สินนท์ ว่องกุศลกิจ CEO ใหม่ BANPU ผู้กุมธุรกิจ 1.3 หมื่นล้านเหรียญ เป็นใคร

สินนท์ ว่องกุศลกิจ

บอร์ด BANPU ตั้ง “สินนท์ ว่องกุศลกิจ” เป็น CEO แทน “สมฤดี ชัยมงคล” มีผลตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. 2567 บริหารธุรกิจสินทรัพย์ 1.3 หมื่นล้าน พร้อมประกาศจ่ายปันผลครึ่งหลังปี’66 ที่ 0.20 บาท กำหนดจ่าย 30 เม.ย. 67 หลังกวาดรายได้ 5.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ กำไรสุทธิ 372 ล้านเหรียญสหรัฐ

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติแต่งตั้ง นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ เป็น ประธานเจ้าที่บริหาร แทน นางสมฤดี ชัยมงคล มีผลตั้งแต่ 2 เมษายน 2567

รวมถึงอนุมัติจ่ายเงินปันผลงวดครึ่งปีหลัง 0.20 บาท กำหนดจ่ายเงินปันผลวันที่ 30 เม.ย. 2567 รวมทั้งปี 2566 จ่ายเงินปันผลรวม 0.45 บาท หลังจากจ่ายไปแล้ว 0.25 บาท เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566

ผลประกอบการปี 2566

การรับไม้ต่อครั้งนี้นับว่าเป็นภารกิจสำคัญสำหรับ CEO คนใหม่ที่จะต้องบริหารธุรกิจที่มีสินทรัพย์มูลค่า 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยล่าสุด ปี 2566 มีรายได้จากการขายรวม จำนวน 5,159 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 179,619 ล้าน บาท) ลดลงจำนวน 2,534 ล้านเหรียญสหรัฐจากปีก่อน โดยรายได้ลดลงจากธุรกิจ ถ่านหิน 1,880 ล้านเหรียญสหรัฐ และธุรกิจก๊าซ 923 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่รายได้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจไฟฟ้าและไอน้ำ 186 ล้านเหรียญสหรัฐและธุรกิจอื่น ๆ 83 ล้าน เหรียญสหรัฐ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. รายได้จากธุรกิจถ่านหิน จำนวน 3,310 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 64 ของรายได้รวม โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • แหล่งผลิตในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย 2,386 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • แหล่งผลิตในประเทศออสเตรเลีย 805 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • ธุรกิจซื้อขายถ่านหิน 119 ล้านเหรียญสหรัฐ

2. รายได้จากธุรกิจก๊าซในประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 735 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของรายได้รวม

3. รายได้จากธุรกิจไฟฟ้าและไอน้ำ จำนวน 932 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น ร้อยละ 18 ของรายได้รวม เป็นรายได้จากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในสาธารณรัฐประชาชนจีน โรงไฟฟ้าพลังงาน แสงอาทิตย์ในประเทศออสเตรเลีย โรงไฟฟ้าพลังงานลมและโรงไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนามและโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติใน ประเทศสหรัฐอเมริกา

4. รายได้จากธุรกิจอื่น ๆ จำนวน 182 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 4 ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า (Energy Trading) ในประเทศญี่ปุ่น และธุรกิจผลิตและติดตั้งระบบแบตเตอรี่ในประเทศสิงคโปร์

ยังคงรักษา ‘กำไร’ ได้

โดยตลอดปี 2566 ทั่วโลกเผชิญกับสภาวะความผันผวนของตลาดพลังงาน จากปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่ออุปสงค์และอุปทานเกิดการปรับตัวเพื่อเข้าสู่สภาวะปกติ อีกทั้งการชะลอตัวของความต้องการใช้พลังงานส่งผลให้ราคาถ่านหินและก๊าซธรรมชาติปรับตัวลง เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ดังกล่าว

บ้านปูดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและบริหารจัดการต้นทุนอย่างรัดกุม มาตรการเหล่านี้ส่งผลให้บ้านปูสามารถรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงในการสร้างผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง

โดยยังคงกำไรสุทธิสำหรับปี 2566 จำนวน 160 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ บ้านปูมีความมุ่งมั่นในการดำเนินมาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลดต้นทุนแต่ยังคงประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับตลาดพลังงานที่มีความเปลี่ยนแปลงได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง

ส่วนรายงานกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) รวม 1,562 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดย EBITDA แบ่งตามธุรกิจ เป็นดังนี้

  • ธุรกิจถ่านหิน จำนวน 914 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลงร้อยละ 66 เมื่อเทียบกับปี ก่อนหน้า)
  • ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ จำนวน 162 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลงร้อยละ 85 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า)
  • ธุรกิจไฟฟ้า จำนวน 482 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญร้อยละ 108 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า)
  • ธุรกิจเทคโนโลยี พลังงาน จำนวน 4 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับธุรกิจแหล่งพลังงาน (Energy Resources) บ้านปูให้ความสำคัญต่อความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน การเพิ่มประสิทธิภาพตลอดกระบวนการทำงาน เพื่อตอบสนองต่อแนวโน้มของตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว

ส่องธุรกิจถ่านหิน

สำหรับธุรกิจถ่านหิน รายงานราคาขายถ่านหินรวม 110.70 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงร้อยละ 34 เทียบกับปีก่อนหน้า ปริมาณการขายรวมจำนวน 29.90 ล้านตัน ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และมีอัตรากำไรขั้นต้นในระดับที่ดีที่ร้อยละ 34

เหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย มีราคาขายเฉลี่ย 113.92 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงร้อยละ 41 มีปริมาณการขาย จำนวน 20.95 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อันเป็นผลจากสภาพอากาศที่แห้งมีปริมาณฝนตกน้อยจึงเอื้อต่อความสามารถในการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้จากมาตรการลดต้นทุนส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลเหลือ 61.97 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จึงมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ยังอยู่ในระดับสูงในอัตราร้อยละ 46

เหมืองถ่านหินในประเทศออสเตรเลีย มีราคาขายเฉลี่ย 173.56 เหรียญออสเตรเลียต่อตัน ลดลงร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับปีก่อน อันประกอบด้วยราคาขายตลาดส่งออกที่ยังอยู่ในระดับสูงเฉลี่ย 296.38 เหรียญออสเตรเลียต่อตัน

โดยส่วนที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญคือราคาขายในประเทศอันเป็นผลจากการเจรจาสัญญาฉบับใหม่ซึ่งมีผลทำให้ราคาขายในประเทศปรับเพิ่มขึ้นเป็น 123.39 เหรียญออสเตรเลียต่อตัน คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 43 เทียบกับราคา 86.41 เหรียญออสเตรเลียต่อตันในปีที่ผ่านมา ปริมาณการขายจํานวน 6.98 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

เนื่องจากยังคงเผชิญกับความท้าทายจากสภาพทางธรณีวิทยา อีกทั้งผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อส่งผลต่อการเพิ่มขึ้น ของต้นทุนด้านแรงงาน จึงมีต้นทุนการผลิตรวมเพิ่มขึ้นเป็น 172.47 เหรียญออสเตรเลียต่อตัน ทั้งนี้ได้มีการดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิต โดยมีเป้าหมายให้การผลิตกลับมาอยู่ในระดับที่ดีขึ้นในปีต่อ ๆ ไป

เหมืองถ่านหินในประเทศจีน รายงานส่วนแบ่งกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่องจำนวน 154.35 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยได้อานิสงส์ จากราคาถ่านหินในประเทศจีนยังคงอยู่ในระดับสูง สะท้อนความต้องการอย่างต่อเนื่องจากทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน

ก๊าซธรรมชาติ ขายพุ่ง 12%

ธุรกิจก๊าซธรรมชาติในสหรัฐ รายงานปริมาณการขายรวม 313.73 พันล้านลูกบาศก์ฟุต (Bcf) เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า มีราคาขายท้องถิ่นเฉลี่ยอยู่ที่ 2.41 เหรียญสหรัฐต่อพันลูกบาศก์ฟุต (Mcf) ลดลงร้อยละ 58 เมื่อ เทียบกับปีก่อนหน้า โดยราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลง เกิดจากอัตราการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศชะลอตัวลง อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากการปิดซ่อมโรงงานส่งออก Freeport LNG ในรัฐเทกซัส ล่าช้าออกไปกว่าที่คาด ส่งผลให้ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในประเทศอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ บ้านปูได้มีการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานและการผลิตให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เน้นบริหารจัดการต้นทุนอย่างรัดกุม เพื่อคงความสามารถในสร้างกระแสเงินสดได้อย่างต่อเนื่อง

ธุรกิจผลิตไฟฟ้า

ธุรกิจผลิตไฟฟ้า (Energy Generation) รายงานผลการดำเนินงานที่ดี อันเป็นผลจากการรักษาประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องมั่นคง โดยโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple | และ Temple II ในสหรัฐ รายงานผลการดำเนินงานที่ดีจากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งยังได้อานิสงส์จากราคารับซื้อไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น ในช่วงวิกฤตคลื่นความร้อนในรัฐเทกซัส จึงรายงานกำไรจากการดำเนินงาน 73 ล้านเหรียญสหรัฐ

โรงไฟฟ้า HPC รายงานส่วนแบ่งกำไรจำนวน 87.53 ล้านเหรียญสหรัฐ มีค่าความพร้อมจ่ายหรือค่า EAF ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 85

โรงไฟฟ้า BLCP รายงานส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จำนวน 30.20 ล้านเหรียญสหรัฐ อันเป็นผลมาจากการเดินเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีค่าความพร้อมจ่ายหรือ EAF ร้อยละ 88 อีกทั้งยังได้จำหน่ายกระแสไฟฟ้าเพิ่มเติมจากจำนวนชั่วโมงการผลิตตามสัญญาได้ครบถ้วนแล้ว หรือ outside CAH จํานวน 861 ชั่วโมง

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในประเทศจีนรายงานผลกำไรจากการดำเนินงานจำนวน 45 ล้านหยวน จากมาตรการลดต้นทุนและการสนับสนุนจากภาครัฐในการควบคุมราคาถ่านหินสำหรับโรงไฟฟ้าในประเทศ จึงมีต้นทุนเฉลี่ยที่ลดลงเหลือ 1,035 หยวนต่อตัน คิดเป็นลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ซึ่งโรงไฟฟ้าชานซีลูกวง (SLG) ได้รับอานิสงส์จากนโยบายดังกล่าวเช่นกัน จึงรายงานส่วนแบ่งกำไรที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจำนวน 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่โรงไฟฟ้า Nakoso ในประเทศญี่ปุ่น รายงานส่วนแบ่งขาดทุนจำนวน 3.11 ล้านเหรียญสหรัฐ อันเป็นผลมาจาก การปิดซ่อมบำรุงตามแผนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและเสถียรภาพของโรงไฟฟ้าในระยะยาว

ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน 4 ประเทศ

สำหรับธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในปีที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ประเทศจีนรายงานกำไรจำนวน 49 ล้านหยวน โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ประเทศญี่ปุ่นรับรู้เงินปันผล (TK Dividend) รวม 1,825 ล้านเยน โรงไฟฟ้าพลังงาน แสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศเวียดนาม รายงานผลขาดทุนจำนวน 0.1 ล้านเหรียญสหรัฐ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ประเทศออสเตรเลีย รายงานผลขาดทุนจำนวน 4.1 ล้านเหรียญออสเตรเลีย

ลุยธุรกิจแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนอีวี

ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน (Energy Technology) ได้มุ่งเน้นการขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมมากขึ้น มุ่งเน้นการเติบโตธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานโดยขยายการลงทุนร่วมกับพันธมิตรเพื่อเสริมสร้างห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain)

อาทิ บ้านปู เน็กซ์ ได้เข้าซื้อหุ้น ร้อยละ 40 ในบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี มีกำลังการผลิตราว 2 จิกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่งจะเริ่มส่งมอบแบตเตอรี่ในช่วงไตรมาสแรกปี 2567 การเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท ดูราเพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็น ร้อยละ 65.1

