ถอดบทเรียน “กากแร่แคดเมียม” เร่งอุดช่อง “การบังคับใช้กฎหมาย”

ถอดบทเรียน “กากแร่แคดเมียม” เร่งอุดช่อง “การบังคับใช้กฎหมาย”

เกิดคำถามมากมายจากกรณีการพบ “กากแร่แคดเมียม” ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ว่าที่มาที่ไปของการเคลื่อนย้ายกากแร่อันตรายดังกล่าวออกจากต้นทาง จ.ตาก มายังพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ทำได้อย่างไร ทั้งที่แคดเมียมจัดอยู่ในกลุ่ม “วัตถุอันตราย” กระบวนการอนุญาตเก็บ กำจัด ทำลาย ขนย้าย เป็นหน้าที่ของใครที่ต้องควบคุมดูแล

แร่แคดเมียม มีสัญลักษณ์คือ Cd เป็นแร่โลหะหนักชนิดหนึ่งในธรรมชาติจะถูกพบในการทำเหมืองสังกะสี รวมถึงแหล่งอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ปนเปื้อนอยู่กับแร่ธาตุอื่น ๆ เช่น แร่ทองแดง แร่สังกะสี แร่ตะกั่วหรือทองแดง หรือแม้แต่ปนเปื้อนอยู่ในการสูบบุหรี่ สีทาบ้าน

ส่วนกากแร่แคดเมียม เป็นสาเหตุทำให้ก่อมะเร็ง สามารถฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ ปะปนในอาหารได้ จึงเป็นเหตุให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ต้องประกาศให้ จ.สมุทรสาคร เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ และห้ามเข้าออกพื้นที่อันตรายดังกล่าวเป็นเวลาถึง 90 วัน จนกว่าจะขนย้ายกากแร่เสร็จสิ้น ซึ่งขณะนี้ได้มีการตรวจสอบพบปริมาณสารแคดเมียมเกินมาตรฐานในร่างกายของพนักงานแล้ว 8 คน

ไทม์ไลน์พบแคดเมียม

ย้อนกลับไปถึงการค้นพบ “กากแร่แคดเมียม” เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2567 จากการซุกซ่อนถุงบิ๊กแบ็ก ในบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ต.บางน้ำจืด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ร้อนถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งให้ทุกหน่วยงานเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า บริษัทแห่งนี้ประกอบกิจการหลอมหล่ออะลูมิเนียม แต่ได้มีการเก็บกากแร่แคดเมียมและกากสังกะสี 2,440 ตัน

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล
พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

จากนั้นในวันที่ 6 เมษายน 2567 มีรายงานการตรวจพบบรรจุในถุงบิ๊กแบ็กที่ ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี 4,200 ถุง น้ำหนัก 6,720 ตัน และยังมีการตรวจสอบพบอีก 1,000 ตัน ในร้านที่ประกอบกิจการหล่อหลอมทองแดง และตะกอนทองแดง จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ซึ่งเมื่อรวมทั้ง 3 จุด พบ 10,160 ตัน จึงคาดว่าจะมีกากแคดเมียมหลงเหลือจากปริมาณการแจ้งย้ายอีก 6,000 ตัน

ตีกลับ จ.ตาก ภายใน 7 วัน

สำหรับการดำเนินการของภาครัฐ หลังจากตรวจสอบพบกากแคดเมียม ทางรัฐได้มีคำสั่งให้ส่งกลับคืนไปฝังกลบที่ จ.ตาก ในบริเวณพื้นที่เหมืองสังกะสี บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) จ.ตาก ภายใน 7 วัน

แต่กว่าจะผ่านด่านตรวจหลายร้อยกิโลเมตรข้ามไปหลายอีกจังหวัด จะมีขั้นตอนและวิธีการป้องกันไม่ให้สารดังกล่าวแพร่กระจายออกมาสู่ภายนอกได้อย่างไร และเมื่อส่งกากแร่แคดเมียมกลับไปถึงพื้นที่แล้ว กระบวนการนำลงหลุมฝังกลบ ใน 15 วันจะมีขั้นตอนอย่างไร

ใช้ในอุตฯแบตเตอรี่ บุหรี่ สี

แม้ว่าประโยชน์ของ “แร่แคดเมียม หรือโลหะแคดเมียม” ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิตเซลล์นิกเกิล-แคดเมียม สำหรับแบตเตอรี่ และถ่าน Ni-Cd หรือถ่านไฟฟ้า ทำสีในอุตสาหกรรมพลาสติก เซรามิก ทำโลหะผสม และใช้เคลือบเหล็กกล้า ทองแดง และโลหะอื่น ๆ เพื่อป้องกันการผุกร่อน รวมทั้งนำไปทำสารเคลือบผิวผลิตภัณฑ์ได้ แต่จะต้องขออนุญาต

ซึ่งเบื้องต้นข้อมูลพบว่า ผู้ประกอบการมีการยื่นออกใบอนุญาตการขนย้ายครั้งนี้ดำเนินการในระบบอิเล็กทรอนิกส์

โดยแนบมาตรการสิ่งแวดล้อมมาด้วย 5 ประการ และระบุว่าเป็นธาตุ รวมทั้งไม่ได้มีแค่กากแร่แคดเมียมเท่านั้น ขณะปลายทางมีใบอนุญาตถูกต้อง คือ มีประเภท 106 และมีโรงหลอมที่ตรงกับประเภทจากต้นทาง

ต้นตอกากแร่แคดเมียม

นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า กากแร่แคดเมียมเป็นแร่ชนิดหนึ่งที่มักพบจากการทำเหมืองแร่สังกะสี ตะกั่ว และทองแดง ซึ่งในอดีตพื้นที่ จ.ตาก มีการทำเหมืองแร่สังกะสีและมีโรงประกอบโลหกรรม ของ บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน)หรือ PDI และแน่นอนว่ากากแร่ดังกล่าวมาจากเหมืองแห่งนี้ แต่ด้วยเหมืองแร่สังกะสีผาแดง ประทานบัตรขุดแร่ได้หมดอายุไปแล้ว การทำเหมืองแห่งนี้จึงยุติลง และปัจจุบันไทยไม่มีการทำเหมืองสังกะสี ตะกั่ว และทองแดงแล้ว

ไล่ตรวจต้นทางใบอนุญาต

กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ซึ่งถือเป็นผู้มีอำนาจในการให้ใบอนุญาตต่าง ๆ ของโรงงานอุตสาหกรรม ใช้ตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 สั่งให้นำกากแคดเมียมและกากสังกะสีทั้งหมด กลับไปฝังกลบในบ่อเก็บตามเดิม และได้ตรวจสอบข้อมูล PDI ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2524 และได้รับสัมปทานเหมืองผาแดงเมื่อปี 2525

เพื่อดำเนินการธุรกิจเหมืองแร่และผลิตโลหะสังกะสีอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย มีกำลังการผลิตสังกะสีและอัลลอยรวมกัน 110,000 เมตริกตัน มีเหมืองสังกะสีอยู่ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ต่อมาปี 2527 ได้เพิ่มโรงถลุงแร่ขึ้นที่จังหวัดตาก และปี 2538 ก่อตั้งโรงย่างแร่ที่จังหวัดระยอง

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2530 เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วัตถุดิบจากเหมืองที่แม่สอดลดลง จึงทำการปิดกิจการเหมืองแร่สังกะสี รวมถึงโรงย่างแร่ที่จังหวัดระยอง เมื่อปี 2560 จากนั้นได้เริ่มดำเนินธุรกิจใหม่ ๆ ด้านพลังงานทดแทน และเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน)” เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 โดยเดินหน้ารุกธุรกิจโรงแรม

ดังนั้นนับตั้งแต่ปี 2560 บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ “ผาแดงอินดัสทรี” เดิม ดำเนินกิจกรรมด้านสังกะสีรีไซเคิลทั้งหมด โดยมีแหล่งวัตถุดิบจากในประเทศและอาจจะนำเข้า

แม้ว่าจะมีการสั่งย้ายอุตสาหกรรม จ.ตากไปแล้ว แต่การตรวจสอบยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด บทเรียนครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของการเจอสารเคมี วัตถุอันตรายที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ สิ่งที่ต้องย้อนกลับมาพิจารณา คือ ช่องโหว่ของกฎหมาย ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายทั้งหมดต้องจริงจัง ก่อนที่จะมีเหตุสลดเกิดขึ้นอีกครั้ง