ใครจะรับผิดชอบกากแคดเมียม

ชลบุรี แคดเมียม
ภาพจาก ตำรวจสอบสวนกลาง
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

การพบกากแคดเมียมและกากสังกะสี ที่โรงงานของบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล ต.บางน้ำจืด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา ได้สร้างความตื่นตระหนกจากพิษภัยของกากแคดเมียม ซึ่งเป็นแร่โลหะหนักชนิดหนึ่ง มีพิษต่อกระดูกและเป็นสารก่อมะเร็ง โดยปริมาณกากแคดเมียมที่พบนี้มีจำนวนมากกว่าหมื่นตัน ถูกบรรจุอยู่ในถุงบิ๊กแบ็กเก็บไว้ในโรงงานของ บริษัทเจ แอนด์ บี เมททอล และยังพบกระจายอยู่ในโรงงานอีกหลายแห่งในตำบลเดียวกันนี้ รวมไปถึง ยังพบที่โรงงานใน อ.บ้านบึง จ.ชลบุรีด้วย

จากการตรวจสอบต้นทางของกากแคดเมียมทั้งหมดพบว่า ถูกขนย้ายมาจาก บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดตาก ซึ่งบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ ถูกเปลี่ยนชื่อมาจาก บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินกิจการเหมืองแร่สังกะสีและถลุงโลหะสังกะสี

แต่ได้ปิดกิจการทำเหมืองมาตั้งแต่ปี 2560 จึงมีความเข้าใจได้ว่า กากแคดเมียม ที่พบทั้งหมดในขณะนี้ล้วนอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร และยังถูกขนย้ายไปที่โรงงานอีกมีที่มาจากการทำเหมืองแร่สังกะสีของ บริษัท ผาแดงอินดัสทรี ในอดีต โดยบริษัท ผาแดงฯ ได้จัดการฝังกลบกากแคดเมียมไว้ในบ่อเก็บกากแคดเมียมจำนวน 7 บ่อ

จากการตรวจสอบของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตาก พบว่า บ่อเก็บกากแคดเมียม 7 บ่อนี้ ในบ่อที่ 5 ได้มีการขุดและนำกากแคดเมียมออกไปใช้ประโยชน์ตั้งแต่ปี 2566 มาแล้วครั้งหนึ่ง และในปีนี้ จะมีการดำเนินการขุดและนำกากแคดเมียมออกจากบ่อที่ 1-2-3-4-6-7 ออกไปใช้ประโยชน์อีก แต่เรื่องมาแดงเสียก่อน

พลันที่มีการค้นพบกากแคดเมียมอันตราย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด ได้ออกประกาศห้ามมิให้บุคคลใด ๆ เข้าไปอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการใดในพื้นที่โรงงานทั้ง 2 แห่งเป็นระยะเวลา 90 วัน ขณะที่ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ได้ใช้อำนาจตามพ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 อายัดกากแคดเมียมและกากสังกะสีที่พบทั้งหมด เพื่อนำกลับไปฝังกลบในบ่อเก็บเดิมที่ จ.ตาก และยังมีคำสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ห้ามนำกากแคดเมียมเข้าสู่กระบวนการผลิต และดำเนินคดีฐานประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย

แต่การดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทผู้ครอบครองกากแคดเมียมทั้งที่ จ.สมุทรสาคร กับ จ.ชลบุรี ยังไม่เพียงพอต่อข้อสงสัยที่ว่า ทำไมถึงมีการอนุญาตให้มีการขนย้ายกากแคดเมียมออกมาจากบ่อเก็บจำนวน 7 บ่อ ของบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ และใครเป็นผู้อนุญาต ดังนั้นการเซ็นคำสั่งย้าย อุตสาหกรรมจังหวัดตาก ต้นทางของกากแคดเมียม มาช่วยราชการในกระทรวงอุตสาหกรรม จึงเป็นกระบวนการขั้นแรกที่จะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงและผู้รับผิดชอบตามกฎหมายกรณีการขนย้ายกากแคดเมียมในครั้งนี้