ชิงดำประธานสภาอุตฯ “เกรียงไกร-สมโภชน์” แข่งเดือด

federration
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล-นายสมโภชน์ อาหุนัย

โค้งสุดท้ายในการเลือกประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คนที่ 17 ในวันที่ 25 มีนาคมที่จะถึงนี้ระหว่าง นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานคนปัจจุบันที่ต้องการจะรักษาตำแหน่งอีก 1 สมัยกับ นายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธาน ส.อ.ท. ชุดปัจจุบันและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ท่ามกลางการจับจ้องที่ว่า สุดท้าย “ใคร” จะเป็นผู้ชนะ

ประมุข ส.อ.ท.

การเลือกประธานส.อ.ท.ครั้งนี้ ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดด้วยเหตุที่ว่า ตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมทั้งประเทศที่มีสมาชิกนับ 10,000 โรงงานที่จะส่งเสียงถึงรัฐบาลโดยตรงและผ่านบทบาทการเป็น “กรรมการ” ในคณะกรรมการที่สำคัญๆไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน (กรอ.) ทำหน้าที่ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กับสมาคมธนาคารไทย, คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ดังนั้นผู้ที่คว้าชัยชนะย่อมเป็นกระบอกเสียงเอกชน และเป็นผู้ที่มีส่วนอย่างสำคัญในการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศอีกด้วย

จริงอยู่ที่ว่า “ธรรมเนียม ส.อ.ท.” ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.ควรจะดำรงตำแหน่ง 2 วาระรวม 4 ปี ก็น่าจะเป็นสิทธิของ “นายเกรียงไกร” สมัยที่สอง แต่การประกาศตัวลงชิงตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.ของนายสมโภชน์ ซึ่งหลายคนกล่าวว่า “ไม่เป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติ” จนนำมาสู่การตั้งข้อสังเกตถึงความขัดแย้งใน ส.อ.ท.ด้วยกันเอง

คำถามคือ “อะไร” เป็นแรงจูงใจให้นายสมโภชน์ลงสมัคร เพราะหากจะรอไปอีก 1 วาระของนายเกรียงไกร ก็ถือว่าไม่ช้าจนเกินไป ในประเด็นนี้ นายสมโภชน์กล่าวในคราวเปิดตัวอย่างเป็นทางการว่า “ประเทศไทยรอไม่ได้ ภาระหนี้ครัวเรือน การลงทุนไม่เข้า ถ้ารออีก 2 ปี เปรียบเหมือนคนที่เป็นมะเร็งขั้นที่ 1 ก็อาจจะรอได้ แต่ถ้าเป็นขั้นที่ 4 หากรอก็อาจจะแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว

ด้วยเหตุผลดังนี้ จึงเสนอตัวเข้ามาแข่งขัน เพื่อให้สมาชิก ส.อ.ท.เลือก โดยชู 4 ยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อขับเคลื่อน ส.อ.ท. ทำงานเชิงรุกในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ ให้สอดประสานระหว่างภาครัฐกับเอกชน สร้างพลังและเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิกทั่วประเทศ การประสานภาครัฐให้ช่วยส่งเสริมสนับสนุน SMEs และการนำเอาความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ที่มีมาบูรณาการในเชิงรุกและเชิงรับทุกมิติ

เทียบฟอร์ม 2 คู่ชิง

แน่นอนว่า ความเก๋าเกมของ “นายเกรียงไกร” ที่ผ่านงานใน ส.อ.ท.มาหลายสมัย ย่อมมีมากกว่า และที่สำคัญก็คือ ผลงานชิ้นโบแดงที่โชว์สมาชิกได้อย่างการตั้งกองทุน Innovation One ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือกองทุนส่งเสริม ววน. ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

เพื่อพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมสตาร์ตอัพไทย และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงภาคอุตสาหกรรมรายสาขาของประเทศ โดยกองทุนนี้ได้รับการสนับสนุนในงบประมาณวงเงินถึง 1,000 ล้านบาท

ตลอดจนการขับเคลื่อนแผนสร้างความเป็นหนึ่ง นั่นก็คือ ONE FTI ทำงานเพื่อสมาชิกอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม 4.0 ทั้งยังได้มีการออกมาส่งสัญญาณตรง ๆ ต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคของสมาชิก ส.อ.ท. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอัตราดอกเบี้ย ค่าไฟ ค่าแรง

