10 ปี “อีอีซี” เสี่ยงขาดน้ำ รัฐ-เอกชน ตั้งรับก่อนกระทบลงทุน

อีอีซี

การดึงดูดการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนทางด้านเศรษฐกิจยังเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะการขยายการลงทุนในพื้นที่เป้าหมายอย่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา รวม 8.3 ล้านไร่ แต่การเติบโตของการลงทุนในอีอีซี อาจจะนำมาสู่ความท้าทายเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่จะตามมาในอนาคต

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มูลนิธิเสนาะ อูนากูล จัดสัมมนาวิชาการประจำปี ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์จัดการน้ำ เป็นสิ่งสำคัญเสี่ยง 10 ปีข้างหน้า โดยมี นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานมูลนิธิเสนาะ อูนากูล เป็นประธานและมีอาจารย์เสนาะเข้าร่วมด้วย

นายณรงค์ชัยกล่าวว่า อาจารย์เสนาะริเริ่มอีสเทิร์นซีบอร์ด ตั้งแต่สมัยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (1982) ผ่านมาถึงปัจจุบันเป็นฉบับที่ 13 รวมเวลา 40 ปี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่ภายหลังเราเห็นว่าการเจริญทางเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมไม่ได้ไปด้วยกัน ฉะนั้น จึงคิดว่าเมื่อมีอีอีซีเกิดขึ้น อยากจะดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมไปพร้อมกัน

โดยได้มีการศึกษาข้อมูล ใช้เครื่องมือต่าง ๆ มาช่วย ทั้งการสอบถาม การใช้ข้อมูลดาวเทียม สรุป Dashboard จัดทำ “รายงานการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ภาคตะวันออก พ.ศ. 2565” (State of The Region) ด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมทุกปี โดยปีนี้ดึงไฮไลต์เรื่องน้ำ ส่วนปีหน้าจะทำเรื่องกำลังคน เพื่อนำผลสรุปสร้างประโยชน์ต่อสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป

ต้นทุนค่าน้ำอีอีซีแพงไป

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า อีอีซีเป็นเฟส 2 ของอีสเทิร์นซีบอร์ด เป็นการพัฒนาพื้นที่เป้าหมายดึงดูดนักลงทุน เพื่อเป็นต้นแบบ โดยมีแผนขับเคลื่อนการพัฒนาอีอีซี 5 ปี (ปี 2566-2570) มีเป้าหมายเพิ่มการลงทุน 500,000 ล้านบาท ใน 5 ปี หรือปีละ 100,000 ล้านบาท ส่งเสริมให้ประชากรในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของพื้นที่ (GPP) เติบโต 6.3% ดัชนีความก้าวหน้าของคน (HAI) เฉลี่ยปีละ 2%

จุฬา สุขมานพ
จุฬา สุขมานพ

“คำถามที่พบมากที่สุดในอีอีซีคือ เรื่องสาธารณูปโภค โดยเฉพาะปัญหาการจัดการน้ำในอีอีซี ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีผลทำให้ต้นทุนสูงจนทำให้อัตราค่าน้ำในอีอีซีสูงจนเกินไป และจะส่งผลต่อความสามารถแข่งขันในอนาคต ดังนั้น ต้องมีการแก้ไขการจัดการน้ำ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องหาแนวทางบริหารจัดการน้ำที่ดีเพื่อจัดการน้ำตั้งแต่ต้นทางจนถึงการกระจายน้ำ”

GISTDA ห่วงอีก 10 ปีน้ำไม่พอ

ด้าน นางกานดาศรี ลิมปาคม รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) นำเสนอกรณีศึกษาพิเศษ เรื่องบทบาทของเทคโนโลยีและพลังของชุมชนในการจัดการน้ำว่า พื้นที่อีอีซีในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีปัญหาเรื่องการจัดการน้ำที่ไม่สมดุลกัน จากความต้องการน้ำในกลุ่มอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ภาคครัวเรือน มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นทุกปี

ดังนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงแผนจัดการน้ำสร้างแหล่งน้ำใหม่ เพิ่มแหล่งน้ำและต้นทุนน้ำให้เพียงพอ ปิดจุดอ่อน เพราะหากปริมาณน้ำลดลงไม่สมดุลย่อมมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศ

นายดิชพงษ์ ภูมิเกียรติศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาระบบนวัตกรรมนโยบายเชิงพื้นที่ GISTDA กล่าวว่า จากการศึกษาจากภูมิศาสตร์ซึ่งมีพื้นที่สูง-ต่ำ จากปัจจัยเรื่องของโลกร้อน การปล่อยก๊าซล้วนมีผลต่ออุณหภูมิในอีก 10 ปี สูงขึ้น 0.5 องศา และจะสะท้อนให้เห็นถึงปริมาณน้ำในพื้นที่อีอีซีลดลงได้

หากยังมีปัญหาเรื่องโลกร้อน ยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีโอกาสที่จะให้ปริมาณน้ำฝนลดลง มีโอกาสให้อ่างเก็บน้ำมีปริมาณน้ำลดลง มีผลต่อซัพพลายน้ำทั้งในพื้นที่ภาคการเกษตร ภาคครัวเรือน รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรม ปริมาณน้ำลดแต่ความต้องการใช้น้ำเพิ่ม คาดการณ์ 10 ปีข้างหน้า 2037 จะมีพื้นที่ขาดแคลนน้ำมากขึ้น

เมื่อดูรายเดือนในช่วงหน้าแล้งจะมีความต้องการน้ำมากขึ้นเป็น 5 เท่า ขณะที่เดือนมิถุนายน-กันยายน แม้จะมีปริมาณน้ำมากกว่าความต้องการ แต่จะบริหารจัดการอย่างไรในพื้นที่ที่ไม่เพียงพอหรือในช่วงที่ต้องการน้ำมากขึ้น ภาพรวมเหมือนจะพอแต่ทำอย่างไรจะทำให้ปริมาณเพียงพอต่อความต้องการตลอดทั้งปี

ความต้องการน้ำอีอีซี-ค่าน้ำพุ่ง

จากข้อมูลการศึกษาคาดการณ์ว่า ปริมาณความต้องการน้ำในอีอีซี ปี 2580 ในพื้นที่ 3 จังหวัดอยู่ที่ 3,089 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นจากปี 2560 อยู่ที่ 27.7% หรือ 670 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยกลุ่มที่มีความต้องการใช้น้ำมากที่สุดอยู่ในภาคเกษตรกรรม 59% ส่วนจังหวัดที่มีความต้องการใช้มากที่สุด คือ จ.ฉะเชิงเทรา 53% รองลงมาคือ ระยอง 26% และชลบุรี 22.7%

กราฟฟิก จัดการน้ำ

ส่วนโครงสร้างต้นทุนค่าน้ำในอีอีซี แบ่งเป็น ราคาน้ำโรงงานนิคมอุตสาหกรรม ราคาน้ำดิบ 14.00-17.15 บาทต่อลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) น้ำประปา 18.00-27.75 บาทต่อ ลบ.ม. ส่วนราคาน้ำในพื้นที่นอกนิคมอุตสาหกรรม ราคาน้ำดิบ 12.50 บาทต่อ ลบ.ม. น้ำประปา 18.00-32.50 บาทต่อ ลบ.ม. สำหรับราคาน้ำครัวเรือน น้ำประปา 10.20-21.20 บาทต่อ ลบ.ม.

ส่วนสถานการณ์น้ำในอีอีซีปีนี้ แม้จะมีการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ แต่คาดว่าไม่มีปัญหาในเรื่องการขาดแคลนน้ำ โดยยังมีปริมาณน้ำเพียงพอในภาคอุตสาหกรรม แต่ในอนาคตอาจจะต้องพิจารณาหาแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มมากขึ้น เป็นเรื่องที่จะต้องเร่งจัดการและหาแหล่งน้ำรวมไปถึงการจัดการโครงสร้างต้นทุนน้ำให้มีความเหมาะสมต่อไป

เอกชนใช้น้ำประหยัด

นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช ประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (WEIS) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีให้ความสำคัญในเรื่องการใช้น้ำ โดยต้องใช้น้ำอย่างประหยัด นำมารีไซเคิลได้ แต่สิ่งที่เอกชนในอุตสาหกรรมกังวลคือ ผู้ใช้น้ำในภาคบริการและภาคการเกษตร ทำอย่างไรจะใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“ปริมาณน้ำฝนมีความผันผวนจากปัญหาโลกร้อนที่มีความท้าทายเพิ่มขึ้น โดยมีโอกาสที่จะทำให้ปริมาณน้ำฝนลดลง ดังนั้นจำเป็นต้องเตรียม อ่างเก็บน้ำหรือลุ่มแม่น้ำ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ โดยปัจจุบันมีเพียงแหล่งน้ำ จ.จันทบุรี ที่เหลืออยู่ ส่วนปริมาณน้ำฝนตก ยังคาดการณ์ไม่ได้ทั้งการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา ซึ่งมีผลกระทบต่อพื้นที่อุตสาหกรรมการนิคมอุตสาหกรรม”

ภาคเอกชนเห็นควรว่าภาครัฐต้องปรับแผนการรับมือต่อสถานการณ์ การสร้างความชัดเจนของ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำอย่างสมดุล อัพเดตฐานข้อมูล เตรียมงบฯการบริหารน้ำ รวมถึงการเร่งรัดการพัฒนาแหล่งน้ำให้เป็นไปตามแผนแม่บทน้ำ 20 ปี

สทนช.กางแผนน้ำ

นายโอฬาร เวศอุไร ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการลุ่มน้ำ 2 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (ONWR) กล่าวว่า รัฐบาลมีแผนรับมือการจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซี ปริมาณต้นทุนน้ำทั้งสิ้นอยู่ที่ 2,539 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง เช่น หนองปลาไหล ประแสร์ บางพระ คลองสี่ยัด อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก 19 แห่ง มีโครงข่ายท่อผันน้ำ จากน้ำเจ้าพระยา น้ำจากลุ่มน้ำปราจีน และนครนายก

