พาณิชย์บุกสวนลำไยเชียงใหม่อุ้มชาวสวนโกอินเตอร์

แฟ้มภาพ

“สนธิรัตน์” นำทัพตะลุยสวนลำไยเชียงใหม่ หนุนเกษตรกรเปิดตลาดส่งออกใช้สิทธิลดภาษี FTA รับมือผลผลิตออกสู่ตลาด ด้านอาลีบาบาจ่อออร์เดอร์ผลไม้ไทยไม่อั้น

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 13-15 กรกฎาคมนี้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ โดยในวันที่ 13 กรกฎาคมมีกำหนดจะร่วมประชุมประเมินสถานการณ์การผลิตและรับฟังความเห็นจากผู้ผลิตและเกษตรกรในพื้นที่เพื่อกำหนดมาตรการรองรับผลผลิตลำไยในปี 2561 พร้อมร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามข้อตกลงระหว่าง บริษัท มาตา โปรดักส์ จำกัด และสหกรณ์การเกษตรจอมทอง ปริมาณ 6,620 ตัน มูลค่า 258 ล้านบาท

จากนั้นในวันที่ 14 กรกฎาคม จะลงพื้นที่เยี่ยมชมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนลำไยมัดปุ๊กบ้านร้องขุด อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ และสวนลำไยแสนไชย จ.ลำพูน ก่อนที่จะมีการจัดสัมมนาให้ความรู้เกษตรกรในเรื่องการใช้โอกาสในการเปิดการค้าเสรีเพื่อยกระดับเกษตรกรไทยก้าวสู่ Smart Enterprise 4.0 ซึ่งทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศร่วมกับสหภาพเกษตรกรแห่งชาติเป็นผู้จัดขึ้นในวันที่ 15-16 กรกฎาคม 2561

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมมุ่งให้ความรู้เกี่ยวกับ FTA แก่เกษตรกรชาวสวนลำไยผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่ไทยมีอยู่ รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือยุค การค้าเสรี ซึ่งเกษตรกรต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่วิธีการ และขั้นตอนหลังการเก็บเกี่ยวจนถึงมือผู้บริโภคในต่างประเทศ ตลอดจนการพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐานการส่งออก สร้างมูลค่าเพิ่ม และช่วยลดความเสี่ยงด้านราคา

ทั้งนี้ ลำไยเป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้ความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) หลายฉบับ โดยเฉพาะตลาดอาเซียนซึ่งเป็นตลาดสำคัญได้มีการยกเลิกภาษีนำเข้า ทั้งลำไยสด ลำไยแช่แข็ง ลำไยกระป๋อง และลำไยอบแห้งแล้ว ยกเว้นลาวที่ยังเก็บภาษีลำไยอบแห้ง 5% ส่วนญี่ปุ่น และจีน ยกเลิกภาษีสินค้าลำไยสด ลำไยแช่แข็ง และลำไยอบแห้งแล้วภายใต้ FTA ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และ FTA อาเซียน-จีน ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา จีนได้ลดภาษีสินค้าลำไยกระป๋องจาก 15% เหลือ 5% เป็นการเพิ่มโอกาสการส่งออกของไทย

สำหรับการสัมมนาให้ความรู้ ทางกรมได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐและเอกชน อาทิ กรมการค้าภายใน กรมวิชาการเกษตร สภาเกษตรกรแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ผู้แทน หจก.เนเจอร์ฟู้ด โปรดักส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง ผู้แทนจากสถาบันนวัตกรรมและธุรกิจการค้าเสรี มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และ smart farmer ซึ่งจะร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับโอกาสการค้าภายใต้ FTA การพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐานส่งออก ตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากรมและสภาเกษตรกร ได้ลงพื้นที่ร่วมกัน เพื่อพบปะเกษตรกรในภูมิภาคต่าง ๆ ไปแล้ว 3 ครั้ง เช่น เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง จังหวัดสุโขทัย ทุเรียนและมังคุด จังหวัดจันทบุรี และทุเรียนภูเขาไฟ จังหวัดศรีสะเกษ หลังจากนี้ยังมีแผนที่จะลงพื้นที่และจัดการสัมมนาในจังหวัดยะลา เพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ในภาคใต้อีกด้วย

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในปี 2560 ไทยส่งออกลำไยสดปริมาณ 726,413.99 ตัน มูลค่า 20,970.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 80.53% โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ เวียดนาม สัดส่วน 55.68% จีน 24.93% อินโดนีเซีย 13.48% ส่วนลำไยอบแห้งส่งออกปริมาณ 213,980 ตัน มูลค่า 11,110 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.64% ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ เวียดนาม สัดส่วน 67.82% จีน 26.64% เมียนมา 2.09% และลำไยกระป๋อง ปริมาณ 8,681.89 ตัน มูลค่า 504.56 ล้านบาท ลดลง 10.34% ตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ มาเลเซีย 36.72% สิงคโปร์ 17.32% อินโดนีเซีย 15.35% และลำไยแช่แข็ง ปริมาณ 13.01 ตัน มูลค่า 2.34 ล้านบาท ลดลง 56.17% ตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ ฮ่องกง สัดส่วน 62.66% ญี่ปุ่น 33.62% และมาเก๊า 3.72%

นายแอนดี้ จาง รองประธานและผู้จัดการทั่วไปด้านการนำเข้าผลไม้ บริษัท เซี่ยงไฮ้ วินเชน ซัพพลายแมเนจเม้นท์ จำกัด (วิน-เชน) บริษัทผู้จัดหาสินค้าอาหารสดให้กับอาลีบาบา กล่าวว่า

บริษัทมีนโยบายที่จะสั่งซื้อสินค้าผลไม้ไทยตามฤดูกาลเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เฉพาะทุเรียนที่ได้ลงนามซื้อขายไปก่อนหน้านี้ 3,000 ตัน และกำลังจะสั่งซื้อเพิ่มมูลค่า 15,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี แต่ยังมีความสนใจสั่งซื้อลำไย มังคุด มะพร้าวอ่อน กล้วยเล็บมือนาง และกล้วยไข่ด้วย โดยมีเงื่อนไขว่าผลผลิตต้องมีคุณภาพเท่านั้น ซึ่งทางอาลีบาบาพร้อมสั่งซื้อผลไม้ไทยทันทีไม่จำกัดปริมาณ ส่วนการสั่งซื้อผลไม้ในประเทศเพื่อนบ้านก็มีออร์เดอร์กล้วย และสับปะรดจากฟิลิปปินส์ เป็นหลัก

ด้านนายโจแอน เจง ผู้อำนวยการด้านการวางแผนกลุ่มผลิตภัณฑ์ของ Tmall Fresh อาลีบาบา กรุ๊ป กล่าวว่า ทุเรียนไทยยังมีโอกาสขยายตลาดได้อีก เพราะได้รับความนิยมอย่างยิ่งในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน จะเห็นว่าระหว่างช่วงลดราคาแฟลชเซลส์บน Tmall เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาด้วยการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มีการจองซื้อทุเรียนไทยถึง 130,000 ลูก ภายในเพียง 3 วัน เฉพาะทุเรียนหมอนทองได้รับจอง 80,000 ลูก ในเวลา 1 นาทีหลังเปิดจอง