กองทุนหมู่บ้าน ชู “โคแสนล้าน” ปั๊มจีดีพี 1.4% ตามนโยบายนายเศรษฐา

โคแสนล้าน

นโยบายรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน มุ่งยกระดับชีวิตความเป็นอยู่เกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าในเวลา 4 ปี โดยได้เดินหน้าโครงการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรทุกภาคส่วน

นำมาสู่การคิกออฟ โครงการ “โคแสนล้าน” ของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) เป็นหนึ่งในโครงการที่มุ่งสนับสนุนเงินกู้ยืมให้เกษตรกรครอบครัวละ 50,000 บาท เพื่อใช้เลี้ยงโค 2 ตัว นำร่อง 500,000 ครัวเรือน

ในงานเสวนาสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเลี้ยงชีพ ภายใต้แนวคิด “เลี้ยงโค แก้หนี้ แก้จน ยกระดับคุณภาพชีวิต เกษตรกรไทย” เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วย นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

ช่วยคุณภาพชีวิตเกษตรกร

นายสมศักดิ์เปิดเผยว่า โครงการโคแสนล้านจะช่วยคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศ เพราะต้องยอมรับว่าประชาชนในต่างจังหวัดมีเวลาว่างจากการทำไร่ทำนาวันละ 3-5 ชั่วโมง ซึ่งสามารถนำเวลาว่างมาทำปศุสัตว์ เช่น วัว

สำหรับแนวทางการส่งเสริมเลี้ยงโคของกองทุนหมู่บ้าน จะเริ่มด้วยเงิน 50,000 บาท ให้เกษตรกรกู้ คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปซื้อโค ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริม

“ขณะนี้ได้เริ่มนำร่องโครงการโคแสนล้านที่จังหวัดสุโขทัย เริ่มต้นด้วยเงิน 50,000 บาท ซื้อแม่พันธุ์ 2 ตัว อีก 4 ปี เกษตรกรมีโคเพิ่มเป็น 10 ตัวแล้ว โดยถ้าคิดเป็นมูลค่าตัวละ 25,000 บาท หากมี 10 ตัว จะมีมูลค่าถึง 250,000 บาท และถ้าส่งเสริมเลี้ยง 1 ล้านครอบครัว ก็จะมีมูลค่าถึง 250,000 ล้านบาท ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าจีดีพีจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1.4% ซึ่งจะช่วยส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศด้วย”

ต่อยอดวัวกีฬา

นอกจากการเลี้ยงวัวธรรมดาแล้ว ยังได้ส่งเสริมการพัฒนาเลี้ยงวัวสายพันธุ์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น วัวโกเบ วัวบราห์มัน วัวทาจิมะ วัวแองกัส เพราะราคาวัวธรรมดา 25,000-50,000 บาท แต่วัวสายพันธุ์ดีมีมูลค่าเพิ่ม ราคาตัวละ 200,000 บาท

รวมถึงต่อยอดเป็น “การเลี้ยงวัวกีฬา”

“นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณตรวจเขตราชการ ในจังหวัดละ 10 ล้านบาท ซึ่งจะนำมาช่วยอบรมการแก้ปัญหาความยากจน และส่งเสริมอาชีพ เพราะสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน 13 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นหนี้ จึงเน้นให้กองทุนหมู่บ้าน คิดโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโค เพื่อให้สมาชิกมีรายได้เพียงพอในการใช้หนี้ได้”

ช่วยลดโลกร้อน

นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า การส่งเสริมอาชีพเลี้ยงวัวยังช่วยลดปัญหาการปล่อย Black Carbon ได้ด้วย เพราะวัวจะกินฟางวันละประมาณ 1 ก้อน ก้อนละ 15 กิโลกรัม และนาข้าว 1 ไร่ จะมีฟาง 650 กิโลกรัม ซึ่งหากเผาตอซังและฟางข้าว 1 กิโลกรัม จะผลิต Black Carbon ประมาณ 0.06 กรัม โดยหากคำนวณพื้นที่ปลูกข้าว 44 ล้านไร่ จะปลดปล่อย Black Carbon กว่า 29.15 ล้านตัน หรือ 29,150 ล้านกิโลกรัมต่อปี หากเปลี่ยนจากการเผานำไปเลี้ยงวัว จะสามารถลดอัตราปลดปล่อย Black Carbon ได้กว่า 1,749 ตัน หรือ 1,749,000 กิโลกรัมต่อปี

รัฐปรับกฎหมาย

สเต็ปต่อไป ภาครัฐวางแนวทางสนับสนุน โดยเตรียมใช้โมเดลออสเตรเลียสำหรับการเลี้ยงม้าแข่ง มาปรับใช้ จัดทำ “ใบเพ็ดดีกรีสำหรับสัตว์เลี้ยงแข่งขัน” ช่วยเพิ่มมูลค่าให้สัตว์ เช่น ม้าแข่งที่ได้แชมป์มีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านเหรียญ หรือ 350 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังได้เตรียมร่างกฎหมายส่งเสริมปศุสัตว์ เพราะปัจจุบันมีการนำม้าและวัวมาแข่งขันอย่างถูกกฎหมาย แต่ภาครัฐไม่ได้รับภาษีเข้ารัฐ ซึ่งหากมีกฎหมายจะทำให้สามารถนำเงินที่ได้จากการแข่งขันเหล่านี้ กลับมาสร้างประโยชน์กับประชาชน สร้างภูมิคุ้มกันภาคปศุสัตว์ ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวครบวงจร

นายสมศักดิ์กล่าวย้ำว่า ภาครัฐจะไม่สนับสนุนการเล่นการพนันในการแข่งขัน แต่จะสนับสนุนการเลี้ยงสัตว์ เพื่อสร้างรายได้ เพราะหากไม่ดำเนินการตามแผนนี้ ประชาชนในต่างจังหวัดจะถูกทิ้งห่างไปเรื่อย ๆ