“ปาล์มแดง” ทางเลือกใหม่ ลงทุนน้อย ราคาดี 1,200 บ./กก.

น้ำมันปาล์ม

วันที่ 24 กันยายน 2567 จะถือเป็นวันสิ้นสุดของการขยายเวลามาตรการลดการจ่ายเงินชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพของ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 บทเฉพาะกาลมาตรา 55 อีกด้วย ซึ่งอาจจะกระทบต่อปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มจนเกินภาวะอุปทานส่วนเกิน (Oversupply) ทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำได้

เกษตรกรจึงต้องหาทางออก สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับ “ปาล์มน้ำมัน” ที่อาจจะมีราคาตกต่ำลง และยังต้องเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง ทั้งจากสภาพอากาศ เทรนด์ผู้บริโภค หรือแม้แต่นโยบายของรัฐ

น้ำมันปาล์มธรรมชาติ หรือ “ปาล์มแดง” เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะมาสร้างโอกาสและมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตปาล์มให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มและวิสาหกิจชุมชน

ในโอกาสที่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง นำคณะลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.ตรัง เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้รับฟังผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผลิตน้ำมันปาล์มแดงธรรมชาติ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และเยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน จังหวัดตรัง

ลงทุนต่ำ-ราคาดี

รศ.ดร.หมุดตอเล็บ หนิสอ อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า น้ำมันปาล์มแดงคือการสกัดผลปาล์มด้วยวิธีการธรรมชาติสามารถทำได้ในชุมชน ด้วยเครื่องไมโครเวฟ ซึ่งใช้ต้นทุน 10 ล้านบาท ต่ำกว่าการผลิตแบบดั้งเดิมที่ต้องตั้งโรงสกัดน้ำมันปาล์ม ใช้เงินลงทุนกว่า 200 ล้านบาท หรือโรงกลั่นน้ำมันปาล์มก็ต้องลงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท

เหตุผลด้านราคา น้ำมันปาล์มแดงยังให้ผลตอบแทนที่สูง เพราะเมื่อเทียบราคาน้ำมันปาล์มจากการทะลายปาล์ม 100 กิโลกรัม สามารถผลิตน้ำมันปาล์มแดงธรรมชาติได้ประมาณ 12 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 500 บาท หรือถ้านำไปขายที่ต่างประเทศอย่างเว็บไซต์ Amazon มูลค่าสินค้าก็สูงถึง 1,200 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งตอนนี้ปริมาณการผลิตยังไม่ตรงตามเป้าที่ควรจะเป็นที่ 18-20 กิโลกรัมต่อ 100 กิโลกรัม เนื่องจากปัญหาขาดแคลนเงินทุนที่จะยกระดับเครื่องจักรให้เป็นระดับอุตสาหกรรม

“กระบวนการทำน้ำมันปาล์มแดงนั้น เมื่อทำให้ผลปาล์มสุกด้วยกระบวนการอบผ่านเครื่องไมโครเวฟ ซึ่งไทยถือเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการใช้ แล้วจากนั้นก็นำมาใส่เครื่องบีบเพื่อคั้นน้ำมันออกมาและเข้าเครื่องแยก ซึ่งจะได้น้ำมัน 2 ประเภท ได้แก่ น้ำมันอิ่มตัว และน้ำมันไม่อิ่มตัว เพื่อนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ อาทิ น้ำมันสกัด ครีมเทียมจากธรรมชาติที่ไม่มีไขมันทรานส์ และกลุ่มเวชสำอาง เช่น สบู่ โลชั่นและครีมทาตัว รวมถึงกากปาล์มที่ได้จากกระบวนสกัดแบบนี้สามารถนำไปให้อาหารสัตว์เพื่อกระตุ้นการเติบโต โดยเฉพาะวัวนมที่สามารถช่วยกระตุ้นการเกิดน้ำนมได้”

รศ.ดร.หมุดตอเล็บ หนิสอ
รศ.ดร.หมุดตอเล็บ หนิสอ

1 อำเภอ 1 โรงงาน “ปาล์มแดง”

รศ.ดร.หมุดตอเล็บกล่าวว่า ตอนนี้มีโรงงานต้นแบบอยู่ที่วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันท่าสะบ้า จังหวัดตรัง และเรามีแผนที่จะยกระดับกำลังผลิตของเครื่องไมโครเวฟจากเดิมด้วยกำลังไฟ 1 กิโลวัตต์ ให้เป็น 10 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งจะเพิ่มกำลังผลิตจากเดิมที่ได้วันละประมาณ 500 กิโลกรัมต่อวัน เป็น 2 ตันต่อวัน รวมถึงต่อยอดให้ทุกวิสาหกิจชุมชนมี 1 อำเภอ 1 โรงงานน้ำมันปาล์มแดง”

แต่เกษตรกรบางส่วนระบุว่า ปัจจุบัน จ.ตรัง มีผลผลิตปาล์มที่ 1.12 ล้านตัน ใช้ในการอุปโภคบริโภคในประเทศและส่งออก ทว่าจากข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2567 ของกรมการค้าภายในระบุว่า ยังมีสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ คงเหลือ 264,090 ตัน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มาก ทำให้แม้ปาล์มแดงจะตอบโจทย์ในเรื่องคุณภาพ และการเพิ่มคุณค่าของวัตถุดิบ แต่อาจไม่ตอบโจทย์ในเรื่องปริมาณที่ล้นตลาด เนื่องจากว่าปาล์มแดงยังไม่เป็นที่รู้จักของตลาดมากนัก จึงต้องอาศัยนโยบายของภาครัฐมาผลักดันเรื่องนี้่

ตลาดปาล์มแดงยังโตได้

นางจันทร์เพ็ญ ชิดเชื้อ ประธานวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน หมู่ที่ 3 ตำบลท่าสะบ้า อำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า น้ำมันปาล์มแดงเกิดจากในฐานะชาวสวนปาล์มประสบปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำจากผลผลิตล้นตลาด เราจึงต้องการพึ่งพาตนเอง ด้วยการรวมกลุ่มเป็นเกษตรกรแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน และจดทะเบียนรูปแบบกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตน้ำมันปาล์มแดงธรรมชาติและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะสบู่ก้อน สบู่เหลว เจลนวดสมุนไพร

“น้ำมันปาล์มแดงนั้นมีประโยชน์มากเพราะมีปริมาณวิตามินเอ วิตามินอีสูง และยังคงมีสารเบต้าแคโรทีน (Beta-Carotene) เพราะเราใช้กระบวนการสกัดธรรมชาติ ขณะที่กรรมวิธีผลิตทั่วไปของน้ำมันปาล์มดิบที่จะมีการฟอกสีทำให้สารอาหารเหล่านี้หายไป รวมถึงอาจมีโลหะหนักปนเปื้อนในสารสีส้มที่สกัดออกมา ไม่สามารถบริโภคสด ๆ ได้ ซึ่งต่างจากน้ำมันปาล์มแดงที่สามารถบริโภคเพื่อเป็นอาหารเสริมสุขภาพแบบเดียวกับน้ำมันมะกอกหรือน้ำมันมะพร้าวได้ นอกจากนี้ยังนำมาประกอบอาหารแบบใช้ความร้อนต่ำได้ รวมถึงยังมีสารเบตาแคโรทีนช่วยบำรุงผิว ลดริ้วรอย ลดรอยเหี่ยวย่น ลดการอักเสบ โดยเฉพาะคนที่ผิวแห้ง”

จันทร์เพ็ญ ชิดเชื้อ
จันทร์เพ็ญ ชิดเชื้อ

ต่อยอด GMP มูลค่าเพิ่ม 10 เท่า

นางจันทร์เพ็ญกล่าวเสริมว่า ปัจจุบันเราได้รับมาตรฐาน อย./GMP แล้วสำหรับผลิตภัณฑ์เวชสำอาง และผลักดันจนเป็นสินค้า OTOP ของชุมชน ภายใต้แบรนด์ “Peora” ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารยังต้องรอการอนุมัติมาตรฐาน อย.สำหรับอาหารใหม่ (Novel Food) ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี ขณะนี้ก็พยายามใช้งานวิจัยต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น ซอฟต์เจลผสมสมุนไพร การผลิตเจลลี่สำหรับผู้สูงอายุ วิตามินสำหรับเด็ก มาร์การีนชีวภาพ ตลอดจนนำไปใช้ในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง อาหารไก่ อาหารโค เป็นต้น

“สิ่งที่กลุ่มของเราคาดหวังจะให้เกิดในอนาคตคือโรงงานน้ำมันปาล์มธรรมชาติต้นแบบเชิงพาณิชย์ในชุมชนโดยมีเครื่องมือและขนาดที่เหมาะสมสำหรับสกัดน้ำมันปาล์มแดงธรรมชาติที่ได้มาตรฐาน อย./GMP เพื่อผลิตน้ำมันบริโภค และเครื่องสำอาง เวชสำอาง รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐช่วยขยายตลาดให้น้ำมันปาล์มแดงเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น เพราะเราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับปาล์มน้ำมันจากปาล์มแดงได้ถึง 10 เท่า”