UAC โชว์รายได้ปี’66 แตะ 1,589.78 ล้านบาท เคาะจ่ายปันผลเพิ่ม 0.10 บาท

บมจ.ยูเอซี โกลบอล

บมจ.ยูเอซี โกลบอล (UAC) ประกาศผลการดำเนินงานปี 2566 โกยรายได้ 1,589.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.13% (YOY) บอร์ดไฟเขียวปันผลเพิ่ม 0.10 บาท/หุ้น จ่ายปันผล 29 เม.ย. 2567 พร้อมประกาศเดินหน้า COD โครงการโรงไฟฟ้าภูผาม่านไตรมาส 1/67

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC รายงานผลการดำเนินงานงวดปี 2566 ว่า ภาพรวมธุรกิจในปี 2566 ยังเจอแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ปัจจัยอัตราเงินเฟ้อ และการปรับสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้บริษัทมุ่งให้ความสำคัญกับการรักษาสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ควบคุมต้นทุน การผลิตและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ผลการดำเนินงานปี 2566 มีรายได้จากการขายและบริการเติบโตอย่างโดดเด่นแตะที่ระดับ 1,589.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 309.03 ล้านบาท (YOY) หรือ 24.13% จากปีก่อน และมีกำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท และ EBITDA จำนวน 278.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 252.55% และ 448.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84.94% จากปีก่อน

สำหรับผลการดำเนินงานเติบโตอย่างโดดเด่น มาจากการรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุน กำไรจากการเปลี่ยนสถานะเงินลงทุน กำไรจากการขายสินทรัพย์ รวมทั้งสิ้น 129.34 ล้านบาท รวมถึงการได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในบริษัทร่วมอย่างต่อเนื่อง จำนวน 87.84 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับเงินปันผลจากบริษัทร่วม จำนวน 57.33 ล้านบาท ทำให้กระแสเงินสด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 330.20 ล้านบาท และยังสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) ที่ 1.04 เท่า ตามนโยบายทางการเงินของบริษัทที่ไม่เกิน 2 เท่า

นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปี 2566 ผลการดำเนินงานใน 4 กลุ่มธุรกิจของบริษัทมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ (Trading) มีรายได้รวมทั้งสิ้น 1,329.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.40% (YOY) จากยอดขายในกลุ่ม Energy เพิ่มขึ้นจำนวน 287.58 ล้านบาท หลังจากปัญหาการขนส่งจาก Principle คลี่คลาย และยังมี Margin ที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้

แม้ว่ากลุ่ม Industrial ยอดขายลดลง 114.11 ล้านบาท จากการขายสินค้าผ่าน UAC จำนวน 38.54 ล้านบาท และบริษัท ยูเอซี เทรดดิ้ง โซลูชั่นส์ จำกัด อีก 163.48 ล้านบาท

กลุ่มธุรกิจ Manufacturing-energy มีรายได้รวมทั้งสิ้น 195.25 ล้านบาท ลดลง 2.60 ล้านบาท โรงงานต่าง ๆ ยังคงทำการผลิตต่อเนื่องตามเป้าหมาย

กลุ่มธุรกิจ Manufacturing-petroleum มีรายได้รวมทั้งสิ้น 64.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 50.81 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 363.45% (YOY) เนื่องจากแหล่งบูรพา (L11/43) มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นจากการติดตั้ง Beam Pump จำนวน 1 ชุด และอีก 2 ชุด อยู่ในระหว่างติดตั้ง และคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1/2567 เพื่อเพิ่มการผลิตปิโตรเลียมให้ได้วันละ 300 BBL/D

กลุ่มธุรกิจ Manufacturing-chemicals ดำเนินกิจการโดยบริษัท ยูเอซี แอ็ดวานซ์ โพลิเมอร์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด (UAPC) (บริษัทร่วม) มีส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้น จำนวน 1.80 ล้านบาท และกำไรสำหรับงวดจากการดำเนินงานที่ยกเลิก จำนวน 3.34 ล้านบาท จากยอดขายโดยรวมยังคงชะลอตัวตามสภาพเศรษฐกิจ

ในวันเดียวกันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติเพื่อเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.22 บาท โดยเป็นเงินปันผลระหว่างกาลที่ได้จ่ายให้กับผู้ถือหุ้นไปแล้ว ในอัตราหุ้นละ 0.12 บาท และเงินปันผลที่จะเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติจ่ายเพิ่มเติมอีก 0.10 บาทต่อหุ้น สะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างโดดเด่น

โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 8 มีนาคม 2567 และขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 7 มีนาคม 2567 และกำหนดการจ่ายเงินปันผล ในวันที่ 29 เมษายน 2567

ความคืบหน้าปี’67

สำหรับแผนความคืบหน้าของการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ โครงการที่จะสร้างโอกาสการเติบโตให้ UAC ในปี 2567 ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าภูผาม่าน (PPM) ซึ่งหลังจากที่ได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา บริษัทเตรียมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในส่วนของหน่วย Generator#1

ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1.5 เมกะวัตต์ ภายในไตรมาส 1/2567 นี้ และส่วนของหน่วย Generator#2 มีกำลังการผลิต 1.5 เมกะวัตต์ คาดว่าจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในไตรมาส 2/2567

ส่วนโครงการ PT Cahaya Yasa Cipta (CYC) ซึ่งเป็นการลงทุนของบริษัท ยูเอซี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (บริษัทย่อย) ในบริษัท PT Cahaya Cipta สัดส่วน 70% เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่าย RDF3 ในประเทศอินโดนีเซีย มีกำลังการผลิตประมาณ 40,000 ตัน/ปี โดยคาดว่าจะจำหน่ายให้กับโรงปูนซีเมนต์ในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และยื่นขอใบอนุญาตต่าง ๆ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างโรงงานและเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ไตรมาส 4/2567

ด้านการผลิตปิโตรเลียมได้วางแผนติดตั้ง Beam Pump ที่แหล่งบูรพาเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตจำนวน 3 ชุด โดยติดตั้งแล้วเสร็จจำนวน 1 ชุด อีก 2 ชุดที่เหลือคาดว่าจะติดตั้งเสร็จภายในไตรมาส 1/2567 ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ตามเป้า 300 BBL/D