เปิดขั้นตอน เลือกประธาน ส.อ.ท. 25 มีนาคม 2567นี้

สมโภชน์ อาหุนัย-เกรียงไกร เธียรนุกุล

เปิดขั้นตอนการเลือกประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วันที่ 25 มี.ค.2567 นี้ คาดรู้ผลชื่อผู้ชนะ ระหว่าง ‘เกรียงไกร-สมโภชน์’ อีก 1 เดือน

วันที่ 24 มีนาคม 2567 ใกล้ถึงวันตัดเชือกผู้ชนะในตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คนที่ 17 ในการประชุมสามัญประจำปี 2567 ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 25 มีนาคม 2567

ระหว่างนายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธาน ส.อ.ท.คนปัจจุบัน ผู้ชิงชัยเพื่ออยู่ต่ออีกสมัย และนายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธาน ส.อ.ท. และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) ผู้ท้าชิง ใครจะเป็นผู้คว้าชัยชนะ

การแข่งขันครั้งนี้ เป็นไปอย่างดุเดือดไม่แพ้ปี 2556 เมื่อครั้งที่มีการชิงชัยระหว่างนายนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. วาระปี 2553 2555 ที่ชิงดำกับกับกลุ่มนายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการ ส.อ.ท.ผู้ท้าชิง จนนำมาสู่ความร้าวฉานครั้งใหญ่

เลือกตั้งประธานสภาอุตสาหกรรมฯ

 ขั้นตอนการเลือก ประธาน ส.อ.ท.

แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า วิธีการเลือกตั้งประธาน ส.อ.ท. เป็นอย่างไร

แหล่งข่าวจากส.อ.ท. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ข้อบังคับใหญ่ยังไม่เปลี่ยน วิธีเลือกครั้งนี้ยังเป็นแบบเดิมคือใช้ระบบแมนนวล ยังไม่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพราะหากเปลี่ยนจะถูกครหาถึงความโปร่งใสได้

วิธีปกติ คือ มี ใบระบาย ด้วยดินสอเหมือนข้อสอบ ให้เลือกกรรมการ ตามจำนวนที่ได้ประกาศไว้ มีให้เลือกประมาณ 500 ชื่อ แต่ให้ วงได้ ไม่เกินจำนวนกรรมการ

ในที่ประชุมจะมีการเสนอเพิ่ม ถ้ารายชื่อในประมาณ 500 คนนั้น คณะกรรมการสรรหายังไม่ได้เลือกไว้ สามารถมาเสนอเพิ่มในที่ประชุมได้และต้องมีคนรับรอง

การที่จะให้เกิดความมั่นใจว่า คนในทีมเดียวกันวงเลือกคนไม่ผิด ในอดีตจะมีเจ้าหน้าที่มาช่วยวง

“แต่รอบนี้คิดว่า วิธีการน่าจะเปลี่ยนไปเพราะว่าแบ่งฝ่ายกันชัดเจน และมี บางกลุ่ม ไม่ต้องการเลือกฝ่าย เมื่อถึงวัน 25 มีนาคม 2567 จะมีวิธีการทำโพย (กระดาษ) ในรูปแบบที่อาจจะแตกต่างจากเดิม เพราะอาจจะมีหลายกลุ่มที่ขอเลือกเอง”

สำหรับกระบวนการนี้จะทำให้รายชื่อกรรมการส่วนที่ 2 คือ กรรมการที่มาจากการเลือกตั้ง เพิ่มจากส่วนแรกจะมีกรรมการแต่งตั้ง 122 คน ที่มาจากประธานกลุ่มอุตสาหกรรมและประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด และเมื่อเอากรรมการเลือกตั้งคูณ 2 ก็คือ 244 คน เป็นจำนวนที่ต้องกาเลือก ( กรรมการประเภทเลือกตั้ง)

ซึ่งรวมทั้งหมดจะมีกรรมการ 366 คน
กรรมการแต่งตั้ง 122 คน จะประชุมกันเพื่อรับรอง กรรมการประเภทเลือกตั้ง 244 คน

หลังจากเมื่อมีกรรมการครบ 366 คน กรรมการทั้งหมดจะมาโหวตเลือกประธาน อีกครั้ง ดังนั้นวันที่ 25 มีนาคม 2567 จะทราบเฉพาะ รายชื่อกรรมการประเภทเลือกตั้งเท่านั้น

 

ชื่อประธาน ส.อ.ท. รู้ชัด ใน 1 เดือน

ส่วนของ ชื่อผู้ที่จะมารับตำแหน่งประธานส.อ.ท. จะทราบผลหลังจากนั้น ภายใน 30 หรือ 45 วัน จะมีการนัดหมายประชุม กรรมการทั้งหมด วาระแรก รับรองผลการเลือกตั้ง รับรองกรรมการ แล้วต่อด้วยการเลือกประธาน คาดว่าจะทราบภายใน 25 เม
ษายน 2567

