เทียบสิทธิประโยชน์ EEC-BOI วัดใจ “เอรา วัน” ลุยไฮสปีด 3 สนามบิน

ไฮสปีด
แฟ้มภาพ

เป้าหมายของการดึงเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในประเทศ นอกจากความพร้อมในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลไทยได้เตรียมรองรับไว้แล้วนั้น อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี และด้านอื่น ๆ ที่เป็นแรงจูงใจ สามารถกระตุ้นการลงทุน และเร่งการตัดสินใจให้เร็วขึ้น

สำหรับประเด็นร้อน “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” ซึ่งผู้ชนะการประมูล “บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด” ที่อยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์ต่อ BOI เพื่อขอขยายเวลาออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้

วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” จึงได้รวบรวมสิทธิประโยชน์ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้เห็นกันว่าสิทธิประโยชน์ของใครตรงใจและต่างกันอย่างไร หากบริษัทเอเชีย เอรา วันฯ ต้องเลือกสิทธิประโยชน์ที่ดีที่สุด

เจรจาแบบรายต่อราย

นักลงทุนที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve แน่นอนว่าต้องเป็นผู้ประกอบการที่พิเศษประเทศต้องการ ความพิเศษดังกล่าวจำเป็นที่ต้องใช้วิธีที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นการเจรจาแบบรายต่อราย

ในการเจรจาดังกล่าว เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (เลขาฯ EEC) มีอำนาจจะหารือถึงแผนการลงทุน เงื่อนไข สิ่งที่ประเทศไทยจะได้รับ

การสนับสนุนของแต่ละฝ่ายที่มีให้กัน เช่น แลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ความรู้ การจ้างงาน การใช้วัตถุดิบในประเทศที่เป็นคนไทยผลิตเท่านั้น การดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม มาตรการเยียวยาต่าง ๆ จำเป็นต้องเข้มข้นและพิเศษเหนือกว่าการอนุมัติการลงทุนปกติ นี่คือสิทธิประโยชน์แรกที่ได้

EEC ได้อำนาจออกใบอนุญาตจากกฎหมาย 14 ฉบับ

ใน พ.ร.บ.นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวัน 2561 ระบุชัดเจนว่า ในพื้นที่ EEC ซึ่งประกอบไปด้วย 3 จังหวัด ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา นอกจากในการแบ่งเขตพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญแล้ว ยังมีการกำหนด “เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ” เพื่อวัตถุประสงค์ในการผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรม

เป็นสิทธิประโยชน์ในลำดับถัดมาคือ ผู้ประกอบการ นักลงทุนที่ลงทุนในเขตดังกล่าวจะได้รับการอำนวยความสะดวกในเรื่องของการอนุมัติ อนุญาต ความเห็นชอบ รวมถึงการจดทะเบียน

ภายใต้กฎหมาย 14 ฉบับ เช่น กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองให้คนต่างด้าวอยู่ต่อในราชอาณาจักร กฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยโรงงาน กฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน ซึ่งเป็นการบริการแบบจุดเดียวจบ (One Stop Service) โดยไม่ต้องติดต่อกับทั้ง 14 หน่วยงานนั้นอีก

ยกเว้นภาษีสูงสุด 15 ปี

สิทธิประโยชน์ถัดมา ผู้ประกอบการ นักลงทุนที่ลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) และกิจการที่เกี่ยวเนื่องในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษจะได้สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพื่อการประกอบกิจการ หรือห้องชุดเพื่อการประกอบกิจการ สิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักร สิทธิในการที่จะได้รับยกเว้นหรือลดหยอนภาษีอากร สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน สิทธิประโยชน์ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วนักลงทุนมักจะให้ความสนใจในเรื่องของสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี นั่นคือการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งจะยืนพื้นที่ 8 ปีไปเลย และจะบวกเพิ่มเมื่อเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) เป็นกิจการที่สนับสนุนหรือซัพพรายเชนให้กับอุตสาหกรรมหลัก หรือลงทุนใน 37 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษที่ได้ประกาศไว้ แล้วแต่เงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งจะบวกเพิ่มได้สูงสุดอีก 5 ปี รวมแล้วจะได้รับการยกเว้นภาษีที่ 15 ปี