แนวทางการบริหารจัดการน้ำ ยึดหลัก 3 เสาหลัก ได้แก่ เสาแรก คือ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 โดยเฉพาะการจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ ซึ่งมีกฎกระทรวงลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 ที่เป็นเครื่องมือที่จะช่วยจัดระเบียบของการใช้น้ำ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท เพื่อการดำรงชีวิตอุปโภคบริโภค เพื่อการอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การผลิตไฟฟ้าและกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก

เสาที่สอง องค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีอยู่ 3 ระดับ ระดับประเทศผ่านคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กนช. โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ระดับที่สอง คณะกรรมการลุ่มน้ำ ระดับที่สาม องค์กรผู้ใช้น้ำ โดยเฉพาะองค์กรนี้คาดหวังที่จะสร้างความเข้มแข็ง สร้างการมีบทบาท วิเคราะห์สภาพปัญหาของพื้นที่และเสนอในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่

เสาที่สาม แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ซึ่งมีอยู่ 5 ด้านสำคัญซึ่งปัจจุบันมีการปรับแผนแม่บท 20 ปี เช่น การจัดการน้ำผู้บริโภค การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคผลิต การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย การอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำและการบริหารจัดการน้ำ

สุดท้ายแนวทางการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนที่รัฐบาลดำเนินการ คือ การจัดการทรัพยากรน้ำให้มีประสิทธิภาพ เป็นรูปธรรม พร้อมกำหนดเกณฑ์ในการผันน้ำ บริหารจัดการใช้น้ำ เชื่อมโยงน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การยกระดับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจัดหาแหล่งน้ำสำรอง ขับเคลื่อนโครงการ 38 + 1 โครงการ เพื่อเพิ่มปริมาณต้นทุนน้ำรวมไปถึงการพัฒนาแหล่งน้ำทางเลือก เพื่อเป็นการลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่และจะเป็นการช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน

TDRI ชี้ 3 จุดอ่อนน้ำใน EEC

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในเสวนาโต๊ะกลม เรื่องการจัดการน้ำในภาคตะวันออก ว่า ก่อนปี 2560 ไม่มีข้อมูลความต้องการใช้น้ำในอีอีซี ปัจจุบันมีข้อมูลการใช้และมีการจัดการน้ำมากขึ้น และอนาคตคาดการณ์ปี 2580 ความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้น 27.7% จากปี 2560 จากประชากรที่เพิ่มขึ้น ความต้องการใช้น้ำสูงทั้งภาคเกษตรและอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ ผลการศึกษาพบอีอีซีมีความเสี่ยงสูงที่จะขาดแคลนน้ำทั้งในปัจจุบันและอนาคต

นิพนธ์ พัวพงศกร
นิพนธ์ พัวพงศกร

 

“ผลการศึกษาพบว่าฝนในอีอีซี จะมีความแปรปรวนสูงกว่าฝนทั่วประเทศจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ทำให้ปริมาณฝนลดลง 10-30 มิลลิเมตร และเมื่อน้ำทะเลหนุนสูงที่บางปะกง ความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น 65% ของปริมาณน้ำในอ่างเพื่อไล่น้ำทะเลและน้ำเสียออก”

ในการศึกษายังพบว่า การจัดการน้ำในอีอีซี มีจุดอ่อน 3 เรื่องสำคัญ คือ มีบริษัทเอกชนผูกขาดการขายส่งน้ำให้ภาคอุตสาหกรรม โดยได้สิทธิรับการจัดสรรน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ของกรมชลประทาน แต่ปัจจุบัน 2 บริษัทเป็นผู้บริหารจัดการน้ำค้าส่งยังมีปัญหาความขัดแย้งกัน การจัดการบริหารทรัพยากรน้ำปัจจุบันมีหน่วยงานกว่า 43 หน่วยงานขาดเอกภาพและมีช่องว่างของกฎหมายหน่วยงานที่ต้องดูแลยังมีความขัดแย้งไม่ต่อเนื่อง ไม่มีการบูรณาการ การทำงานผลักดันโครงการ เป็นต้น และปัญหาการเก็บค่าส่งน้ำเข้า

สำหรับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนและลดความเสี่ยงต้นทุนน้ำนั้น โครงการ Sandbox ระบบการบริหารจัดการน้ำแบบ Integrated River Basin Management (IRBM) ในพื้นที่อีอีซี จะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาจัดการน้ำได้ โดยควรจะมีการร่วมกันของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดความมั่นคง ให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน

โดยทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันพัฒนา สร้างกติกาในการกำกับควบคุมการใช้น้ำ เพื่ออนุรักษ์และคุ้มครองลุ่มน้ำที่สำคัญ ซึ่งจะมีความสำคัญต่อชีวิตและสุขภาพธุรกิจในพื้นที่ ถ้าปราศจากนโยบายและการควบคุมการใช้ลุ่มน้ำ จะเกิดความเสี่ยงต่อการใช้น้ำที่ดินมลพิษขาดแคลนน้ำ น้ำท่วมและการทำลายลุ่มน้ำ