“อย่างไรก็ตาม หากเห็นรายชื่อกรรมการก็จะพอรู้แล้ว ถ้าทิ้งกันขาดก็ถือว่า จบแบบคร่าวๆ แต่ถ้าสูสีกันมากยังมีการสู้ต่อ ซึ่งกรรมการบางส่วนอาจจะในชุดเดิมอาจจะได้ไปต่อในชุดใหม่ แต่ไม่น่าจะทั้งหมด เพราะจะมี บางคนก็ยังเกรงใจทั้งสองฝ่ายอยู่”

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

 เกรียงไกร เงียบ

ช่วงโค้งสุดท้าย ฝั่งของประธาน ส.อ.ท. ไม่ได้มีการออกมาฉายภาพนโยบายใดเพิ่มเติมหลังจากที่ทำผลงานที่ทำไว้ต่อเนื่องในช่วงสองปีที่ผ่านมา

ส่วนการเคลื่อนไหวจะมีเพียงผู้ใกล้ชิด อย่างนายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ออกมาตอบโต้เป็นปากเสียงมุ่งเป้าไปที่นักการเมืองที่เข้ามาแทรกแซงและอยู่เบื้องหลังการเลือกตั้ง ส.อ.ท. เท่านั้น

สำหรับผลงานที่โดดเด่นของนายเกรียงไกรก็จะมีทั้งการตั้ง กองทุน Innovation One วงเงิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ กองทุนส่งเสริม ววน. ของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) เพื่อพัฒนาธุรกิจนวัตรกรรมสตาร์ทอัพไทยและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs รวมถึง ภาคอุตสาหกรรมรายสาขาของประเทศ

ตลอดจนการขับเคลื่อนแผนสร้างความเป็นหนึ่ง นั้นก็คือ ONE FTI ทำงานเพื่อสมาชิกอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม 4.0 ทั้งยังได้มีการออกมาส่งสัญญาณตรงๆต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคของสมาชิก สอท.ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอัตราดอกเบี้ย ค่าไฟ ค่าแรง รวมถึง การสานต่อโครงการสนับสนุน MIT หรือ Made in Thailand รวมถึง การส่งเสริมอุตสาหกรรม BCG เป็นหนึ่งในเป้าหมายประเทศ

แนวทางหาเสียงของสมโภชน์

ส่วนฝั่งผู้ท้าชิง ได้ออกชุดนโยบาย ” 365 เดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรม” โดยกำหนด 3 หมายถึง 3 สิ่งที่ส.อ.ท.จะไม่เหมือนเดิม คือ ทำงานเชิงรุกเน้นความโปร่งใสและรับฟังทุกความเห็น

6 คือ มาตรการเร่งดำเนินการ ดังนี้

1. ผลักดันนโยบายลดภาษีสนับสนุนธุรกิจ: ลดภาษีสำหรับธุรกิจ SMEs เพื่อเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนและสนับสนุนการลงทุน

2. เสริมสภาพคล่องด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ: เจรจาสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ที่กำลังเผชิญกับปัญหาเงินทุน พร้อมทีมทีปรึกษาแก้ปัญหาเรื้อรัง

3.สนับสนุนการส่งออก: เพิ่มการสนับสนุนให้กับบริษัทที่ส่งออกสินค้า เช่น การอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรและการตลาด

4. พัฒนาทักษะแรงงานเพื่ออนาคต: สร้างโปรแกรมการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะของแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมในอนาคต

5. ขับเคลื่อนการลงทุนในนวัตกรรม: สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่และเทคโนโลยีที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม

6. สร้างความเชื่อมั่นในตลาด: ปรับปรุงโปร่งใสในการดำเนินงานของธุรกิจและภาครัฐเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและผู้บริโภค

เลือกตั้งประธานสภาอุตสาหกรรมฯ

และ 5 นวัตกรรมที่ต้องพัฒนา ประกอบด้วย

1.นวัตกรรมทางเทคโนโลยี: เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต

2. นวัตกรรมสินค้าและบริการ: สร้างสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ที่มีคุณภาพหรือประสิทธิภาพเหนือกว่า เพื่อความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนในตลาดระดับสากล

3. นวัตกรรมกระบวนการ: สร้างความคล่องตัวและความเร็วในการตอบสนองตลาด

4.นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม: ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมความยั่งยืน

5. นวัตกรรมการจัดการ: เสริมสร้างการมีส่วนร่วมและการบริหารจัดการที่ดีในองค์กร