ปี 2566 ไทยกวาดรายได้ส่งออกสินค้าเกษตร ตลาด FTA ทะลุ 7 .7 แสนล้าน

สศก.โชว์ตัวเลข ปี 2566 ไทยกวาดรายได้ส่งออกสินค้าเกษตร ภายใต้ความตกลง FTA 9 ประเทศ กว่า 7 .7 แสนล้านบาท ‘ทุเรียน’ มาเป็น อันดับ 1 ทะลุ 1.39 แสนล้านบาท ดันยอด เกินดุลการค้ากว่า 5 แสนล้าน

วันที่ 25 มีนาคม 2567 นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง ภาพรวมสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรของไทยกับโลกในปี 2566 ไทยมีมูลค่าการค้ารวม 2.372 ล้านล้านบาท ลดลงร้อย ละ 0.13 จากปี 2565 ที่มีมูลค่า 2.375 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ไทยยังเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 9.51 แสนล้านบาท ซึ่งหาก พิจารณาเฉพาะประเทศคู่เจรจาความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ซิลี อินเดีย ฮ่องกง (ไม่รวมประเทศสมาชิกอาเซียน) พบว่า ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

โดยในปี 2566 ภาพรวมการค้าสินเกษตรของไทยกับคู่เจรจาทั้ง 9 ประเทศ มีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 3.25 หรือคิดเป็นมูลค่า 1.01 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตร 7.70 แสนล้านบาท และมูลค่านำเข้า 2.40 แสนล้านบาท ส่งผลให้ไทยได้เปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรกับประเทศคู่เจรจาทั้ง 9 ประเทศดังกล่าวข้างต้น 5.29 แสนล้านบาท

สำหรับตลาดส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และออสเตรเลีย สำหรับสินค้าเกษตรที่ไทยส่งออก สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียน 1.39 แสนล้านบาท ไก่ปรุงแต่ง 5.32 หมื่นล้านบาท ยางธรรมชาติ 4.91 หมื่นล้านบาท มันสำปะหลัง 3.99 หมื่นล้านบาท ชิ้นเนื้อและเครื่องในที่บริโภคได้ของไก่แช่แข็ง 3.61 หมื่นล้านบาท

เมื่อพิจารณารายประเทศคู่ค้า FTA ของไทย มูลค่าการค้าและอัตราการเจริญเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ของปีก่อน พบว่า จีน ยังคงเป็นตลาดที่ไทยส่งออกสินค้าเกษตรมากที่สุด โดยคิดเป็นมูลค่ากว่า 4.49 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.60 โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ทุเรียน (1.37 แสนล้านบาท) มันสำปะหลังฝานหรือทำเป็นพาลเลต (3.94 หมื่นล้านบาท) ยางธรรมชาติ (3.50 หมื่นล้านบาท)

ส่วนคู่ค้า FTA ประเทศอื่น ๆ ที่ไทยส่งออกสินค้าเกษตรได้เพิ่มขึ้นใน ปีที่ผ่านมา ได้แก่ นิวซีแลนด์ มีมูลค่า 7.39 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.18 โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาหารสุนัข หรือแมว (8.78 ร้อยล้านบาท) ปลาทูน่ากระป๋อง (8.60 ร้อยล้านบาท) น้ำตาลที่ได้จากอ้อย (8.01 ร้อยล้านบาท) ซิลี มีมูลค่า 2.42 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.75 โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ปลาทูนากระป๋อง (1.69 พันล้านบาท) อาหารสุนัขหรือแมว (2.94 ร้อยล้านบาท) สับปะรดปรุงแต่ง (95 ล้านบาท) และเปรู มีมูลค่า 1.79 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.98 โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ปลาทูนากระป๋อง (1.30 พันล้านบาท) ข้าวโพดสำหรับการเพาะปลูก (1.87 ร้อยล้านบาท) และข้าว (1.79 ร้อยล้านบาท)

สำหรับประเทศคู่เจรจาที่ไทยส่งออกสินค้าเกษตรได้ลดลง ได้แก่ ญี่ปุ่น ส่งออกลดลงร้อยละ 5.31 โดยสินค้าส่งออก สำคัญ ได้แก่ ไก่ปรุงแต่ง (4.72 หมื่นล้านบาท) ชิ้นเนื้อและเครื่องในที่บริโภคได้ของไก่แช่แข็ง (1.50 หมื่นล้านบาท) อาหารสุนัขหรือแมว (1.13 หมื่นล้านบาท) เกาหลีใต้ ส่งออกลดลงร้อยละ 8.47

โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำตาลที่ได้ จากอ้อย (1.00 หมื่นล้านบาท) ยางธรรมชาติ (4.67 พันล้านบาท) ไก่ปรุงแต่ง (4.63 พันล้านบาท) อินเดีย ส่งออกลดลง ร้อยละ 22.49 โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปาล์มดิบ (2.44 หมื่นล้านบาท) ยางธรรมชาติ (3.48 พันล้านบาท) น้ำมันถั่วเหลือง 2.88 พันล้านบาท)

ออสเตรเลีย ส่งออกลดลงร้อยละ 7.02 โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ปลาทูนากระป๋อง (5.96 พันล้านบาท) อาหารสุนัขหรือแมว (3.99 พันล้านบาท) ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส (2.43 พันล้านบาท) ฮ่องกง ส่งออกลดลงร้อยละ 8.54 โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ข้าว (4.82 พันล้านบาท) ทุเรียน (1.76 พันล้านบาท) เนื้อไก่ปรุงแต่ง (1.20 พันล้านบาท)

“แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนจากภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ยังคงไม่สามารถ หาข้อสรุปได้ในหลายพื้นที่ ทำให้การส่งออกสินค้าในภาพรวมมีอัตราการเติบโตที่ลดลง แต่สินค้าเกษตรของไทยก็ยังคง สามารถเติบโตและสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศอย่างได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สินค้าเกษตรไทยยังคงต้องยกระดับคุณภาพและ มาตรฐานสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกที่ยังคงมีการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตที่เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อม ที่หลาย ๆ ประเทศนำมาใช้เป็นเงื่อนไขในการนำเข้าสินค้าเกษตร”

“หากผู้ผลิต/ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถ ปรับตัวหรือปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตได้ ก็อาจสูญเสียโอกาสทางการค้าในตลาดโลก นอกจากนี้ ควรส่งเสริมการใช้ นวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ให้สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไปในโลกยุคปัจจุบัน”