อินโนเพาเวอร์ ชี้ 4 Actions ทลาย 3 เหตุผล ฉุดรั้งไทยไม่ไปสู่ความยั่งยืน

อธิป ตันติวรวงศ์

อินโนเพาเวอร์ ชี้ 4 Actions เรียนรู้ตัวเอง แก้ปัญหาระยะสั้น-ต้นตอ พร้อมเสริมความแข่งแกร่งด้วยความรู้และนวัตกรรม ทลาย 3 เหตุผลฉุดรั้งไทยไม่ไปสู่ความยั่งยืน คว้าโอกาสใหม่สร้างการเติบโต

วันที่ 1 เมษายน 2567 นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนเพาเวอร์ จำกัด กล่าวในงานสัมมนา Sustainable Daily Talk 2024 Action For Change ทำเดี๋ยวนี้เพื่อการเปลี่ยนแปลง จัดโดยหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และเดลินิวส์ ออนไลน์ ออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ Action for Change : เปลี่ยนธุรกิจด้วยนวัตกรรม เพื่อความยั่งยืน กล่าวว่า ธีมในการดำเนินธุรกิจในปีนี้ของเราคือการสร้างธุรกิจพิชิตคาร์บอน เพราะว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่สามารถทำคนเดียวได้ โดยเราอยากจะใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการไทย

อธิป ตันติวรวงศ์
อธิป ตันติวรวงศ์

4 Actions สู่ Net Zero

นายอธิปกล่าวว่า อย่างแรกต้องสร้างความตระหนัก (Awareness) จุดเริ่มต้นการไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ คุณต้องรู้ก่อนว่า คุณมีการใช้ไฟอย่างไร อุปกรณ์คุณกินไฟเท่าไหร่ เราก็จะไม่มีทางไปถึงเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แท้จริง เหมือนกับการตรวจร่างกาย แต่เราไม่รู้ว่าต้องลดคอเลสเตอรอลเท่าไหร่ หรือต้องลดน้ำตาลเท่าไหร่ ถือเป็นขั้นแรก

ต่อมาคือ ตลาดของเรากำลังหมุนไปทางความยั่งยืนมากขึ้น ผู้ประกอบการหลายรายพยายามสร้างผลที่รวดเร็วเพื่อคว้าโอกาสที่เติบโตอย่างต่อเนื่องได้ นั้นคือการซ่อมแซม หรือช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะสั้น อย่าง REC (Renewable energy credit) เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ในช่วงต้น แต่ก็เหมือนกับการกินพาราที่บรรเทาอาการได้แค่ช่วงต้น แล้วค่อยไปดูเหตุที่แท้จริงว่า คุณปล่อยก๊าซเรือนกระจกตรงส่วนไหน นำไปสู่ Action ที่ 3 นั่นคือ การที่เข้าไปแก้ปัญหาที่ต้นตอ โดยหลัก ๆ มาจากการใช้พลังงานและโลจิสติกส์ ซึ่งเป็น 2 ภาคที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะที่สุดในโลกของเรา

ส่วน Action สุดท้ายคือ ผู้ประกอบการหลาย ๆ คนอยากพัฒนาไปอีกระดับเพื่อรักษาความแข็งแกร่ง ซึ่งเราก็ได้เปิดแพลตฟอร์มหนึ่งชื่อว่า Energy ignition ventures เป็นแพลตฟอร์มให้ผู้ประกอบการร่วมลงทุนกับอินโนเพาเวอร์ ซึ่งในแต่ละ Action เราก็มีนวัตกรรมที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการเข้าถึงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างแท้จริง

อย่างการสร้างการตระหนักรู้เรามีสินค้าที่ชื่อว่า Green House Gas Report ซึ่งจะคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 90 รายแล้ว รวมถึงเรายังมี REC ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ โดยล่าสุด เราเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่ผลิตพลังงานสีเขียวแต่ไม่ได้เคลมของตัวเองสามารถเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์ม ซึ่งจะมี incentives ในการผลิตพลังงานสีเขียว เราเรียกว่า REC ภาคประชาชน

