ครึ่งทางศึกษา “CPTPP” เคลียร์ปมร้อน ลุ้นรัฐบาลหน้าไฟเขียว

ผ่านมาครึ่งทางแล้วสำหรับกระบวนการประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ข้อสรุปว่าไทยควรเข้าร่วมเจรจาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ (CPTPP) ซึ่งเป็นความตกลงที่สมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บูรไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ได้ลงนามไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หรือไม่

6 เดือนสรุปผลศึกษา CPTPP

“ดร.รัชดา เจียสกุล” หุ้นส่วนและกรรมการผู้จัดการ บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะหัวหน้าคณะที่ผู้ศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมเจรจา CPTPP ให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อธิบายว่า ขณะนี้ได้ประชุมประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นทั่วประเทศไปแล้ว 3 รอบใน จ.ชลบุรี, จ.เชียงใหม่, จ.สงขลา เหลือ 2 รอบซึ่งจะจัดที่กรุงเทพในวันที่ 19 กันยายน 2561 และปิดท้ายที่ จ.ขอนแก่น 26 กันยายน 2561 ก่อนจะสรุปผลในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

สำหรับขอบเขตในการศึกษาครั้งนี้ ครอบคลุมเนื้อหาความตกลงฉบับใหม่ ทั้งหมด 30 เรื่อง รวมจำนวน 8,771 หน้า มีโจทย์ว่าต้องศึกษาความพร้อมและปัญหาอุปสรรคของไทย-คู่เจรจาทั้งเรื่องการเปิดตลาดสินค้า บริการ การลงทุน กฎระเบียบที่เป็นปัญหาอุปสรรค โอกาสการใช้ประโยชน์ ผลกระทบระดับมหภาค และผลกระทบต่อภาคการผลิต เกษตร บริการ การลงทุน รวมถึงท่าทีของ 11 ประเทศ CPTPP ให้ได้ภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561

6 เดือนสรุปผลศึกษา CPTPP

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า CPTPP กลายพันธุ์มาจาก “ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)” เดิมซึ่งมีสมาชิก 12 ประเทศมีสหรัฐเป็นแกนนำ แต่ภายหลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” ถอนตัวออก แต่ไทยจำเป็นต้องเข้าร่วม จะสามารถกระโดดเข้าเป็นส่วนหนึ่งใน “ห่วงโซ่การผลิตของภูมิภาค” (Regional Supply Chain)

หากไม่ร่วมจะเสียโอกาสโดยผลศึกษาจาก World Bank และนักวิชาการจาก East-West Center ระบุว่า หากไทยไม่ร่วมขบวน CPTPP ไทยจะเป็นประเทศที่ “เสียประโยชน์มากที่สุด” โดยจีดีพีไทยจะลดลง 0.9% ในปี 2030 รองจากไทยคือ เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้จากการส่งออกของไทยจะลดลง 2% ขณะที่ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและมาเลเซียซึ่งอยู่ในกลุ่ม CPTPP จะมีจีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้น 10% และ 8% เพราะจะมีบทบาทในห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคได้แต้มต่อด้านภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) ลดลง

แต่หากไทยเข้าร่วม CPTPP จะทำให้รายได้ประเทศเพิ่มขึ้น 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 990,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 3.6% โดยการส่งออกเพิ่มขึ้น 68,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 12% และที่สำคัญไทยจะมีบทบาทในห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคมากขึ้น สามารถใช้สะสมแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อผลิตส่งออกไปลดภาษีกันได้

คลายปมทุกข้อกังวล

ส่วนประเด็นด้านความกังวลต่อ CPTPP นั้น หากอ่านความตกลงทั้งหมดจะพบว่า CPTPP แตกต่างจาก TPP อาทิ 1)ความกังวลเรื่องสิทธิบัตรยา ซึ่งเดิมใน TPP สหรัฐผลักดันให้ขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรยา ซึ่งอาจทำให้เกิดการผูกขาดตลาดยา และราคาสูงขึ้น แต่ใน CPTPP ได้ยกเรื่องนี้ออกจากการเจรจา (suspension) เพราะต่างก็ไม่เห็นด้วยกับสหรัฐ

2) ปมเรื่องเอกชนฟ้องรัฐบาลได้ (ISDS) นั้น กระทรวงการต่างประเทศของไทยอ่านข้อตกลง CPTPP แล้วยืนยันได้ว่ารัฐบาลไทยสามารถดำเนินนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ซึ่งรวมไปถึงนโยบายที่จะเกิดในอนาคตด้วย เช่น หากบริษัทบุหรี่จะฟ้องรัฐบาลไม่สามารถทำได้ เป็นต้น

3) เรื่องการเปิดตลาดหมูให้กับประเทศสมาชิก CPTPP เช่น แคนาดา นั้นในกระบวนการเจรจาไทยจะสามารถกำหนดให้หมูเป็นสินค้าอ่อนไหว หรือ ทอดระยะเวลาการลดภาษีออกไป 10-20 ปี เพื่อปรับตัวก่อนได้

4) จากการลงพื้นที่มีเกษตรกรกังวลว่าหากเข้าร่วมเป็นภาคี UPOV จะทำไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เอาไว้ใช้ได้ หรือหากนำเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นมาใช้จะต้องแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ ซึ่งทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยืนยันได้ว่าเกษตรกรยังสามารถเก็บและใช้หรือแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ได้ตามวิถีชีวิตเดิม 5) ความกังวลว่าจะมีการนำเข้าสินค้า GMOs หรือ Modern Biotechnology / สินค้าขยะเพิ่มขึ้น ตาม CPTPP ข้อ 2.27 ระบุว่า สมาชิกไม่ต้องแก้ไขกฎหมายเดิมที่มีอยู่ ซึ่งไทยมี พ.ร.บ.กักพืช 2507 และสามารถออกมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) ได้

6) ความกังวลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่ไทยจะเสียตลาดนี้ให้กับบริษัทต่างชาติที่จะเข้าแข่งขันประมูลงานภาครัฐนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการประมูลของแต่ละหน่วยงาน ทั้งไทยยังได้ปรับปรุงกฎหมาย/ระเบียบนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล 7) ความกังวลว่าไทยต้องเข้าเป็น

ภาคีสมาชิกความตกลงด้านแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็นการเข้าเป็นภาคีส่งผลดีกับแรงงานและภาพลักษณ์ของประเทศไทยในการเลิกใช้แรงงานทาส เช่นเดียวกันกับเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องกฎหมายแข่งขันทางการค้า ที่ทุกประเทศจำเป็นต้องปรับกฎกติกาเพื่อยกระดับไปสู่สากล ไม่ใช่ปรับเพื่อเข้า CPTPP

กระบวนการเข้าร่วมการเจรจา

แต่อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมการเจรจา CPTPP ยังมีกระบวนการพิจารณาที่ซับซ้อน กล่าวคือ สมาชิกใหม่ CPTPP จะรับสมาชิกใหม่ได้หลังจากสมาชิก CPTPP อย่างน้อย 6 ประเทศให้สัตยาบันเพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ ซึ่งจนถึงขณะนี้ 4-5 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เม็กซิโก และเปรู คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

และไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่สนใจร่วม CPTPP แต่ยังมีอังกฤษ เกาหลีใต้ จีน โคลอมเบีย หรือแม้แต่สหรัฐอยากจะหวนกลับมาร่วม CPTPP อีกครั้ง ซึ่งสมาชิก CPTPP ระบุว่า มีความเป็นไปได้หมดที่จะรับสมาชิกใหม่ เพราะข้อตกลงเปิดให้รับสมาชิกใหม่ได้ไม่จำกัดจำนวน และไม่มีกรอบระยะเวลา

ส่วนกระบวนการเข้าร่วมขบวนนั้น ประเทศที่สนใจจะร่วมต้องยื่นจดหมายไปที่นิวซีแลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่ทำหน้าที่รักษาสนธิสัญญา จากนั้นต้องเจรจากับสมาชิก CPTPP ทั้ง 11 ประเทศทีละประเทศ เพื่อให้การสนับสนุน ซึ่งในช่วงนี้เองจะต้องมีการศึกษาเชิงลึก เพื่อต่อรองแลกเปลี่ยน “ค่าผ่านประตู” ซึ่งกระบวนการนี้จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับการเจรจา ของภาครัฐ ซึ่งก็มีการวางแนวทางดำเนินการอย่างต่อเนื่องไม่ใช่การเริ่มจากศูนย์ และกระบวนการเหล่านี้รัฐบาลจะไม่รวบรัดหรือกระโดดข้ามขั้นตอน ต้องเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

แต่ไม่ว่าผลการศึกษาจะออกมาอย่างไรในเดือนกุมภาพันธ์ นี้ จะเป็นช่วงเตรียมการเลือกตั้ง ดังนั้นจีงมีความเป็นไปได้ ที่รัฐบาลประยุทธ์อาจจะต้องส่งไม้ต่อเรื่องนี้ให้รัฐบาลต่อไปตัดสินใจ