3 ปีหลัง “รัฐประหารเมียนมา” จีดีพีโต 2.6% ลุ้น “ส่งออก” ฟื้นตัว

เอกวัฒน์ ธนประสิทธิ์พัฒนา
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

เหตุการณ์รัฐประหารเมียนมากำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 ภาพการบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลทหาร ในเรื่องของเศรษฐกิจ การค้า-การลงทุนยังคงดำเนินต่อไป นักธุรกิจต่างชาติยังมีการลงทุนโดยตรงเข้าไปในเมียนมา ขณะที่ประชาชนยังมีความต้องการสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิต

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายเอกวัฒน์ ธนประสิทธิ์พัฒนา” ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ถึงทิศทางการค้าในปี 2567 โอกาสและความท้าทายที่ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมพร้อม

เศรษฐกิจเมียนมายังโต

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ได้คาดการณ์เศรษฐกิจ (จีดีพี) เมียนมาปี 2567 ขยายตัว 2.6% เทียบเท่ากับปี 2565 จีดีพีขยายตัว 2.6% ขณะที่เงินเฟ้อปีนี้ขยายตัว 8% จากเงินเฟ้อปี 2565 ที่เคยสูง 14%

ในปี 2567 สำนักงานยังเห็นโอกาสการเติบโตด้านการค้า การส่งออกและการเข้าไปลงทุนของไทยในเมียนมา แม้จะมีปัญหาภายในประเทศ แต่เศรษฐกิจและการค้าของเมียนมายังคงดำเนินเป็นปกติ โดยแยกออกจากกัน ประชาชนยังมีความต้องการสินค้าและบริการอยู่มาก จากในปีก่อนที่ไทยส่งออกไปเมียนมา 4,410 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 6.17% และการนำเข้าสินค้าจากเมียนมา 3,023 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 14.36% ไทยยังเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า

สินค้าหลัก ไทย-เมียนมา

ในปีที่ผ่านมาสินค้าที่ไทยส่งออกไปเมียนมาหลัก ๆ ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องดื่ม เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องเทศและสมุนไพร เคมีภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิวและเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เป็นต้น

ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากเมียนมา ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ กาแฟ ชา เครื่องเทศ และเครื่องเพชร พลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เป็นต้น

เมียนมาผ่อนคลายมากขึ้น

ในปีนี้ สำนักงานวางเป้าหมายการส่งออกไทยไปเมียนมาว่าจะโต 1-2% ทางสำนักงานพร้อมจะอำนวยความสะดวกการค้าและการส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทย และให้คำปรึกษากับภาคธุรกิจถึงแนวทางในการทำตลาด และโอกาสในการสร้างการเติบโตในการส่งออกให้มากขึ้น

“เราต้องการให้ผู้ประกอบการไทยเข้าใจถึงสถานการณ์ภายในเมียนมา ความขัดแย้งทางการเมืองเกิดเฉพาะจุด จะเกิดเฉพาะรอบนอก บริเวณชายแดน โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นปกติ มีความปลอดภัย การค้าขายยังคงดำเนินการได้ ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงดำเนินชีวิตปกติ และหัวเมืองใหญ่ เช่น ย่างกุ้ง ตองยี มัณฑะเลย์ เนปิดอว์ เป็นต้น การค้าสินค้าความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคยังดำเนินเป็นปกติ”

ในด้านอัตราแลกเปลี่ยน ล่าสุดธนาคารกลางเมียนมา ประกาศผ่อนคลายมาตรการสัดส่วนการแลกเปลี่ยนรายได้จากการส่งออก (Export Earning) โดยลดสัดส่วนการแลกเปลี่ยนการส่งออกด้วยอัตราทางการ 2,100 จ๊าต/เหรียญ จากเดิม 50% ของรายได้การส่งออก ลดลงเหลือ 35% ของรายได้การส่งออก ส่วนอีก 65% สามารถใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามราคาตลาด คือ 3,300-3,500 จ๊าต/เหรียญ

สินค้าไทยบุกห้างเมียนมา 50%

ผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยเข้าใจและเคารพถึงสถานการณ์ พร้อมที่จะปรับตัว ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องแยกสถานการณ์ออกจากกัน เมียนมายังคงทำการค้า ดำเนินธุรกิจปกติ แม้ในช่วงที่ผ่านมาเมียนมาเงินเฟ้อสูง ส่งผลต่อกำลังซื้อและรายได้ของประชากร ราคาสินค้าแพงขึ้น แต่ยังเห็นถึงศักยภาพและโอกาส ในปีนี้เชื่อเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น

“แม้การค้าของเมียนมากับต่างชาติจะลดลง จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็ถือว่าเป็นโอกาสของไทยที่จะขยายการส่งออกได้ เพราะไทย-เมียนมา มีชายแดนติดกันยาวถึง 2,401 กิโลเมตร และจากการติดตามสถานการณ์การลงทุนของผู้ประกอบการไทย รายใหญ่ที่ลงทุนในเมียนมายังดำเนินธุรกิจเป็นปกติ และมีการตั้งสมาคมนักธุรกิจไทย-เมียนมา เพื่อฟื้นความสัมพันธ์ทางธุรกิจในทุกระดับ ขณะที่ประชาชนชาวเมียนมาส่วนใหญ่นิยมสินค้าไทย จากการสำรวจห้างสรรพสินค้ากว่า 50% ในชั้นวางของมีสินค้าไทย”

อัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออก

ในปี 2567 สำนักงานจะมีการจัดกิจกรรม In-Store Promotion ร่วมกับซูเปอร์มาร์เก็ตในเมียนมา คาดว่าจะเริ่มได้ในช่วงกลางปี เป้าหมายในการจัดกิจกรรมไปที่หัวเมืองสำคัญ เช่น ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ ซึ่งทางสำนักงานพร้อมอำนวยความสะดวกการค้าและช่วยเหลือให้คำปรึกษาด้านกฎระเบียบพร้อมจะจัดกิจกรรมจัดคู่ธุรกิจขยายการค้าการส่งออกและการลงทุนในเมียนมา

นอกจากจัดกิจกรรมร่วมกับห้างแล้ว ยังมีแผนเตรียมจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ เพื่อเจรจาซื้อ-ขายสินค้า คาดว่าจะเริ่มได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 สินค้าเป้าหมายจะเน้นในกลุ่มสินค้าเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ความงาม เนื่องจากมีศักยภาพและมีความนิยมมากในเมียนมา ส่วนสินค้าดาวเด่นในการส่งออกไทยไปเมียนมาปีนี้ เช่น รถยนต์และอุปกรณ์ เครื่องประดับ เครื่องสำอาง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น ทางสำนักงานมั่นใจว่ากิจกรรมดังกล่าวจะสร้างความเชื่อมั่นในด้านการค้า ทำให้ไทยมีโอกาสขยายการส่งออกให้ได้ตามเป้าหมายในปีนี้

ปักมุดส่งออกไปประเทศที่ 3

ด้านการลงทุนขณะนี้มีประเทศที่เข้ามาลงทุนในเมียนมา ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากสิงคโปร์ จีน และไทย โดยมีการลงทุนมากสุด ในกลุ่มธุรกิจไฟฟ้า 28.5% รองลงมากลุ่มธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 24.45% และกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม 14.42%

“เมียนมามีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในประเทศ เป็นโอกาสของไทยในการพิจารณาขยายการลงทุนมายังเมียนมา หรือเป็นคู่ค้ากับธุรกิจที่ได้รับการอนุมัติลงทุน ซึ่งมีโอกาสในการเข้าไปลงทุนของไทย ในหลายกลุ่มธุรกิจ อย่างโซลาร์เซลล์ โครงสร้างพื้นฐาน”

สิ่งที่สำคัญต้องการให้ผู้ประกอบการไทย มองโอกาสในการส่งออกไปจากเมียนมาต่อไปยังประเทศที่ 3 เพราะที่ผ่านมาเมียนมาส่งออกสินค้าไปประเทศหลัก เช่น จีน ไทย ญี่ปุ่น เยอรมนี อินเดีย และนำเข้าสินค้า เช่น จีน ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งเมื่อดูแผนที่เมียนมามีภูมิประเทศที่มีพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศจีนและอินเดีย นี่จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะเชื่อมโยงในการส่งออกสินค้าไปยังสองประเทศนี้

โดยเฉพาะเมืองมัณฑะเลย์ซึ่งมีระยะทางที่ใกล้ สามารถส่งออกไปได้สะดวก ควรจะใช้เป็นศูนย์กลางในการขยายการส่งออกในอนาคต