สภาผู้บริโภคเสนอ ร้อนนี้ ลดค่า Ft ที่ 3.99 บาท ช่วยประชาชน

ไฟฟ้า ค่าไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้า พลังงาน

สภาผู้บริโภคเสนอ กกพ.- รมว.พลังงาน ทบทวนการกำหนดค่าเอฟที (Ft) เดือน พ.ค.-ส.ค. 2567 เพื่อให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเท่ากับ 3.99 บาท/หน่วย พร้อมเสนอให้เดินหน้ามาตรการอื่นร่วมด้วย เพื่อเร่งรัดให้เกิดการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างพลังงานซึ่งส่งผลต่อราคาค่าไฟฟ้าทั้งระบบ

วันที่ 24 มีนาคม 2567 จากกรณีวันที่ 9 มีนาคม 2567 เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ในการปรับค่าไฟฟ้าผันแปร หรือที่เรียกกันว่า ค่าเอฟที (Ft)* กกพ.ได้เสนอทางเลือกเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในระหว่างวันที่ 8-22 มีนาคม 2567 ไว้ 3 ทาง คือ จ่ายค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเท่ากับ 5.44 บาทต่อหน่วย, 4.34 บาทต่อหน่วย และ 4.18 บาทต่อหน่วย ตามลำดับ ซึ่งทุกทางเลือกจะมีการจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเท่ากับ 4.18 บาท

นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า เรื่องการคิดค่าเอฟที (Ft) งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2567 นั้น สภาผู้บริโภคขอเสนอทางเลือกที่ 4 คือ ให้ กกพ.คิดค่าเอฟที (Ft) ในราคาที่ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเท่ากับ 3.99 บาทต่อหน่วย (รวมการจ่ายคืนหนี้ให้ กฟผ.) โดยให้คำนึงถึงนโยบายของ รมว.กระทรวงพลังงานที่ได้สั่งการให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเร่งเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ให้เป็นไปตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต โดยจะสามารถลดราคาค่าไฟฟ้าได้ 15-20 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งตอนนี้การดำเนินการเรียบร้อยแล้ว

ด้านนางสาวรสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค กล่าวว่า นอกจากข้อเสนอที่ประธานสภาผู้บริโภคได้เสนอไปแล้ว ขอเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อลดค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายลง ดังนี้

1. ควรติดตามการดำเนินงานของ กกพ. จากข้อเสนอของสภาผู้บริโภคที่เสนอให้ กกพ. อนุญาตให้ กฟผ.นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้เองโดยไม่ต้องซื้อผ่านบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เพียงอย่างเดียว เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาเชื้อเพลิง ทั้งนี้ อาจมีการกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำที่ กฟผ.ต้องซื้อ LNG จาก ปตท.ไว้ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการต้นทุนระยะยาวของ ปตท.

2. ควรพิจารณาลดต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าโดยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงพลังงานเจรจายืมโควตาการใช้ก๊าซในแหล่งพื้นที่เหลื่อมล้ำบริเวณไหล่ทวีปของ 2 ประเทศ หรือที่เรียกกันว่า เจดีเอ (JDA : Joint Development Area) คือประเทศไทย-มาเลเซีย โดยเพิ่มสัดส่วนให้แก่ประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีแรก และคืนโควตาที่ยืมให้แก่มาเลเซียในภายหลัง เหมือนที่มาเลเซียเคยยืมโควตาประเทศไทยมาก่อนในช่วงก่อนหน้านี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศไทยพัฒนากำลังการผลิตในอ่าวไทย ได้แก่ แหล่งบงกชและเอราวัณ ให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

3. ควรเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้

3.1 พิจารณาให้กลุ่มปิโตรเคมีใช้ก๊าซ LPG จากโรงแยกก๊าซในราคาก๊าซที่ใช้ผลิตไฟฟ้าโดยรวม (Pool Gas)

3.2 เร่งกำหนดนโยบายสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ของภาคประชาชน ครัวเรือน และ SMEs แบบเน็ตมิเตอริ่ง (Net Metering) โดยเร็ว เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าด้วยการพึ่งพาตนเอง และช่วยลดค่าไฟฟ้าส่วนรวมจากการลดการนำเข้า LNG ที่มีต้นทุนสูงกว่าเชื้อเพลิงอื่น

3.3 เร่งดำเนินการนโยบายเปิดเสรีการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาแบบระบบเน็ตบิลลิ่ง (Net Billing) สำหรับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ และภาคอุตสาหกรรม โดยไม่กำหนดโควตากำลังการผลิตและระยะเวลาการรับซื้อ

3.4 สั่งการให้ กฟผ.เร่งเจรจาสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) ที่ได้ทำกับเอกชนทุกรายก่อนหน้านี้ เพื่อปรับโครงสร้างค่าความพร้อมจ่าย โดยให้ลดค่าความพร้อมจ่ายลงสำหรับโรงไฟฟ้าที่อายุใกล้ครบสัญญา และยืดการจ่ายค่าความพร้อมจ่ายออกไปสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่

“เราคาดหวังว่าจะได้เห็นค่าไฟฟ้าเฉลี่ยต่ำกว่า 4 บาทอีกครั้งสำหรับค่าเอฟที (Ft) ในงวดที่กำลังจะมาถึง” นางสาวรสนากล่าว

*ค่าเอฟที Ft (Fuel Adjustment Charge) เป็นสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือค่าไฟฟ้าผันแปร เป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนหรือประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ มีการปรับทุก 4 เดือน