EEC Visa เริ่ม 1 ม.ค. 67

และใช่ว่าการลงทุนจะบังคับให้ปักหมุดไว้เพียงแค่ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเท่านั้น สำหรับพื้นที่อื่นที่มีศักยภาพ ผู้ประกอบการ นักลงทุนสามารถลงทุนได้เช่นกัน และนอกจากนี้ ยังมีสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่สำคัญไม่แพ้กัน เช่น การตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (EEC Visa)

โดยจะได้สิทธิ Work Permit อัตโนมัติ เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ อัตราคงที่ 17% อายุ VISA สูงสุด 10 ปี ตามระยะเวลาตามสัญญาจ้าง ใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง สามารถรายงานตัวผ่านระบบออนไลน์ ใช้ช่องทางพิเศษ (Fast Track) ณ สนามบินนานาชาติทั่วประเทศไทย โดยเริ่มขอรับสิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

BOI ให้ต่างชาติเข้ามาศึกษาลู่ทางลงทุนได้ก่อน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นหน่วยงานสำคัญที่มีบทบาทหลักในการพิจารณาและให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะมีกฎหมาย 2 ฉบับคือ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน 2560 และ พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2560

ซึ่งรู้หรือไม่ว่ามีสิทธิ “อนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาศึกษาลู่ทางการลงทุนได้ก่อน” หรือหากดูแล้วมีแนวโน้มการขยายการลงทุน มีผลประกอบการดี เป็นประโยชน์ต่อการลงทุนก็จะขยายระยะเวลาการพำนักในราชอาณาจักรให้ด้วย

ยกเว้นภาษีตามประเภทกิจการ

แต่สิทธิประโยชน์หลักจากนี้ที่นักลงทุนจะได้แบบเต็ม ๆ คือ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามประเภทกิจการที่บีโอไอได้จัดหมวดหมู่ไว้ โดยแบ่งเป็น 6 กลุ่ม โดย

  • A1+ ยกเว้นภาษี 10-13 ปี (ไม่จำกัดวงเงิน+สิทธิอื่นที่ไม่ใช่ภาษี)
  • A1 ยกเว้นภาษี 8 ปี (ไม่จำกัดวงเงิน+สิทธิอื่นที่ไม่ใช่ภาษี)
  • A2 ยกเว้นภาษี 8 ปี (บวกสิทธิอื่นที่ไม่ใช่ภาษี)
  • A3 ยกเว้นภาษี 5 ปี (บวกสิทธิอื่นที่ไม่ใช่ภาษี)
  • A4 ยกเว้นภาษี 3 ปี (บวกสิทธิอื่นที่ไม่ใช่ภาษี)
  • B ได้เพียงยกเว้นอากรเครื่องจักร วัตถุดิบ ของนำเข้าเพื่อวิจัย และสิทธิอื่นที่ไม่ใช่ภาษี เช่นกรรมสิทธิ์ที่ดิน

ซึ่งอธิบายเพิ่มเติมได้ว่า สิทธิประโยชน์ทางภาษีคือ ลดหย่อนอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร ลดหย่อนอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนา ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินปันผล

ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ให้หักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปาเป็น 2 เท่า ให้หักค่าติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกไม่เกิน 25% ของเงินลงทุน ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นสำหรับการผลิตเพื่อการส่งออก

ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษีคือ การอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาศึกษาลู่ทางการลงทุนได้ก่อนตามที่กล่าวมาในข้างต้น การอนุญาตให้นำช่างฝีมือและผู้ชำนาญการเข้ามาทำงานในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน อนุญาตให้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน อนุญาตให้ส่งออกซึ่งเงินตราต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน อย่างการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ซึ่งจะได้วงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 200% ของเงินลงทุน/ค่าใช้จ่าย

ยังรวมไปถึงสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามพื้นที่ อย่างลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม เขต EEC เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) หรือจะเป็นพื้นที่ 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่ำ

พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถเว้นภาษี 15 ปี

นอกจากนี้ BOI ยังมีเครื่องมือพิเศษอีกคือ พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2560 ที่จะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 15 ปี เงินสนับสนุนจากกองทุน 10,000 ล้านบาท

เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือการพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านของกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งการสนับสนุนเงินดังกล่าวจะต้องมีการกำหนดเกณฑ์ รวมถึงรายละเอียดแต่ละโครงการอย่างเหมาะสม และเกิดความคุ้มค่ากับเงินที่สนับสนุนที่สุด มีประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมไทยและประเทศไทย

ตารางเทียบสิทธิประโยชน์ EEC-BOI