ส่องเทรนด์ธุรกิจรักษ์โลก ปี 67 “ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม-EV-พลังงานสะอาด” สุดบูม

environment

เมื่อเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนกลายเป็นกฎกติกาใหม่ของธุรกิจการค้าโลก และเป็นข้อบังคับให้ธุรกิจต้องปรับตัวให้สอดรับกับกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อความอยู่รอด กฎหมายและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมจะมีความเข้มงวดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายระดับโลก คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 ที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกัน เป็นแรงหนุนให้ธุรกิจที่สอดรับกับกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก

graphic

เทรนด์ธุรกิจสิ่งแวดล้อม

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ติดตามสถานการณ์ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (ณ วันที่ 4 มีนาคม 2567) มีนิติบุคคลที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม จำนวน 38,696 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 1,412,694.7 ล้านบาท จากจำนวนนิติบุคคลในไทยทั้งหมดที่ดำเนินกิจการอยู่ 905,545 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 21,865,533.4 ล้านบาท

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สามารถแบ่งเป็น 4 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ 1) กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน 2) กลุ่มธุรกิจห่วงโซ่อุปทานของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 3) กลุ่มการผลิตไฟฟ้า ประปา และพลังงานทางเลือกอื่น ๆ และ 4) กลุ่มธุรกิจให้คำปรึกษาและบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม

ซึ่งในจำนวนนี้พบว่าจำนวนกลุ่มธุรกิจให้คำปรึกษาและบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม มีจำนวนสูงสุด 24,035 ราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62.1 ของจำนวนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ขณะที่ กลุ่มธุรกิจการผลิตไฟฟ้า ประปา และพลังงานทางเลือกอื่น ๆ มีมูลค่าทุนจดทะเบียนสูงสุด 783,280.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 55.4 ของมูลค่าทุนจดทะเบียนของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด

รีไซเคิลธุรกิจ ศก.หมุนเวียนดาวเด่น

กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ดำเนินธุรกิจตามแนวคิดเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่า ลดการเกิดของเสียหรือมลพิษ การนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ และการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวถูกเปลี่ยนผ่านมาจากระบบเศรษฐกิจแนวตรง (Linear Economy) ที่เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อนำมาผลิตสินค้าสำหรับการบริโภค และจะถูกทิ้งเมื่อหมดประโยชน์ สร้างปัญหาของเหลือทิ้งและของเสียตกค้างในระบบนิเวศ

สนค.พบว่าธุรกิจแนวโน้มมีการเปลี่ยนแปลงยกระดับธุรกิจสู่ความยั่งยืน ปัจจุบันมีจำนวนนิติบุคคลในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน 1,963 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 34,378.5 ล้านบาท โดยเฉพาะในปี 2566 มีนิติบุคคลที่จัดตั้งใหม่ 184 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 453.7 ล้านบาท และในปี 2567 ในช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา มีนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ 40 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 140 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจการนำวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่

ธุรกิจเกี่ยวกับ “อีวี” สุดบูม

กลุ่มธุรกิจห่วงโซ่อุปทานของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า จากความนิยมของผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวต่อเนื่อง

โดยองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่า ในปี 2565 การใช้จ่ายทั่วโลกสำหรับยานยนต์ไฟฟ้ามีมูลค่ากว่า 425,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

สำหรับไทย ภาครัฐผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีนโยบาย 30@30 และออกมาตรการต่าง ๆ อาทิ มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเพิ่มขึ้นมาถึง 1 แสนคันในปีก่อน ส่งผลให้ในปี 2566 มีนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ไฟฟ้า แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และการบำรุงรักษาและซ่อมระบบเครื่องยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์) จัดตั้งใหม่ 739 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 3,174.6 ล้านบาท และในปี 2567 ช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา มีนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ 201 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 420 ล้านบาท โดยจนถึงปัจจุบันมีจำนวนนิติบุคคลในกลุ่มธุรกิจ 8,861 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 157,224.4 ล้านบาท

ยิ่งการที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 มีมติเห็นชอบปรับปรุงมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ อาทิ รถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck) สามารถหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการซื้อรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งานได้จนถึงสิ้นปี 2568 นับเป็นแรงหนุนธุรกิจนี้ให้มีโอกาสเติบโตมากขึ้น

พลังงานทางเลือกแรงไม่ตก

กลุ่มการผลิตไฟฟ้า ประปา และพลังงานทางเลือกอื่น ๆ การใช้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานทดแทน เป็นแนวโน้มสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากพลังงานดั้งเดิม (เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ) จึงเป็นเหตุผลสำคัญของการเติบโตของธุรกิจการผลิตพลังงานทางเลือกสะอาด

ปัจจุบันมีจำนวนนิติบุคคลในกลุ่มธุรกิจการผลิตไฟฟ้า ประปา และพลังงานทางเลือกอื่น ๆ เช่น การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ และการผลิตและ การส่งไฟฟ้า รวม 3,837 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 783,280.1 ล้านบาท ในปี 2566 มีนิติบุคคลที่จัดตั้งใหม่ 295 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 2,418.5 ล้านบาท และในปี 2567 ช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา มีนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ 51 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 162 ล้านบาท ตัวอย่างธุรกิจที่กำไรเติบโตสูงในปี 2565 อาทิ ธุรกิจการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ กำไรเติบโตร้อยละ 54.5 เป็นการเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า ที่เติบโตถึงร้อยละ 169.6

ที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อมธุรกิจมาแรง

อีกสาขาที่มาแรง คือ กลุ่มธุรกิจให้คำปรึกษาและบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เป็นธุรกิจที่เข้ามาช่วยให้การบริหารจัดการด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมขององค์กรเป็นไปอย่างมีระบบ ถูกต้อง เหมาะสม มีมาตรฐาน และสอดคล้องตามกฎหมาย สามารถบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันมีจำนวนนิติบุคคลในกลุ่มธุรกิจให้คำปรึกษาและบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการน้ำเสีย และกิจกรรมให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ 24,035 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 437,811.7 ล้านบาท ในปี 2566 มีนิติบุคคลที่จัดตั้งใหม่ 2,682 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 6,178.6 ล้านบาท และในปี 2567 ช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา มีนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ 556 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 862 ล้านบาท

จากข้อมูลข้างต้น กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเติบโตเพิ่มมากขึ้น สะท้อนถึงโอกาสของธุรกิจในกลุ่มนี้ จึงทำให้มีผู้เล่นรายใหม่ ๆ เข้ามาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและตลาด ซึ่งไม่ว่าธุรกิจจะอยู่ในอุตสาหกรรมใดก็ตาม จะต้องปรับตัวสู่แนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อให้ธุรกิจแข่งขันได้ในระยะยาว ทั้งการนำหลักการ ESG (Environmental Social & Governance) มาใช้ในองค์กร โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาธิบาล มีการกำหนดกลยุทธ์ด้าน ESG ขององค์กร มีการเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อวางแผนลดการปล่อย ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับธุรกิจให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Tech) เพิ่มมากขึ้น