ตะลึง CPF เชือดไก่พุ่ง8ล้านตัว ทิ้งห่างคู่แข่งอันดับ2 รับอานิสงส์บราซิล

ซีพีเอฟออร์เดอร์ไก่เนื้อส่งออกทะลัก ขยายกำลังการผลิตพุ่ง 8 ล้านตัวต่อสัปดาห์ รับอานิสงส์คู่แข่งบราซิลมีปัญหา ส่งผลดีราคาไก่ไทยพุ่งกว่า 15% ทิ้งห่างเครือเบทาโกรอันดับ 2 ไปเท่าตัวที่กำลังการผลิต 4 ล้านตัวต่อสัปดาห์ แถมแต่ละรายปิดดิวขายปลายปี 2560 ไปเรียบร้อยแล้ว

สืบเนื่องจากกรณีประเทศบราซิล ซึ่งถือเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกเนื้อและสัตว์ปีกรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลก เกิดปัญหาเจ้าหน้าที่ตรวจสอบด้านสาธารณสุข ที่ควบคุมคุณภาพรับสินบนบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเนื้อสัตว์รายใหญ่ของบราซิล และของโลก โดยเฉพาะ JBS S.A. และ BRF S.A. โดยการปลอมแปลงเอกสารอนุญาตให้ผู้ประกอบการทั้งหมดส่งออกเนื้อสัตว์ที่เน่าเสีย ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียส่งไปจำหน่ายได้ทั่วโลกมาเป็นระยะเวลาหลายปี และเมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคม 2560 ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติของบราซิลได้บุกไปตรวจสอบโรงงานบรรจุเนื้อสัตว์แช่แข็งพร้อมกัน 200 แห่งทั่วประเทศ หลังจากสืบทราบเกี่ยวกับการติดสินบนดังกล่าว ส่งผลให้หลายประเทศประกาศระงับการนำเข้าสินค้าแปรรูปเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะผู้นำเข้าตลาดหลักอย่างสหภาพยุโรป (EU) ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ชิลี สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา เม็กซิโก

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานผู้บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการฝ่ายธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและพัฒนาธุรกิจ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ซีพีเอฟได้เพิ่มกำลังการผลิตไก่เนื้อเข้าสู่โรงเชือดจาก 7 ล้านตัวต่อสัปดาห์เพิ่มอีก 1 ล้านตัวรวมเป็น 8 ล้านตัวต่อสัปดาห์ เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก แต่ปริมาณไก่เนื้อที่ผลิตได้ ยังไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 2 ปัจจัยบวก คือ นับตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมาหลังจากที่ 2 บริษัทผู้ผลิตไก่รายใหญ่ของประเทศบราซิล และถือเป็นผู้ผลิตเนื้อสัตว์รายใหญ่ของโลกมีปัญหา ทำให้หลายประเทศที่เป็นลูกค้าของบราซิลหันมาสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทยแทน ประกอบกับประเทศจีน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรายใหญ่ ปัจจุบันได้ชะลอการส่งออก เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งหมดส่งผลให้ราคาส่งออกไก่เนื้อของไทยปรับสูงขึ้นไปถึง 15% และซีพีสามารถปิดการขายยาวไปถึงสิ้นไตรมาส 4 ของปี 2560 แล้ว

“ผู้ผลิตไก่ไทยถือว่าได้รับอานิสงส์จากกรณีผู้ผลิตไก่รายใหญ่เบอร์ 1 และเบอร์ 2 ของประเทศบราซิลมีปัญหาตอนนี้ทุกบริษัทเพิ่มการเลี้ยง และเพิ่มการเชือดไก่กันหมด คาดว่าภาพรวมกำลังการผลิตทั้งระบบไก่เนื้อในประเทศไทยน่าจะประมาณ 30-32 ล้านตัวต่อสัปดาห์ แต่ยังมีกำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการส่งออก อย่างการส่งออกไปตลาดอียู ถึงปริมาณจะไม่เพิ่มขึ้น เพราะติดเรื่องระบบโควตา แต่ราคาดีขึ้นมาก” นายประสิทธิ์กล่าวและว่า

นายประสิทธิ์กล่าวต่อไปว่า ปัจจัยลบสำหรับการส่งออกไก่ในช่วงนี้ ที่น่าห่วงคงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันเฝ้าระวังเรื่องเชื้อโรคต่างๆ เพราะเป็นช่วงที่มีฝนตกอยู่ เพราะฮ่องกงมีข่าวเรื่องไข้หวัดนก แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยถือว่าควบคุมเรื่องเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ดี ผู้เลี้ยงทุกคนพยายามทำตามกฎระเบียบของกรมปศุสัตว์ ขณะที่กรมปศุสัตว์เองทำงานด้วยความเข้มงวด กระตือรือร้นในการเฝ้าระวังเรื่องโรคต่าง ๆ

แหล่งข่าวจากวงการไก่เนื้อ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่เพิ่มกำลังการเลี้ยงกันหมด โดยซีพีเอฟเพิ่มการเลี้ยงไปที่ 8 ล้านตัวต่อสัปดาห์ ขณะที่ผู้เลี้ยงอันดับ 2 เครือเบทาโกร น่าจะมีกำลังการผลิตใกล้เคียงกันประมาณ 3.5-4 ล้านตัวต่อสัปดาห์ สหฟาร์มน่าจะอยู่ประมาณ 2.7-3 ล้านตัวต่อสัปดาห์ จีเอฟพีที คาดว่าจะขยายกำลังการผลิตประมาณ 2 ล้านกว่าตัวต่อสัปดาห์ ไทยฟู้ดส์ น่าจะประมาณ 9 แสน-1 ล้านตัวต่อสัปดาห์

นายคึกฤทธิ์ อารีย์ปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า สมาคมผู้ส่งออกตั้งเป้าไว้ว่าปริมาณส่งออกทั้งปี 2560 น่าจะเกินเป้าที่ 7.5 แสนตัน มูลค่า 9.6 หมื่นล้านบาท และเป็นโอกาสดีที่ญี่ปุ่นหันมาซื้อไก่ไทยแทนบราซิล จากที่ญี่ปุ่นเคยซื้อไก่บราซิลในปริมาณ 1.9 แสนตัน จึงลดลงไป 12.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดังนั้น สมาคมจึงตั้งเป้าส่งออกไก่สดไปญี่ปุ่นให้ได้ 2 แสนตันในปี 2560 และคาดว่าทั้งปีไทยจะสามารถส่งออกได้เกินเป้าแน่นอน ซึ่งน่าจะโตขึ้น 8-9% โดยภาพรวมครึ่งปีแรก ปริมาณส่งออกอยู่ที่ 3.7 แสนตัน และคาดว่าออร์เดอร์จะมากขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง