พิมพ์ภัทรา แจงเองขั้นตอนการขนย้าย “กากแคดเมียม” จนฝังกลบทำอย่างไร

พิมพ์ภัทรา

“พิมพ์ภัทรา” แจงยิบขั้นตอนการขนกากแคดเมียนกลับ จ.ตาก สั่งคุมเข้มตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง เก็บ – ขน – ฝังกลบ ห้ามกระทบประชาชนเด็ดขาด ต้องถึงแลายทางภายใน 30 เม.ย. 2567 ปิดหลุมฝังภายใน 15 พ.ค.

วันที่ 11 เมษายน 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดการกากแคดเมียมทั้งหมด 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี และ กทม. รวม 12,421.11 ตัน ประกอบด้วย บริษัท เจ แอนด์ บี (โรงงานประเภท 106/60) สมุทรสาคร ตรวจพบ 6,151 ตัน, บริษัท เจ แอนด์ บี (โรงงานประเภท 60) สมุทรสาคร ตรวจพบ 227 ตัน, โกดังต.คลองกิ่ว จ.ชลบุรี ตรวจพบ 4,391.11 ตัน, บริษัท ซินหงษ์เฉิง จ.สมุทรสาคร ตรวจพบ 1,034 ตัน, โกดังคลองมะเดื่อ สมุทรสาคร ตรวจพบ 468 ตัน บริษัท ล้อโลหะไทยฯ บางซื่อ กรุงเทพ ตรวจพบ 150 ตัน

ขณะนี้คณะกรรมการอำนวยการขนย้ายกากแคดเมียมและกากสังกะสี กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รายงานสถานการณ์ล่าสุด หลังหารือร่วมกับบริษัท เบาว์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ถึงทางแก้ปัญหาการขนกากตะกอนแคดเมียมกลับมาฝังที่เดิมใน จ.ตาก เบื้องต้นทางบริษัทระบุว่า พร้อมให้ความร่วมมือกับทางราชการในการแก้ปัญหา ซึ่งทางคณะกรรมการอำนวยการได้มีคำสั่งถึงบริษัท บียอนด์ฯ จำนวน 3 ฉบับ

ประกอบด้วย คำสั่งให้เพิกถอนการอนุญาตให้นำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงาน, คำสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน แก้ไข ปรับปรุงโรงงาน และปฏิบัติให้ถูกต้อง และระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน แก้ไข ปรับปรุงและปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535

โดยสาระสำคัญของทั้ง 3 คำสั่ง เพื่อแจ้งเพิกถอนการอนุญาตขนกาก และสั่งการตาม พ.ร.บ.โรงงาน 2535 และ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย 2535 ให้นำกากแคดเมียมกลับมาฝังกลบที่เดิม โดยต้องจัดทำแผนการขนย้ายกากมาให้พิจารณาภายใน 3 วัน นับจากวันที่ได้รับคำสั่ง และให้ทำการขนกากตะกอนแคดเมียมทั้งหมดกลับมาภายใน 30 เมษายน 2567 รวมถึงการปิดหลุมฝังกลบให้ถูกต้องเรียบร้อยตามรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2567

แนวทางเบื้องต้น ในการจัดการกากแคดเมียม ได้กำชัดให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และต้องไม่กระทบต่อสิ่งแลดล้อม และประชาชนในพื้นที่ มีระบบการตรวจสอบตั้งแต่ต้นทาง และปลายทางด้วยระบบเทคโนโลยี ที่ต้นทางและปลายทางต้องเป็นปริมาณเท่ากันเท่านั้น

ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน 1.แนวทางการจัดเก็บ และภาชนะบรรจุ ให้เก็บรักษาในที่มั่นคงปลอดภัย โดยการจัดเก็บและภาชนะบรรจุ ให้จัดเก็บภายในอาคารหรือสถานที่มีหลังคา กรณีเก็บนอกอาคาร ให้ขนย้ายเข้าไปในอาคาร หรือจัดหาวัสดุปิดคลุมให้มิดชิดและมีมาตรการป้องกันการชะล้าง ให้รวบรวมกากที่ฟุ้งกระจายบนพื้นโดยรอบโรงงานกลับคืนถุงกากตะกอน

ส่วนการดำเนินการก่อนขนย้าย ให้ตรวจสอบภาชนะบรรจุ กรณีภาชนะบรรจุเสื่อมสภาพให้เปลี่ยนใหม่หรือหาภาชนะบรรจุที่มีขนาดใหญ่สวมใส่, ให้ทำเครื่องหมายกำกับแต่ละถุงเพื่อใช้ติดตามตรวจสอบ และกระบวนการหลังขนย้ายเสร็จสิ้น ให้ทำความสะอาดสถานที่โดยการดูดฝุ่นเท่านั้น

2.แนวทางด้านการขนส่ง รถที่ใช้ในการขนส่งต้องมี ลักษณะ ดังนี้ รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ ปิดทึบ หรือรถบรรทุกแบบมีผนังข้างปิดทึบทุกด้านแล้วใช้ผ้าใบปิดคลุม ด้านบน ให้ติดสัญลักษณ์ “วัตถุอันตราย” ไว้ที่ตัวรถขนส่ง, ใช้รถขนส่งที่ได้รับอนุญาตขนส่งวัตถุอันตราย (วอ.8) ใช้เอกสารกำกับการขนส่ง (Manifest) และทำระบบติดตามการขนส่งโดยเฉพาะ ประสานตำรวจทางหลวงนำทาง และกำหนดจุดพักรถ

3.แนวทางด้านการจัดการบ่อเก็บกาก ตรวจสอบบ่อเก็บกากด้าน โครงสร้างทางวิศวกรรม นำทีมตรวจสอบโดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.), ปูก้นบ่อเก็บกากด้วยแผ่นพลาสติกกันซึม HDPE หนา 1.5 มม. ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล, จัดเตรียมสถานที่พักกากในอาคาร, ตรวจสอบกากก่อนนำไปยังบ่อเก็บกาก, วิเคราะห์กากตะกอนโดยห้องปฎิบัติการ

เพื่อพิจารณาว่าจำเป็นต้องปรับเสถียรเพิ่มหรือไม่ (ทำให้ค่าความเป็นพิษ ความเป็นกรดน้อยลง) กรณีที่ต้องปรับเสถียรเพิ่ม ต้องเตรียมสถานที่และอุปกรณ์สำหรับการปรับเสถียร, ควบคุมการฝังกลบกากโดยเจ้าหน้าที่ตลอดเวลา และจัดให้มีวัสดุปิดคลุมบ่อเก็บกากทุกครั้งที่ไม่ได้นำกากไปฝังกลบ