กฤษดา ชวนะนันท์ ชดเชยส่งออกแก้ราคาปาล์มตก ?

วิกฤตราคาผลปาล์มดิ่งเหลือเพียง กก.ละ 2.50-2.90 บาท ขณะที่ผลผลิตปี 2561/2562 ทะลุ 15 ล้านตัน และสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบสูงไปถึง 3.8 แสนตัน จากที่ควรมี 2.5 แสนตัน เป็นเหตุให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัด 3 มาตรการเพื่อแก้ปัญหา โดยเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณกลาง 525 ล้านบาท เพื่อชดเชยให้ผู้ส่งออก กก.ละ 1.75 บาท ผลักดันระบายสต๊อกส่งออก ควบคู่ไปกับมาตรการส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B20 โดยกระทรวงพลังงาน และการส่งเสริมโรงงานสกัดรับซื้อผลปาล์มที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงโดยกระทรวงอุตสาหกรรม “กฤษดา ชวนะนันท์” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิจิตรภัณฑ์ปาล์มออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ VPO ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

สถานการณ์ปัญหาปาล์ม

ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันขณะนี้เกิดจากซัพพลายในตลาดโลกเพิ่ม สภาพอากาศดี มาเลเซียคาดการณ์ว่าจนถึงสิ้นปีจะมีปริมาณ 3 ล้านตัน จากปกติที่ควรมีแค่ 2 ล้านตันเท่านั้น สิ่งสำคัญที่ทำให้ส่งออกไปไม่ได้อยู่ที่ราคาในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก เราต้องทำราคาในประเทศให้แข่งขันได้ โจทย์คือ ถ้าราคาในประเทศแข่งขันได้แล้วเกษตรกรจะรับได้หรือไม่ เพราะตอนนี้ราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศ กก.ละ 17 บาท สูงกว่าราคาตลาดโลกอยู่ที่ กก.ละ 16.25 บาท หากรัฐบาลสนับสนุนผู้ส่งออก กก.ละ 1.75 บาท มาบวกกับราคาส่งออก 16.25 บาท เท่ากับผู้ส่งออกจะได้ราคา 18 บาท คิดทอนมาเป็นราคาผลปาล์มที่ กก.ละ 3.40 บาท

ชดเชย 1.75 บาทดันส่งออก

ยังประเมินได้ยากว่าการชดเชยจะช่วยผลักดันการส่งออกได้เท่าไร เพราะยังไม่เห็นหลักทางปฏิบัติเช่นว่า เอกชนจะปฏิบัติได้โดยเท่าเทียมกันทุกรายหรือไม่อย่างไร แต่การเลือกชดเชยให้เอกชน 1.75 บาท มูลค่ารวม 525 ล้านบาท ทำให้รัฐใช้งบฯน้อยกว่าการชดเชยให้กับเกษตรกรโดยตรงทั้งหมด

อย่างไรก็ตามการขออนุมัติงบฯกลางไม่ใช่เรื่องง่าย จริง ๆ กนป. (คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ) มีมติมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 แต่ยังไม่ได้เพราะขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังจะอนุมัติงบฯให้หรือไม่ ซึ่งหากอนุมัติไม่ทันสิ้นเดือนนี้จะเป็นแรงกดดันให้ราคาในประเทศตกลงไปอีก และอาจต้องขยายระยะเวลาโครงการจากสิ้นเดือนนี้ออกไปอีกเพราะส่งออกทำไม่ทัน

ตลาดส่งออกหลัก

ตลาดอินเดีย ปากีสถาน ส่วนตลาดจีนแม้ว่าจะเป็นตลาดเบอร์ 1 แต่ไม่ได้ใช้น้ำมันปาล์มดิบใช้น้ำมันรีไฟน์ (กลั่น) แบบไทยผลิตขณะที่อียูเป็นตลาดใหญ่ก็จริง แต่ยกเลิกการให้สิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) ที่เคยให้ ซึ่งการส่งออกไปอินเดียนั้นจะต้องบวกภาษีนำเข้าที่อินเดียปรับเพิ่มขึ้นไปด้วย และยังต้องแข่งขันกับทุกประเทศที่ต่างก็มุ่งไปอินเดียเช่นกัน เพราะส่งออกไปอียูไม่ได้ ดังนั้น ความหวังจึงมีเพียงว่าหากจีนลดนำเข้ากากถั่วเหลืองจะทำให้นำเข้าน้ำมันปาล์มรีไฟน์จากมาเลเซียเข้าไปมากขึ้น ทำให้น้ำมันปาล์มจากมาเลเซียไม่มาแข่งขันกับไทย

ส่งเสริมใช้น้ำมันบี 20

แนวทางการใช้บี 20 ภาคสมัครใจก็ไม่ได้มีผลอะไรเกิดขึ้น ส่วนการจะขยับจากบี 7 ไปเป็นบี 10 นั้น ทางค่ายรถยนต์ก็ไม่รับ เพราะเสี่ยงต่อเครื่องยนต์ซึ่งเขาไม่ไหว

อย่างไรก็ตาม แนวทางในการแก้ไขปัญหานี้เราอาจต้องยอมรับความจริง ข้อสำคัญปัญหาราคาไม่ใช่เรื่องชั่วคราว แต่เกิดจากการใช้กลไกบิดเบือนตลาดจึงต้องมาดูปัญหาพื้นฐานต้นทุนเกษตรกรและโรงงานสกัด เพราะไม่ได้บูรณาการกันทั้งอุตสาหกรรมทั้งระบบ ทั้งที่เรามียุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมัน แต่ไม่มีใครบังคับใช้ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ทำให้หลายคนมองว่าอุตสาหกรรมปาล์มเป็น”sunset” สู้ไม่ได้ ต้องเลิกแล้วจะไปปลูกอะไร

แนวโน้มปี 2562

ทิศทางผลผลิตปีหน้าเกินกว่าปีนี้ 6% หรือมากกว่า 15 ล้านตัน เพราะช่วงต้นปีประเมินว่ามีเอลนิโญอาจแล้งแต่ไม่แล้ง อีกทั้งต้นปาล์มในประเทศไทยเป็นปาล์มหนุ่มสาวซึ่งยังให้ผลผลิตเยอะ สต๊อกสูง คาดการณ์ว่าปริมาณการส่งออกปีหน้าได้ 300,000 ตัน ส่วนทิศทางราคาตลาดน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ตันละ 500-600 เหรียญสหรัฐ จากปัจจุบันตันละ 490 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นราคาน้ำมันปาล์มดิบ กก.ละ 18 บาท แต่หากไทยเร่งผลักดันการส่งออกก็เสี่ยงจะถูกผู้ซื้อกดราคาตกอีก