ชงร่างคุมนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มพลาสติกขอ “โควตา” นำเข้าหมื่นตัน

2 เดือนมาตรการแก้นำเข้าขยะอิเล็กฯไม่คืบ คณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ฯ ร่างมาตรการนำเข้าขยะอุตสาหกรรมหวังชง ครม. ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกรวมร้องรัฐคงโควตานำเข้า 10,000 ตัน/เดือน ก่อนห้ามนำเข้าทั้งหมดในอีก 2 ปีข้างหน้า ก.อุตฯเผยตรวจสอบโรงงานขยะ 2 พันแห่งทั่วประเทศพบผิดสั่งปิดแค่หลักสิบโรง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ และเศษพลาสติกนำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ โดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ล่าสุดได้มีการประชุมครั้งที่ 2/2561 ไปเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาการควบคุมและบังคับใช้กฎหมายเพื่อการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงสนับสนุนให้โรงงานคัดแยกและรีไซเคิลใช้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศ เพื่อยุติการนำเข้าจากต่างประเทศหรือให้มีน้อยที่สุด

ในการประชุมดังกล่าวกำหนดรายการสินค้าที่ห้ามนำเข้า และต้องควบคุม ก่อนที่จะประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เร็ว ๆ นี้ ได้จำแนกรายการสินค้า ได้แก่ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ห้ามนำเข้าตามพิกัดศุลกากรทั้งหมด 432 รายการ โดยให้กรมศุลกากรควบคุมดูแล และให้กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์เป็นสินค้าต้องห้าม และออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมห้ามนำมาใช้ในโรงงานเด็ด ภายใน 6 เดือนนี้ ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้วอนุญาตให้นำเข้า โดยมีเงื่อนไข3 กรณี คือ 1.นำเข้าเพื่อการใช้ซ้ำ เป็นอุปกรณ์ระบบโทรคมนาคมหรือระบบดิจิทัล ไม่รวม PC หรือโน้ตบุ๊ก 2.นำเข้าเพื่อซ่อมแซม และ 3.นำเข้าเพื่อการดัดแปลง

ส่วน “เศษโลหะ” การนำเข้าต้องไม่มีการปนเปื้อนมลพิษ มีการคัดแยกมาแล้วจากต้นทาง โดยไม่มีการปนเปื้อนชนิดกัน เช่น เศษเหล็ก เศษทองแดง เศษอะลูมิเนียม และ “เศษพลาสติก” กำหนดโควตานำเข้า โดยจะเริ่มปี 2562-2563 ก่อนจะยกเลิกนำเข้าทั้งหมด

นายภราดร จุลชาต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีการนำเข้าพลาสติกเพื่อนำมารีไซเคิล 10,000 ตัน/เดือน แต่ในช่วงที่ผ่านมามีบางประเทศอย่างจีนย้ายเข้ามาทำธุรกิจกำจัดขยะเพื่อรีไซเคิลในไทยมาก พบว่ามีการนำเข้าและกำจัดแบบไม่เป็นระบบและผิดกฎหมาย ทำให้เกิดการนำเข้าเพิ่มขึ้นสูงถึง 100,000 ตัน/เดือน ส่งผลให้เกิดปัญหาเช่นในปัจจุบัน ทางสมาชิกกลุ่มจึงรวมตัวเข้าหารือกับทางกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรฯเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อขอให้คงโควตานำเข้าพลาสติกไว้ที่ 10,000 ตัน/เดือนเช่นเดิม ไปจนกว่าจะมีความพร้อมและจำนวนพลาสติกในประเทศมีเพียงพอ ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 3 ปี เนื่องจากหากยกเลิกนำเข้าทันทีจะกระทบกับโรงงานที่ถูกกฎหมาย คือการนำเข้ายากขึ้น พลาสติกในประเทศไม่พอ อย่างไรก็ตาม ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า คาดว่าจะมีมาตรการด้านการบริหารจัดการพลาสติกออกมา

Advertisment

ด้านนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงผลการลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงาน 3 ประเภท ครบแล้วทั้งหมดเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมาได้แก่ 1.โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม (โรงงานลำดับที่ 101) 2.โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัตถุที่ไม่ใช้แล้ว (โรงงานลำดับที่ 105) และ 3.โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบ (โรงงานลำดับที่ 106) จำนวน 2,265 โรงงานทั่วประเทศ ซึ่งมีทั้งสั่งปิดและปรับปรุงหลายสิบโรงงาน

ทั้งนี้ เมื่อเดือน มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมพบว่ามีโรงงานกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมกระทำความผิดภายใต้ พ.ร.บ.โรงงาน 2535 จำนวน 5 แห่ง จาก 7 แห่งที่ได้รับอนุญาต กระทำความผิดโดยมีการนำเข้าของเสียเคมีวัตถุ (chemical wastes) ประเภทชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นวัตถุอันตรายเข้ามา ได้แก่ 1.บริษัท เจ.พี.เอส เมทัล กรุ๊ปส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จ.ฉะเชิงเทรา กำลังผลิต 60,000 ตันต่อปี (นักลงทุนไทย) 2.บริษัท หย่งถังไทย จำกัด จ.ฉะเชิงเทรา กำลังผลิต 30,000 ตันต่อปี (นักลงทุนไทย-จีน) 3.บริษัท โอ.จี.ไอ. จำกัด จ.สมุทรปราการ กำลังผลิต 50,000 ตันต่อปี (ร่วมทุนไทย จีน เกาหลีใต้) 4.บริษัท เอส.เอส. อิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ต อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จ.สมุทรปราการ กำลังผลิต 14,000 ตันต่อปี (นักลงทุนสิงคโปร์) 5.บริษัทไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด กรุงเทพฯ กำลังผลิต 101,400 ตันต่อปี (ร่วมทุนไทย สิงคโปร์ ไต้หวัน) ซึ่งถูกสั่งระงับนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ด้วยผิด พ.ร.บ.โรงงาน แต่ยังสามารถรับกำจัดซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ เพราะไม่ผิด พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ส่วนบริษัท หมิง เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ อีโค-แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด กระทำถูกกฎหมายและยังสามารถนำเข้าและกำจัดได้ตามเดิม