รวมถึงการสานต่อโครงการสนับสนุน MIT หรือ Made in Thailand ซึ่งเริ่มจากสมัยของนายสุพันธุ์ มงคลสุธี อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมฯคนก่อนหน้านี้ เพื่อให้สินค้าไทยขยายตลาดได้ รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรม BCG เป็นหนึ่งในเป้าหมายประเทศ

ขณะที่นายสมโภชน์ อาหุนัย ผู้ท้าชิง บทบาทใน ส.อ.ท.เดิมเคยเป็นประธานสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม (ส.อ.ท.), ประธานสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส.อ.ท. รวมไปถึงการดำรงตำแหน่งกรรมการ ในคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ

นอกจากนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงานทดแทน จากการก่อตั้งบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA ในปี 2549 และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2556 ผ่านมา 10 ปี ทำรายได้จากธุรกิจถึง 31,597.76 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 7,606.17 ล้านบาทในปี 2566

ดังนั้นนโยบายสำคัญของนายสมโภชน์ จึงโดดเด่นด้านพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลังงานทดแทนและนวัตกรรมอนาคต อย่างยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ของโลก เนื่องจาก EA เป็นผู้บุกเบิก ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า Mine และเรือไฟฟ้า สถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ยังมีโครงการลงทุนเกี่ยวกับการผลิต แบตเตอรี่สำหรับรถ EV ขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน ส่งผลให้ฐานเสียงสำคัญของนายสมโภชน์ อยู่ใน “กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน” และบางกลุ่มอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอีก 2-3 กลุ่มค่อนข้างโดดเด่น

เกมหักมุมปูดเรื่อง FTIX

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่การต่อสู้โค้งสุดท้ายกลับเกิดปรากฏการณ์ “เกมหักมุม” ที่ปล่อยออกมา โดยอ้างว่ามีความไม่ชอบมาพากล อ้างชื่อ ส.อ.ท.ไปเรี่ยไรเงินสร้างแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต FTIX และมีความพยายามเพื่อเปิดแผลด้วยการแจ้งความดำเนินคดีเอาผิด อดีตเจ้าหน้าที่ ส.อ.ท. ว่ามีส่วนเข้าไปแฮกและลบข้อมูลจนทำให้เกิดความเสียหายอีกด้วย ซึ่งประเด็นดังกล่าวทำให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน

ส่งผลให้นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. พร้อมรายชื่อรองประธานกลุ่ม เลขาธิการ และกรรมการในกลุ่มอีก 17 คน ต้องทำหนังสือเปิดผนึกถึงประธาน ส.อ.ท. และกรรมการ ส.อ.ท. ลงวันที่ 11 มี.ค. 67 เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในข้อเท็จจริงว่า “ไม่ได้เป็นไปตามข้อกล่าวหา”

นอกจากนี้ยังได้ชี้แจงเรื่องการแจ้งความเรื่องการแฮกระบบแพลตฟอร์ม FTIX เมื่อ 20 มีนาคม 2567 ถึงประธานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต ประธาน ส.อ.ท. ในฐานะประธานที่ปรึกษาสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส.อ.ท. และประธานกรรมการสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส.อ.ท. สรุปสาระสำคัญว่า จากการที่ตรวจสอบระบบ FTIX Platform ไม่ได้โดนแฮกและไม่พบการลบข้อมูลบนแพลตฟอร์ม FTIX และไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นแต่อย่างใด

“สมโภชน์” ออกโรง

ในประเด็นข้อกล่าวหาเรื่อง FTIX นี้ นายสมโภชน์ อาหุนัย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ที่จริงแล้วเป็นเจตนาดีแรกเริ่มที่ผมเองเห็นปัญหาของประเทศเรื่องสภาพภูมิอากาศแปรปรวน เรื่องคาร์บอนเครดิตก็ดี จะเป็นปัญหาหลักของประเทศ จะส่งผลกระทบต่อสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมฯประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว สมัยที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี อดีตประธาน ส.อ.ท. ผมเองก็เป็นคนไปโน้มน้าวและบอกว่า ควรตั้งสถาบันเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แต่วันนั้นสภาไม่มีเงินที่จะตั้งสถาบันนี้

ผมกับคนที่สนใจก็ไปหาเงินมาสนับสนุน 6-7 ล้านบาท จึงสามารถตั้งสถาบันนี้ขึ้นมาได้ พอตั้งได้เสร็จ เราก็พยายามสร้างแพลตฟอร์ม ซึ่งเราก็ไม่มีเงินอีก เราเลยไปหาคนที่มีจิตอาสาให้สถาบันใช้แพลตฟอร์มฟรี ให้สภาอุตสาหกรรมฯใช้ ไม่ได้เสียเงินเลยสักบาท ทุกอย่างที่ทำมาถึงจนวันนี้” นายสมโภชน์กล่าว

แต่ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ “เขาเป็นคนกลาง” กระบวนการตรวจสอบยังไม่สำเร็จ หลักฐานอ่อนมาก แต่ก็เอาเรื่องนี้ออกมาเป็นประเด็น โดยมีคนที่เจตนาไม่ดีพยายามสร้างเรื่องนี้ให้เป็นประเด็นทางการเมือง ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่า “คนนั้นคือใคร”

เราก็ขอให้กระบวนการเดินไปอย่างโปร่งใสจนจบ แล้วผลลัพธ์อย่างไร “ความจริงก็คือความจริง” ถ้าผมผิดไม่ว่าจะออกมาวันนี้หรือ 10 วันข้างหน้าหรือ 1 เดือนข้างหน้า อย่างไรผมก็ต้องผิด การที่เราจะมาสมัครรับตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. อย่างแรกคือ “ต้องโปร่งใสและต้องยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ของทุกคน” การที่มีใครมาตั้งคำถาม คนทำจิตอาสา จะต้องพิสูจน์ตัวเอง แต่ต้องใช้เวลาเป็นการพิสูจน์ อยากให้ทุกคนมีสติและเลือกสิ่งที่ดีในระยะยาว นายสมโภชน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ถ้าแนวคิดที่ผมพูดเป็นสิ่งที่ดีก็อยากฝากกับประธานสภาอุตฯคนใหม่ว่า อะไรดีก็เอาไปทำได้ ผมก็ยินดีที่จะสนับสนุนในฐานะสมาชิกคนหนึ่ง การสมัครไม่ใช่เป็นการที่เราจะต้องมาแบ่งแยกข้าง แก่งแย่งชิงดี ผมถือว่าเป็นการแข่งขันเชิงสร้างสรรค์มาเสนอไอเดียดี ๆให้กับ ส.อ.ท. พอจบงานนี้แล้วก็คือจบ เราก็ Set Zero ต้องเอาคนที่มีความรู้ความสามารถของทั้ง 2 ฝ่ายมาทำให้สภาอุตสาหกรรมฯ เติบโตไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน เพราะ “ทุกคนคือเพื่อนกัน”

เรือธง Super Thailand Team

นายสมโภชน์ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ศักยภาพของสภาอุตสาหกรรมมีมากมาย เพราะย่ออุตสาหกรรมทั้งประเทศมาอยู่ในสภา 16,000 รายที่เป็นสมาชิกอยู่ ซึ่งเป็นกลไกหลักประเทศไทย ฉะนั้นถ้ามานั่งคุยกันมาตกผลึกให้เกิดยุทธศาสตร์ แต่ละอุตสาหกรรมมีข้อดี-ข้อเสียตรงไหน

ผู้ประกอบการเป็นคนรู้ดีที่สุดว่า หากนำเอามารวมกัน แล้วก็ไปเทียบกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลว่า เราจะทำให้สองเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องเดียวกันได้อย่างไรจะเกิดเป็น Thailand Team หรือ Super Thailand Team ที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถเดินไปข้างหน้าหรือ “ไม่พายเรืออยู่ในอ่าง” วันนี้ถ้าข้างล่างกับข้างบนประสานกันและมีผู้ประกอบการที่ตั้งใจทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิด มีรัฐบาลที่สนับสนุนอย่างเต็มที่และชัดเจน เชื่อว่าจะเกิดยุคใหม่ของประเทศไทย และ Momentum ใหม่ของอุตสาหกรรมไทย

สุดท้ายบทสรุปของการต่อสู้ชิงตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรม 46 กลุ่ม และสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 76 จังหวัด ซึ่งน่าจะเป็นคะแนนเสียงชี้ขาด

ด้วยประสบการณ์และ “นโยบาย” เชื่อว่า สมาชิก ส.อ.ท.จะมองเห็นถึงความแตกต่างอยู่แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญอาจจะไม่ใช่เพียงแค่เสียงแพ้หรือชนะที่จะออกมา แต่หากคือ ความสง่างามและศักดิ์ศรีของคน ส.อ.ท. ในฐานะ 1 ในสถาบันหลักที่พร้อมขับเคลื่อนนำพาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป