-การเมืองมีเสถียรภาพ รวมไปถึงนโยบายลดค่าครองชีพ

วันที่ 11 มกราคม 2567 นายวาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน ธ.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 62.0 ปรับตัวดีขึ้นจากในเดือน พ.ย.ที่ 60.9 เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 46 เดือน นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 63 และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ทุกรายการ

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 56.0 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมอยู่ที่ระดับ 58.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 71.3

ทั้งนี้ ปัจจัยบวกที่มีผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ได้แก่ ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาล และรัฐบาลจัดทำนโยบายลดค่าครองชีพ โดยลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน ตลอดจนมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ นอกจากนี้ ผู้บริโภคเห็นว่าการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในอนาคต หลังจัดตั้งรัฐบาลสลายขั้วการเมืองต่าง ๆ ที่มีความเห็นแตกต่างกันโดยความขัดแย้งทางการเมืองน่าจะคลี่คลายลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่น ว่าเศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาฟื้นตัวได้หลังมีการจัดตั้งรัฐบาล

ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อบานปลาย ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทย ทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติที่ระดับ 100 แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาพลังงานและค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง