ไทยไม่หวั่นสงครามการค้า กกร.ลุ้นยอดส่งออกทะลุ 8%

พาณิชย์-หอการค้า เปิดผลวิเคราะห์สงครามการค้าจีน-สหรัฐ ยันไม่สะเทือนไทย ดันตัวเลขส่งออกเพิ่มขึ้น ด้านเอกชนเห็นสัญญาณจีนย้ายฐานลงทุนมาไทยดัน EEC เกิด ลูกค้ากลุ่มใหม่โยกมาซื้อสินค้าไทยแทน กกร.จ่อปรับเป้าส่งออกโตทะลุ 8% กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์เตือนอย่าประมาทเครื่องใช้ไฟฟ้าจีนถล่มไทย ส่วนรถยนต์ได้รับผลกระทบทางอ้อม ขายชิ้นส่วนให้จีนลดลง

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐและจีนออกมาตรการทางการค้าตอบโต้กัน โดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ประกาศขึ้นภาษีสินค้าเทคโนโลยี ทรัพย์สินทางปัญญา และนวัตกรรมจากจีน ตามมาตรา 301 เพื่อตอบโต้การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญากับสินค้านำเข้าจากจีน 818 รายการ (รอบที่ 1) คิดเป็นมูลค่าการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ 33,794.29 ล้านเหรียญ จากมูลค่าการค้ารวมของสองประเทศ 526,188.55 ล้านเหรียญ

เบื้องต้นสินค้าที่ USTR ประกาศมีทั้งหมด 9 กลุ่ม (2 พิกัด)ได้แก่ กลุ่มเคมีภัณฑ์อนินทรีย์, สารประกอบอินทรีย์, กลุ่มยาง/ของที่ทำด้วยยาง, กลุ่มเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์/บอยเลอร์/เครื่องจักรเครื่องใช้กล, กลุ่มเครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า/เครื่องบันทึก-ถอดเสียง/ภาพทางโทรทัศน์, กลุ่มหัวรถจักรของรถไฟหรือรถราง, กลุ่มยานยนต์, กลุ่มอากาศยาน/ยานอวกาศ, กลุ่มเรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ และกลุ่มอุปกรณ์ถ่ายรูป/ถ่ายภาพยนตร์/ทัศนศาสตร์/การแพทย์/การตรวจสอบ/วัดความเที่ยง

ขณะที่ฝ่ายจีนก็มีมาตรการตอบโต้สหรัฐ ด้วยการปรับขึ้นภาษีสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐ (รอบที่ 1) รวม 545 รายการ ครอบคลุม 27 กลุ่มสินค้า ได้แก่ กลุ่มเมล็ดพืชและผลไม้ที่มีน้ำมัน, กลุ่มยานบก, กลุ่มธัญพืช, กลุ่มผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม, กลุ่มของปรุงแต่งที่ทำจากพืชผัก/ผลไม้, กลุ่มฝ้าย, กลุ่มดีบุก/สินค้าจากดีบุก, กลุ่มยางและของที่ทำด้วยยาง, กลุ่มยาสูบ, กลุ่มกากและเศษที่เหลือจากอุตสาหกรรม, กลุ่มไข่มุก, กลุ่มเครื่องดื่ม/สุราและน้ำส้มสายชู, กลุ่มวัสดุถักสานจากพืช, กลุ่มของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์, กลุ่มโลหะสามัญชนิดอื่น, กลุ่มของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ด, กลุ่มแก้วและเครื่องแก้ว

“เบื้องต้น สนค.ได้วิเคราะห์ผลกระทบจากกลุ่มสินค้าที่สหรัฐตอบโต้จีนพบว่า มีผลกระทบเชิงบวก (positive) กับประเทศไทย 1,109.6 ล้านเหรียญ และมี

ผลกระทบเชิงลบ (negative) ต่อไทยมูลค่า 420.6 ล้านเหรียญ ซึ่งเมื่อหักลบกันแล้ว การตอบโต้ของสหรัฐต่อจีนจะมีผลกระทบเชิงบวกกับไทยกว่า 688.96 ล้านเหรียญ และเร็ว ๆ นี้จะเชิญผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ เหล็ก อิเล็กทรอนิกส์ และตัวแทนจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) หารือสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐ-จีน และเตรียมหาตลาดใหม่เพื่อรองรับสินค้าที่อาจจะกระทบต่อไป” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