ซึ่งปัจจุบันได้มีการร่วมทุนเพื่อก่อสร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ที่จังหวัดชลบุรี ขนาดกำลังการผลิต 1 จิกะวัตต์ชั่วโมง โดยคาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในครึ่งหลังของปี 2567

นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในอีกหลายบริษัทชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจกักเก็บพลังงาน เช่น การลงทุนเพื่อถือหุ้น ร้อยละ 4.51 ในบริษัท Green Li-ion ในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน การลงทุนเพื่อถือหุ้นร้อยละ 15.91 ในบริษัท Oyika สตาร์ตอัพในสิงคโปร์ ผู้ให้บริการโซลูชั่นสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

ทั้งยังการพัฒนาโครงการรูปแบบใหม่ ๆ เช่น การพัฒนาแบตเตอรี่ฟาร์ม Iwate Tono ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีกำลังการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่รวม 58 เมกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้างและจะเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2568

นอกจากนี้ในด้านการให้บริการระบบจัดการพลังงาน (Smart Energy Management) บริษัท บี เอ็นเอสพี สมาร์ท เทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บ้านปู เน็กซ์ กับ เอสพี กรุ๊ป ผู้ให้บริการระบบสาธารณูปโภค ด้านพลังงานแห่งชาติในสิงคโปร์และเอเชีย-แปซิฟิก ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินการออกแบบ พัฒนาและบริหารจัดการ ระบบผลิตความเย็นจากส่วนกลาง (District Cooling System) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซนซี คาดว่าจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2567

เดินหน้ากองทุน CVC บ้านปู

นอกจากนี้ บ้านปูได้จัดตั้ง หน่วยงาน Corporate Venture Capital (CVC) เพื่อดูแลการลงทุนในธุรกิจ New S-curve เพื่อเร่งการเติบโตตามกลยุทธ์ Greener & Smarter และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจที่มีอยู่และระบบนิเวศของกลุ่มบ้านปู

โดยเน้นการผสานคุณค่าร่วมให้กับธุรกิจที่มีอยู่เดิม (Synergistic Value) ให้น้ำหนักกับการเลือกธุรกิจที่มี ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี มีความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว และสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งพัฒนาการเหล่านี้จากทุกหน่วยธุรกิจสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบ้านปู ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็นผู้ส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืน

ประวัติ “สินนท์ ว่องกุศลกิจ”

สำหรับว่าที่ซีอีโอใหม่ นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ เป็นบุตรชายของนายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้ง BANPU ซึ่งปัจจุบันนายสินนท์ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด (Banpu NEXT) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบ้านปูที่ดำเนินธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงาน

ประวัติการศึกษา สำเร็จการศึกษาหลักสูตรปริญญาโท Global Management – pathway in Finance & Business Development มหาวิทยาลัย Regent’s University และหลักสูตรปริญญาตรี Business and Marketing Management มหาวิทยาลัย Oxford Brookes University ประเทศอังกฤษ

ส่วนประสบการณ์ทำงานในกลุ่มบริษัทบ้านปู ประกอบด้วย

2565 – ปัจจุบัน : Head of Renewable and Energy Technology Business บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)
2565 – ปัจจุบัน : ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด
2565 – ปัจจุบัน : กรรมการ บริษัท บ้านปู เน็กซ์ กรีน เอนเนอร์จี จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท บ้านปู โคล เซลส์ จำกัด)
2565 – ปัจจุบัน : กรรมการ BPIN Investment Company Limited
2565 – ปัจจุบัน : กรรมการ BKV Corporation
2565 – ปัจจุบัน : กรรมการ Banpu Japan K.K.
2565 – ปัจจุบัน : กรรมการ Banpu Ventures Pte. Ltd.
2565 – ปัจจุบัน : Executive Manager, Banpu Power Trading G.K.
2563-2565 : ผู้จัดการฝ่าย Project Management Office บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)
2557-2563 : Finance Analyst – Corporate Finance บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

นอกจากนี้ยังมี บริษัทอื่น ๆ อาทิ

2565-2565 : กรรมการ PT. Berkah Manis Makmur
2565-2565 : กรรมการ PT. Rejoso Manis Indo