วันวาเลนไทน์ ปี 2567 เงินสะพัด 2.5 พันล้าน ‘ร้านอาหาร-ห้างสรรพสินค้า’ ยอดพุ่ง

นางสาวพรพรรณ แสงสีทอง

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจเผยผลสำรวจการใช้จ่ายช่วงวันวาเลนไทน์ โดย 34.9% ให้ความสำคัญมาก ชี้คนโสดจะบอกรักพ่อ-แม่ และส่วนใหญ่ 73.6% จะออกไปฉลอง คาดจะเงินสะพัดปีนี้ 2,518 ล้านบาท

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาวพรพรรณ แสงสีทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจทัศนคติ พฤติกรรม และการใช้จ่ายของผู้บริโภคช่วงวันวาเลนไทน์ ระหว่างวันที่ 29 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ 2567 จำนวนตัวอย่าง 1,250 ตัวอย่าง ทั่วประเทศ

โดยความคิดเห็นเกี่ยวกับวันวาเลนไทน์ส่วนใหญ่ 34.9% ให้ความสำคัญมาก รองลงมา 20.9% ไม่สำคัญเลย 8% สำคัญน้อยมาก คาดว่าปีนี้เงินสะพัดในช่วงวันวาเลนไทน์ 2,518 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4%

สำหรับพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงวันวาเลนไทน์ปี 2567 ส่วน 73.6% บอกว่าจะไปฉลอง มีเพียง 26.4% บอกว่าไม่ฉลอง และสถานที่ที่จะไปฉลองวาเลนไทน์ส่วนใหญ่ 41.6% เป็นร้านอาหาร 24.7% เป็นห้างสรรพสินค้า 14.9% บ้านตนเอง และยังพบว่า 0.5% ไปฉลองที่สวนสาธารณะ

ในวันวาเลนไทน์คนส่วนใหญ่อยากมอบความรักให้กับพ่อแม่ถึง 30.7% คนส่วนใหญ่ที่ตอบจะเป็นคนที่ยังไม่มีแฟน และ 29.5% มอบให้กับคนรัก ส่วนใหญ่กลุ่มคนที่ตอบจะอยู่ใน กลุ่ม GEN Y และ GEN X

นอกจากนี้ ยังสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับบรรยากาศวันวาเลนไทน์ในปี 2567 เทียบกับปีที่แล้ว ส่วนใหญ่ 41.6% บอกว่าบรรยากาศเหมือนเดิม รองลงมา 36.6% บอกว่าคึกคัก เพราะคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น มีสถานที่เที่ยวมากขึ้น ราคาสินค้าถูกลง ผู้ปกครองไม่อยู่ และ 21.8% บอกว่าคึกคักน้อยลง เพราะเศรษฐกิจแย่ รายได้ลดลง ราคาสินค้าแพงขึ้น มีหนี้มากขึ้น

ส่วนการเปลี่ยนแปลงการใช้จ่ายในช่วงวันวาเลนไทน์ปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 2,125 บาทต่อคน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 1,848 บาทต่อคน สาเหตุที่การใช้จ่ายแพงขึ้น เพราะสินค้าบริการแพงขึ้น ค่าของชีพสูง และเป็นช่วงเทศกาล  ที่มาของการใช้เงินส่วนใหญ่ยังเป็นเงินเดือน

นางสาวพรพรรณกล่าวว่า ศูนย์พยากรณ์ยังสำรวจความรุนแรงของปัญหาเด็กและเยาวชนเมื่อเทียบในช่วงปัจจุบันกับ 3 ปีที่ผ่านมา มีการสำรวจพบว่าการติดยาเสพติดเนื่องจากเข้าถึงง่าย ติดยาเสพติดตั้งแต่อายุยังน้อย เพิ่มขึ้นถึง 82% ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา 78.8% ถูกล่อลวงทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก 77.5% แหล่งมั่วสุมมีจำนวนมากขึ้นและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น 74.3%

นอกจากนี้ ความกังวลต่อปัญหาเด็กและเยาวชนเมื่อเทียบในช่วงปัจจุบันกับ 3 ปีที่แล้ว พบกังวลการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหากังวลมากถึง 75% การติดยาเสพติด 74.4% ถูกล่อลวงทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก 58.5% การยกพวกตีกัน 58.3% แหล่งมั่วสุมมีจำนวนมากขึ้นและเข้าถึงง่าย 55.8% เป็นต้น