“decarbonization เป็นโอกาสที่จะเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ ที่เป็นพรีเมี่ยม อย่างปีที่แล้วเราเติบโต 700% จากการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยใช้ความรู้ของเราให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศไทยและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการชาวไทย ตอนนี้เรามีพาร์ตเนอร์อยู่มากกว่า 80 รายในปีที่ผ่านมา และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราสามารถลดคาร์บอนไปได้มากกว่า 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์หรือปลูกต้นไม้ประมาณ 45 ล้านต้น แม้จะยังน้อยแต่เราก็มีความฝันที่อยากจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยประเทศไทยไปสู่ Net Zero”

เปิด 3 เหตุผล ฉุดรั้งไทยไม่ไปสู่ความยั่งยืน

นายอธิปเผยว่า ต้นตอสำคัญที่ฉุดรั้งประเทศไทยให้ไม่สามารถก้าวไปสู่ความยั่งยืนได้นั้นมี 3 เหตุผลด้วยกัน ได้แก่ เรื่องความยั่งยืนยังเป็นเรื่องใหม่ ความเชี่ยวชาญและความรู้ยังจำกัดอยู่ อย่างแต่ละเป้าหมายมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ หากเปรียบเทียบเหมือนการใช้จ่ายเงิน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็เหมือนการลดเงิน ขณะที่ความเป็นกลางทางคาร์บอนก็เหมือนกับการบาลานซ์ระหว่างรายได้กับรายจ่ายให้พอดีกัน เพราะฉะนั้นเราต้องตั้งเป้าหมายที่ทำให้ได้จริงพร้อมมีความรู้

“อาจมีคำถามว่าถ้าทำเรื่องความยั่งยืนแล้วแพง ผู้ประกอบการจะอยู่ได้อย่างไร ความจริงแล้วมี 2 เรื่องสำคัญ เรื่องแรกคือ เรื่องต้นทุนเพราะผู้ประกอบการต้องทำเรื่อง green แต่กลายเป็นว่าต้องจ่ายเงินมาก ๆ ก็ไม่สามารถที่จะแข่งขันได้ ส่วนอีกเรื่องคือความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งหากไม่สามารถผลิตได้ต่อเนื่องก็อาจจะไม่ใช่ความยั่งยืนที่แท้จริงได้ ซึ่งต้องมีความรู้และนวัตกรรมเข้ามาส่งเสริม”

เหตุผลต่อมาคือ หลายบริษัทยังมีความเชื่อว่าการจ่ายเรื่องของความยั่งยืนเป็นการจ่ายที่ไม่คุ้มค่า เพราะว่าเขาอาจมีทรัพยากรจำกัด และเมื่อจ่ายเงินไปแล้วอาจจะยังไม่เห็นผลถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่ว่าจริง ๆ แล้ว ตอนนี้โลกเรากำลังเปลี่ยนไป เพราะตลาดของโลกกำลังให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ยกตัวอย่างบริษัทอย่าง APPLE มีเป้าว่าต้องเป็นองค์กร Net Zero ภายในปี 2573 ครับ รวมถึงเขาตั้งเป้าว่า พันธมิตรของเขาทุกคนในห่วงโซ่อุปทานก็ต้อง Net Zero ในปีเดียวกันด้วย เพราะฉะนั้นตลาดมันเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว ทำให้การลงทุนในเรื่องความยั่งยืนจะสามารถพาเข้าตลาดพรีเมี่ยมที่กำลังเปลี่ยนไปได้ก่อนคนอื่นเขา

ส่วนเหตุผลสุดท้าย คือเรื่องของการกระจายทรัพยากรไปที่ธุรกิจหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเห็นเยอะในธุรกิจ SMEs ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะว่าทาง SMEs ก็มีทรัพยากรและงบฯจำกัดในการทำธุรกิจ ดังนั้นเขาก็ต้องโฟกัสในการสร้างธุรกิจหลักก่อน แต่ว่าสิ่งนี้สามารถแก้ หากว่าคุณเป็นพาร์ทเนอร์คนที่มีความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ถูกต้อง