สรุปโกดังแคดเมียม พบที่ไหนบ้าง 13,688 ตัน

โกดังแคดเมียม

เปิดไทม์ไลน์ไล่ตรวจโรงงานซุกกากแคดเมียม นับตั้งแต่ 4 เม.ย. 2567 รวม 7 วัน พบแล้ว 13,688 ตันจาก 5 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดสมุทราสาคร ชลบุรี และบางซื่อฯ เร่งหาแคดเมียมที่เหลือ ด้าน กพร. เตรียมแผน-มาตรการป้องกันความปลอดภัยในการขนย้าย

วันที่ 11 เมษายน 2567 กากแคดเมียมที่จังหวัดตาก ได้มาจากการถลุงแร่สังกะสี ซึ่งมีส่วนประกอบของแร่ทองแดง และแร่แคดเมียม ซึ่งเหมืองแร่ในจังหวัดตาก ซึ่งได้ปิดตัวลงไปนานแล้ว ถูกลำเลียงออกมาจาก จ.ตาก 15,000 ตัน จนกระทั่งถูกตรวจสอบพบจนถึงขณะนี้ ปริมาณรวม 13,688 ตันจาก 5 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดสมุทราสาคร ชลบุรี และกรุงเทพฯ ดังนี้

1.วันที่ 4 เมษายน 2567 บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ประกอบกิจการหลอมหล่ออะลูมิเนียมแท่ง อะลูมิเนียมเม็ด จากเศษอะลูมิเนียมและตะกรันอะลูมิเนียม (SCRAP AND  DROSS) ต.บางน้ำจืด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร 2,440 ตัน

2.วันที่ 6 เมษายน 2567 พื้นที่โรงเรือน ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี จำนวน 4,200 ถุง น้ำหนักประมาณ 6,720 ตัน

3.วันที่ 7 เมษายน 2567 โรงงานแห่งหนึ่งใน ต.บางน้ำจืด จ.สมุทรสาคร ซึ่งประกอบกิจการหล่อหลอมทองแดง และตะกอนทองแดง พบกองกากแคดเมียม กระจายอยู่ทั้งในและนอกอาคาร จำนวนกว่า 1,000 ตัน

4.วันที่ 10 เมษายน 2567 บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ประกอบกิจการหลอมหล่ออะลูมิเนียมแท่ง อะลูมิเนียมเม็ด จากเศษอะลูมิเนียมและตะกรันอะลูมิเนียม (SCRAP AND  DROSS) ต.บางน้ำจืด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เพิ่มอีก 3,378 ตัน

5.วันที่ 10 เมษายน 2567 บริษัท ล้อโลหะไทย แมททอล จำกัด ตั้งอยู่ 1532/1 ซ.เรียงปรีชา ถนนประชาราษฎร์ แขวงและเขตบางซื่อ กทม. จำนวน 150 ตัน บรรจุในถุงบิ๊กแบ๊กจำนวน 98 ถุง

โดยหลังจากนี้ คณะกรรมการ 6 หน่วยงาน เพื่อติดตามสถานการณ์กากแคดเมียม จะเร่งดำเนินการในขั้นต่อไป ทั้งการตรวจหากากแคดเมียมที่เหลือ และการจัดการกับกากแคดเมียมที่พบ โดยได้มอบหมาย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) วางแผนและวางแนวทาง รวมถึงมาตรการป้องกันความปลอดภัยในการขนย้าย ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง พร้อมทั้งจัดเตรียมพื้นที่รวมถึงสภาพแวดล้อมให้มีความปลอดภัย ทั้งก่อนและหลังขนย้าย

โดยมีแนวทางนำกลับไปฝังกลบที่บ่อเดิมในจังหวัดตากซึ่งเป็นบ่อซีเมนต์ และปูด้วยพลาสติก HDPE หนา 1.5 มิลลิเมตร (High-Density Polyethylene เป็นวัสดุพลาสติกที่ผลิตจากการพอลิเมอร์ไรเดอร์ในสภาวะแรงดันสูง) ตามที่การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment EIA) กำหนด