เปิดหลักเกณฑ์การขนย้าย “กากแคดเมียม” ทำได้อย่างไร ใครอนุญาต

เปิดหลักเกณฑ์ การขนย้ายกากอุตสาหกรรม “แคดเมียม” สิ่งปฎิกูล พ.ร.บ.โรงงาน 2535 ชี้ชัดห้ามขนย้ายออกนอกพื้นที่ เว้นแต่ “อธิบดีกรมโรงงาน ” หรือผู้ได้รับมอบหมายอนุญาต

วันที่ 11 เมษายน 2567 กรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นหน่วยงานหลักที่ควบคุมดูแลเรื่องของ การจัดการกากอุตสาหกรรม จากกรณีที่มีการตรวจพบ “กากแร่แคดเมียม” ที่ถูกขนย้ายจากหลุมฝังกลบของ บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) จ.ตาก จำนวน 15,000 ตัน และนำมาที่ บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด จ.สมุทรสาคร รวมทั้งกระจายอยู่ในโรงงานพื้นที่ จ.ชลบุรี และกรุงเทพฯ ปริมาณรวม 13,688 ตัน

ซึ่งตามขั้นตอนการจัดการกากอุตสาหกรรมแล้วนั้น จะต้องมีผู้ร่วมตามกระบวนการ 3 ส่วน คือ 1. บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) มีสถานะเป็นโรงงานผู้ก่อกำเนิด มีกากแร่แคดเมียมที่ได้จากการทำเหมืองแร่สังกะสี

ในขณะที่เปิดดำเนินการภายใต้ชื่อ “ผาแดงอินดัสทรี” ซึ่งปิดการทำเหมืองไปเมื่อปี 2560 ดังนั้นจึงยังคงมีกากแร่เหลืออยู่ และต้องกำจัดด้วยการทำให้ค่าเป็นพิษลดลง จากนั้นฝังกลบตามมาตรการ EIA ซึ่งส่วนนี้จะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.โรงงาน

2.ผู้ขนส่งของเสียอันตราย ซึ่งจะมีหน้าที่ในการขนย้ายกากของเสีย กากอุตสาหกรรมออกนอกพื้นที่ เพื่อไปยังจุดหมายอื่น เช่น โรงงานกำจัด โรงงานรีไซเคิล ส่วนนี้จะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย

3.โรงงานผู้รับกำจัด บำบีด รีไซเคิล ภายใต้ พ.ร.บ.โรงงาน ซึ่งในส่วนนี้อาจรวมไปถึงบริษัทผู้รวบรวมและการส่งออกซึ่งภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย

โดยทั้งหมดนี้ จะมีหน่วยงานกำกับดูแลคือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมจังหวัด และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ส่วนกฎหมายที่ว่า “พ.ร.บ.โรงงาน 2535” ได้มีการกำหนด เรื่องชนิดและขนาดของโรงงาน วิธีการควบคุมการปล่อยของเสีย มลพิษ หรือสิ่งใดที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คุณสมบัติของผู้ควบคุมดูแล ผู้ปฏิบัติงานประจำ และหลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนผู้ควบคุมดูแล สำหรับระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ พ.ศ. 2545

นอกจากนี้ยังมี กฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ที่มีเรื่องของหลักเกณฑ์และวิธีการ การแจ้งรายละเอียด เกี่ยวกับสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุไม่ใช้แล้ว ออกนอกโรงงานโดยทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Internet) พ.ศ. 2547 นี่จึงอาจเป็นช่องโหว่ทำให้การอนุญาต และไม่ลงพื้นที่ตรวจสอบ จนเกิดทำให้แคดเมียมหลุดรอดออกมาจากในพื้นที่

ส่วนการกำจัดสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุไม่ใช้แล้ว หรือที่มีคำนิยามว่า “สิ่งของที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสีย ทั้งหมด ที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงาน รวมถึงของเสียจากวัตถุดิบ ของเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต ของเสียที่เป็นผลิตภัณฑ์เสื่อมคุณภาพ และน้ำทิ้งที่มีองค์ประกอบหรือมีคุณลักษณะที่เป็นอันตราย เช่น กากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสีย บรรจุภัณฑ์ที่ไม่ใช้แล้ว กากสี เศษผ้าปนเปื้อนน้ำมัน น้ำมันใช้แล้ว สารเคมีที่ใช้งานแล้ว เป็นต้น”

จะต้องดำเนินการตามนี้ 1.รักษาโรงงานให้สะอาด และมีที่รองรับ/ที่กำจัดขยะและสิ่งปฏิกูล 2.แยกเก็บของเสียซึ่งมีวัตถุมีพิษปนอยู่ ไว้ในที่รองรับที่เหมาะสมและมีฝาปิดมิดชิด และต้องกำจัดสิ่งดังกล่าวด้วยวิธีการที่ปลอดภัย 3.โรงงานที่มีของเสียต้องดำเนินการกำจัด ดังต่อไปนี้

ห้ามมิให้นำออกนอกบริเวณโรงงาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (อรอ.) หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด พร้อมทั้งต้องแจ้งรายละเอียดชนิด ปริมาณ คุณสมบัติและสถานที่เก็บ พร้อมวิธีการเก็บ รวมถึงทำลายฤทธิ์ กำจัด ทิ้ง ฝัง เคลื่อนย้ายและการขนส่ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด