“ภูมิธรรม” ทำหน้าที่เซลส์แมน ชวนนักธุรกิจยุโรป ลงทุนเมกะโปรเจกต์ในไทย

“ภูมิธรรม” ทำหน้าที่เซลส์แมน ชวนนักธุรกิจยุโรป ขยายโอกาสการค้า-ลงทุนเมกะโปรเจกต์ แลนด์บริดจ์-อีอีซีในไทย เผยสมาคมการค้าไทย-ยุโรปพร้อมหนุนไทยเปิด FTA ไทย-ยุโรป

วันที่ 30 มีนาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ผมพร้อมด้วยคณะผู้บริหารของกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือกับคณะนักธุรกิจจากสมาคมการค้าไทย-ยุโรป (Thai-European Business Association: TEBA) ที่มีสมาชิกเป็นบริษัทนักลงทุนในสาขาสำคัญ เช่น ยานยนต์ (BMW, Mercedes-Benz, ABeam Consulting) การบินและอวกาศ (Airbus, Siam Seaplane) ดิจิทัล (Thales) ห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ (Maersk, CMA CGM) และอื่น ๆ (Robert Bosch, TUV Rheinland, Lim & Partner, Access Europe) ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมเชิญชวนลงทุนในไทย

ทั้งนี้ จากการหารือได้ชี้แจงนโยบายด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนที่สำคัญของไทย พร้อมด้วยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงแนวทางการทำงานร่วมกัน เพื่อสนับสนุนนโยบายของไทย โดยเฉพาะในประเด็นที่โลกให้ความสนใจ เช่น การพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งพลังงานสะอาด ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญและเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการสำหรับการเปลี่ยนแปลงของโลก

นอกจากนี้ ได้เชิญชวนภาคเอกชนร่วมลงทุนในไทยที่มีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ โดยเป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมต่อภูมิภาคต่าง ๆ เช่น อินโดจีน เอเชียตะวันออก เอเชียกลาง เอเชียใต้ และแอฟริกา รวมถึงในโครงการสำคัญ เช่น โครงการแลนด์บริดจ์ และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนในการเร่งจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทยกับอียู ที่มีเป้าหมายสรุปการเจรจาให้ได้ภายในปี 2568 เพื่อเพิ่มศักยภาพการค้าการลงทุนระหว่างไทยและอียู รวมถึงแผนที่จะทบทวนและปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจการลงทุน

โดยทาง TEBA ได้แสดงความยินดีที่ FTA ไทย – อียู กลับมาเจรจาอีกครั้ง โดยพร้อมสนับสนุนและผลักดันให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว ซึ่งนอกจากจะช่วยลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ยังเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกต่อนักลงทุนให้พิจารณาเพิ่มการลงทุนในไทย ตลอดจนจะช่วยส่งเสริมเรื่องการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยด้วย

ในปี 2566 อียูเป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ของไทย รองจากอาเซียน จีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 5 รองจากอาเซียน สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 4 รองจากจีน อาเซียน และญี่ปุ่น

โดยการค้าระหว่างไทย-อียู มีมูลค่ารวม 41,582.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 1.43 โดยไทยส่งออกไปยังสหภาพยุโรปมูลค่ารวม 21,838.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.21 และนำเข้าจากอียู รวมทั้งสิ้น 19,743.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.50

ทั้งนี้ ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามูลค่า 2,094.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น (1) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (2) อัญมณีและเครื่องประดับ (3) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (4) แผงวงจรไฟฟ้า (5) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ (6) ผลิตภัณฑ์ยาง (7) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (8) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ (8) เครื่องจักรและส่วนประกอบ และ (10) เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ

สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น (1) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (2) ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม (3) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ (4) เคมีภัณฑ์ (5) เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ (6) เครื่องมือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ (7) แผงวงจรไฟฟ้า (8) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ (9) เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด และ (10) เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