ร้านธงฟ้าประชารัฐ กระตุ้นเศรษฐกิจ 2 หมื่นล้านบาท

ใกล้ครบ 4 ปีรัฐบาล คสช. “นโยบายสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก” เพื่อสร้างอาชีพ สร้างได้ สร้างรายได้ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 11.49 ล้านคนทั่วประเทศ ถือเป็นหนึ่งในนโยบายชิ้นโบแดงของรัฐบาลชุดนี้เลยก็ว่าได้ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แม่ทัพใหญ่ “โครงการธงฟ้าประชารัฐ” สรุปภาพรวมความสำเร็จโครงการที่ดำเนินการมา 7 เดือนว่า

โจทย์ใหญ่ดัน ศก.ฐานราก

สิ่งที่กระทรวงดำเนินการมาโดยตลอดเป็นหน้าที่หลัก คือ การสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก โดยได้เริ่มจัดทำโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐ มาตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค. 2560-30 เม.ย. 2561 มีจำนวนร้านค้าเข้าร่วมโครงการ 29,907 ราย ใน 76 จังหวัด ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนจ่ายผ่านบัตรกว่า 22,910 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้จะเพิ่มอีก 20,000 ร้านค้า ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2561 จะขยายอีก 10,000 ร้านค้า เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย 40,000 ร้าน เรามองว่าจะกระจายร้านค้านี้ให้ลงไปสู่ฐานรากมากขึ้นได้อย่างไร เพื่อให้ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้รับความสะดวกในการจับจ่ายซื้อสินค้า รวมถึงให้ได้สินค้าหลากหลายมากขึ้น

พร้อมกันนี้ที่มอบให้กรมการค้าภายในหาทางเพิ่มสัดส่วนสินค้าชุมชนในร้านด้วย หากสินค้าชุมชนมีมูลค่าสูงขึ้นก็เท่ากับว่าเศรษฐกิจลงไปสู่ประชาชนผู้ผลิตสินค้าประโยชน์ก็จะถึงมือประชาชนมากขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันสัดส่วนสินค้าที่จำหน่ายในร้านที่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมคิดเป็น 51.53% ของสินค้าทั้งหมด สินค้าเกษตร-อาหารสด-สินค้าชุมชนประมาณ 12.37% และสินค้าอื่น ๆ อีก 36.10 %

ผลสำเร็จจากโครงการ

จะเห็นว่ายอดจำหน่ายหลังจากเข้าร่วมโครงการทุกกลุ่มสินค้าเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพิ่ม 39.05% หรือ 424 ล้านบาท สินค้าธงฟ้าประชารัฐ เพิ่มขึ้น 43.62% หรือประมาณ 1,383 ล้านบาท ที่น่าสนใจคือสินค้าชุมชน เพิ่มขึ้น 61.27% หรือ 549 ล้านบาท และที่สำคัญสามารถลดค่าครองชีพลง 2.46% หรือประมาณ 60,382 ล้านบาท โดยเป็นการลดค่าครองชีพผู้บริโภคจากวงเงินสวัสดิการโดยตรง 1.46% และจากการลดราคาสินค้าของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ 1% ทำให้เจ้าของร้านที่เข้าร่วมโครงการ 70-80% มีความพอใจ

อีกด้านหนึ่ง กระทรวงได้ดำเนินการมาตรการดูแลค่าครองชีพควบคู่กับการส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก โดยกำหนดให้มีมุมสินค้าร้านธงฟ้าประชารัฐ และล่าสุดกระทรวงได้หารือกับบริษัท ยูนิลีเวอร์ จำกัด เปิดมุมสินค้าราคาถูกซึ่งบริษัทส่งเสริมอยู่แล้ว 10,000 ร้านค้า และอยู่ระหว่างศึกษาแผนงานจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ประชาชนมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น ชุมชนก็จะมีที่ขายสินค้า เราจะประเมินผลชี้วัดด้วยเพื่อให้เห็นประโยชน์สูงสุด

อัพเกรดธงฟ้าประชารัฐ

ยกระดับร้านธงฟ้าประชารัฐให้สามารถแข่งขันกับร้านสะดวกซื้อหรือร้านค้าปลีกสมัยใหม่ได้ ซึ่งกระทรวงได้รับงบประมาณเพิ่มเติมในการยกระดับร้านค้าประชารัฐ เพื่อรองรับนโยบาย

ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 153.2ล้านบาท โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ซัพพลายเออร์ และผู้ผลิตสินค้าท้องถิ่นรวม 30,000 ราย โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ จัดอบรมหลักสูตร 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรบริหารธุรกิจอย่างง่าย หลักสูตรการจัดทำบัญชีและบริหารภาษี และหลักสูตรการเชื่อมโยง รวบรวม และการกระจายผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น

นอกจากนี้ เตรียมกำหนดให้ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐเป็นศูนย์กระจายสินค้าระดับจังหวัดและระดับอำเภอ 427 แห่ง โดยขณะนี้มีร้านค้าที่จะรับหน้าที่เป็นศูนย์กระจายสินค้าระดับจังหวัด 53 แห่ง และระดับอำเภออีก 374 แห่ง เพื่อช่วยส่งเสริมสินค้าชุมชน และสินค้าเกษตรให้มีช่องทางจำหน่ายมากขึ้น

เพิ่มรายได้ภาคเกษตร

ไม่เพียงเท่านั้นกระทรวงพาณิชย์ยังร่วมมือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บริหารจัดการสินค้าเกษตรให้ดีขึ้น เพื่อให้ราคาสินค้าเกษตรมีเสถียรภาพ วางกลไกโครงสร้างในระยะกลาง-ระยะยาว ปรับเปลี่ยนเกษตรกรให้หลุดพ้นจากวงจรเดิม ทำให้สินค้าเกษตรหลายตัวปรับราคาดีขึ้น ตลอดจนต่อยอดการค้าสินค้าเกษตรสู่อีคอมเมิร์ซ โดยส่งเสริมการใช้แพลตฟอร์มต่างระดับโกล รวมถึงการส่งเสริมแพลตฟอร์มไทยให้เข้มแข็งด้วย