ให้ระวังมาตรา 232

ทั้งนี้ มาตรการทางการค้าที่สหรัฐประกาศใช้ตอบโต้ประเทศคู่ค้า (รวมทั้งประเทศไทย) ที่ผ่านมาจะใช้ 3 มาตราจาก กม.การค้าสหรัฐ ได้แก่ มาตรา 201 มาตรา 301 และมาตรา 232 โดยมาตรการที่มีผลกระทบต่อไทยโดยตรงก็คือ มาตรา 232 ที่สหรัฐประกาศจะปรับขึ้นภาษีสินค้าเหล็ก-อะลูมิเนียม ซึ่งขณะนี้ผู้ส่งออกไทยร่วมกับผู้นำเข้าอยู่ระหว่างขอให้หน่วยงานสหรัฐพิจารณา “ยกเว้น” การบังคับใช้มาตรการให้กับประเทศไทย เพราะส่งออกปริมาณ

ไม่มาก ส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบไม่ได้ส่งออกโดยตรง แต่เป็นซัพพลายเชนด้านการผลิตรถยนต์ เช่น ยางรถยนต์ที่ไทยส่งออกไปมากที่สุด ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ ซึ่งอยู่ระหว่างที่สหรัฐพิจารณาในการออกมาตรการเข้ามาดูแล

“มาตรการตอบโต้ทางการค้าที่สหรัฐประกาศออกมามีผลต่อการค้าโลกชะลอตัว ส่วนกับไทยเป็นเพียงผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากไทยเป็นซัพพลายเชนในการส่งออกสินค้าให้กับจีน และอาจจะมีมาตรา 201 ที่สหรัฐขึ้นภาษีสินค้าเครื่องซักผ้า แผงโซลาร์เซลล์ เหล็ก อะลูมิเนียม ยานยนต์ ที่จะกระทบต่อการส่งออกบ้าง เนื่องจากภาษีสูงขึ้น แต่ยังนำเข้าได้ปกติ เรามองว่าสหรัฐไม่มีมาตรการที่จะพุ่งเป้าหมายมายังประเทศไทยโดยตรง โดยในช่วง 5 เดือนแรก การส่งออกสินค้าไทยโดยรวมขยายตัว 11.4% จึงยังมีโอกาสขยายตัวได้มากกว่าเป้าหมายปี 2561 ที่วางไว้ 8%

ซึ่งหลังจากทราบยอดส่งออกครึ่งปีแรก ก็อาจจะมีการพิจารณาปรับเป้าหมายการส่งออกต่อไป” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

2 ด้านผลสงครามการค้า

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังจากการวิเคราะห์ข้อมูลการส่งออกมองว่า ผลจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีนจะส่งผลดีต่อการส่งออกไทย 0.4% หรือคิดเป็นมูลค่า 1,000 ล้านเหรียญ เนื่องจากสหรัฐอาจหันมานำเข้าสินค้าไทย เพื่อทดแทนสินค้าที่เคยนำเข้าจากจีนมากขึ้น ซึ่งขณะนี้บริษัทศรีไทยฯเองก็เริ่มเห็นสัญญาณว่า มีลูกค้าใหม่ที่เปลี่ยนมาสั่งซื้อสินค้าจากไทยมากขึ้น ในกลุ่มสินค้าที่เคยนำเข้าจากจีน เช่น อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า ไทยมีการส่งไปสหรัฐ สัดส่วนมากกว่า 48% ของมูลค่าการส่งออกจากไทยไปยังสหรัฐ

ผลดีอีกด้านหนึ่งก็คือในระยะต่อไป นักลงทุนจีนอาจจะย้ายฐานการลงทุนเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ยอดการลงทุนตรง (FDI) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษ (EEC) จะทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศและผลดีต่ออัตราแลกเปลี่ยน “ตอนนี้จะเห็นได้ว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเริ่มอ่อนค่าส่งผลต่อการส่งออก จึงประเมินว่าจะยังคงไม่มีการปรับประมาณการส่งออกที่วางไว้ 9% ส่วนผลกระทบเชิงลบที่ไทยต้องเตรียมพร้อมก็คือ สงครามการค้าจะทำให้การค้าโลกโดยรวมชะลอตัวลง จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าการค้าโลกจะขยายตัว 4.4% จากปี 2560 ที่การค้าโลกขยายตัว 4.7% ก็จะขยายตัวเพียง 4.0% เท่านั้น และอาจจะต่อเนื่องในระหว่างปี 2561-2562” นายสนั่นกล่าว

ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินว่า ในกรณีเลวร้ายหากทั้ง 2 ฝ่ายทำสงครามการค้าถล่มกันอย่างเต็มที่ (basecase) ตัวเลข GDP ปี 2561 จะหดตัว 0.2% และส่งผลกระทบต่อการส่งออก 0.4% หรือตัวเลขส่งออกรวมเหลือ 8.6% โดยสินค้าที่จะกระทบ ได้แก่ 1) สินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตที่ส่งมอบวัตถุดิบให้กับจีน เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 2) สินค้าสำเร็จรูปจากจีนที่เคยส่งออกไปสหรัฐได้ก็อาจจะส่งกลับมาที่ประเทศไทย เช่น เครื่องจักรกล, เครื่องใช้ไฟฟ้า, เฟอร์นิเจอร์, เสื้อผ้า, รองเท้า, สินค้าเกษตร, ผลไม้ หรือสินค้าที่สหรัฐผลิต เช่น กลุ่มไอที และมีความเป็นไปได้ว่า สินค้าจากจีนจะกระจายออกไปยังตลาดอื่น ซึ่งเป็นคู่ค้าของไทย เช่น ญี่ปุ่น-อินเดีย และจะทำให้การแข่งขันในตลาดนั้นสูงขึ้น

แม้ว่าตัวเลขการค้าระหว่างไทย-สหรัฐ “จะไม่มากนักเมื่อเทียบกับการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน” แต่ไทยยังต้องระวังการใช้มาตรการทางการค้าของสหรัฐ เนื่องจากไทยติด 1 ใน 16 ประเทศที่ทำให้สหรัฐขาดดุลการค้า โดยในปีที่ผ่านมา การค้าไทย-สหรัฐอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านเหรียญ ไทยส่งออก 8.9 แสนล้านเหรียญ และนำเข้า 5.08 แสนล้านเหรียญ มีผลทำให้สหรัฐขาดดุลไทย 3.9 แสนล้านเหรียญ

เตรียมปรับเป้าส่งออก

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน จะทำให้เกิดโอกาสการส่งออกให้กับผู้ส่งออกไทยในบางกลุ่ม ซึ่งสหรัฐหรือจีนอาจจะหันมานำเข้าสินค้าจากประเทศไทยแทน ประกอบกับภาวะอัตราแลกเปลี่ยนที่มีทิศทางอ่อนค่าลง หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ย ทั้งสองปัจจัยนี้จะส่งผลดีต่อภาพรวมการส่งออกของไทย และมีความเป็นไปได้ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ครั้งต่อไปจะพิจารณาปรับเพิ่มเป้าหมายการส่งออกปี 2561 ที่วางไว้จากเดิม 8%

นางกนิษฐ์ เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม ส.อ.ท. กล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยมีการส่งออกชิ้นส่วนให้กับจีนในการผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐ “ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบ แต่ยังประเมินตัวเลขไม่ได้ว่ามากน้อยเพียงใด” แต่เชื่อว่าผู้ผลิตจีนอาจจะต้องปรับตัว มีการย้ายฐานการผลิตจากจีนออกไปยังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน เช่น เวียดนาม, อินโดนีเซีย รวมถึงประเทศไทย น่าจะเป็นโอกาสที่ดีของไทยที่กำลังส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องระวัง “สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าสำเร็จรูป” จากจีน อาจจะทะลักเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่มีแบรนด์ ไม่ได้มาตรฐาน

ขณะที่นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รักษาการรองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กลุ่มยานยนต์ยังคงยืนเป้าหมายการส่งออกยานยนต์ในปีนี้ไว้ที่ 1 ล้านคัน ซึ่งปรับลดลงจากปีก่อนที่ส่งออก 1.139 ล้านคัน หลังจากที่ได้ประเมินผลกระทบทั้งส่วนของสงครามการค้าไปก่อนหน้านี้แล้ว “สงครามการค้าสหรัฐ-จีนจะกระทบกลุ่มยานยนต์และส่วนประกอบทางอ้อม กล่าวคือเมื่อจีนส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐลดลง ก็จะลดการนำเข้าสินค้ายานยนต์และส่วนประกอบที่เคยนำเข้าจากทุกประเทศรวมถึงไทยด้วย และอีกด้านจะทำให้กำลังซื้อของประเทศที่เป็นฐานการผลิตของจีนลดลงด้วย ซึ่งก็จะกระทบต่อการส่งออกของไทย แต่ด้านบวกในบางสินค้าสหรัฐจะหันมานำเข้าจากไทยมากขึ้น เช่น กลุ่มล้อยาง ก็อาจจะได้รับผลดีทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้น” นายสุรพงษ์กล่าว (หน้า 1, 4, 9)