สนค.ปรับเพิ่มประมาณการส่งออกปี 60 จากขยายตัว 5-6% และมีสิทธิ์ส่งออกได้เพิ่มถึง 6.5%

สนค.ปรับเพิ่มประมาณการส่งออกปี 60 จากขยายตัว 5-6% และมีสิทธิ์ส่งออกได้เพิ่มถึง 6.5% หลัง 7 เดือนส่งออกโตแล้ว 8.2% สูงสุดรอบ 6 ปี ล่าสุดยอดส่งออกเดือนก.ค.บวก 10.48% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 รับไทยขาดดุลเดือนนี้เป็นครั้งแรกผลจากการส่งออกทองคำ เนื่องจากมีการเก็งกำไร

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สำนักงานฯปรับประมาณการการส่งออกทั้งปี 2560 อยู่ที่ 5-6% อีกทั้งยังมองแนวโน้มจะขยายตัวได้ถึง 6.5% โดยมีปัจจัยการขยายตัวเศรษฐกิจโลกดีขึ้นอยู่ที่ 3.5% ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 45-55 บาทต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 34-36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ รวมไปถึงแนวโน้มการนำเข้า การส่งออกสินค้าปรับตัวดีขึ้น ดังนั้น โอกาสการส่งออกไทยในปีนี้น่าจะไปในทิศทางที่ดี และตลาดหลักของการส่งออกไทยก็ยังขยายตัวไปได้อีกด้วย

“ตัวเลขประมาณการดังกล่าวเป็นของสำนักงานฯที่จัดทำขึ้นมา ส่วนเป้าส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ยังคงกำหนดไว้ที่ 5% ซึ่งในวันที่ 28 ส.ค. 2560 ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาติดตามงานที่กระทรวงพาณิชย์ ก็ต้องรอลุ้นว่ารองนายกรัฐมนตรีจะมีการปรับเป้าส่งออกเพิ่มขึ้นหรือไม่” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

สำหรับการส่งออกไทยในเดือนกรกฎาคม 2560 มีมูลค่าอยู่ที่ 18,852 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวอยู่ที่ 10.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการส่งออกในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และส่งออกยังขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่าอยู่ที่ 19,040 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวอยู่ที่ 18.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ไทยมีการค้าขาดดุล 188 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการขาดดุลครั้งแรกในรอบหลายเดือนนับตั้งแต่เมษายน 2558

“การขาดดุลการค้าครั้งแรกทางสำนักงานฯมองว่าไม่น่ากังงวล เนื่องจากที่ผ่านมาเราได้เกินดุลการค้า และการขาดดุลส่วนใหญ่เป็นเรื่องของสินค้าทองคำ ที่ผู้นำเข้า ส่งออก มีการเก็งกำไร ราคาทองก็อาจจะมีกระทบบ้าง แต่เชื่อว่าน่าจะกลับมากดีขึ้น”

อย่างไรก็ดี การส่งออกที่ขยายตัวเป็นผลมาจาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยการส่งออกขยายตัวทุกตลาด และทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ทั้งในด้านราคาและปริมาณ เช่น ข้าว ผัก ผลไม้สดแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สด แช่แข็งและแปรรูป และน้ำตาลทราย ในขณะที่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยเฉพาะรถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง

ส่วนการส่งออกรวม 7 เดือน (มกราคม – กรกฏาคม 2560) มูลค่าอยู่ที่ 132,339 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.2% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี ส่วนการนำเข้า มูลค่า 125,616 ล้านเหรียฐสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.5% ส่งผลให้ไทยการค้าเกินดุลอยู่ที่ 6,783 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 9 อยู่ที่ 29.5% โดยสินค้าที่ส่งออกขยายตัว ได้แก่ ข้าว อยู่ที่ 98.8% โดยส่งออกไปที่ตลาดอิหร่าน เบนิน จีน แอฟริกา ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป อยู่ที่ 61.4% ส่งออกไปเวียดนาม จีนและสหรัฐ ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 อยู่ที่ 8.6% โดยสินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ กลับมาขายตัวเป็นบวกอยู่ที่ 22.3% ส่งออกไปในตลาด ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย

ตลาดส่งออกสำคัญยังขยายตัวทุกตลาด ขยายตัวต่อเนื่อง อยู่ที่ 9.8% โดยการส่งออกในตลาดหลัก เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ตลาดที่มีศักยภาพสูงขยายตัวอยู่ที่ 15.4% โดยเฉพาะตลาดจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ส่วนตลาดศักยภาพรอง ขยายตัวอยู่ที่ 9.1% โดยเฉพาะการส่งออกไปตะวันออกกลาง กลุ่มประเทศ CIS แอฟริกา เป็นต้น

สำหรับการส่งออกปี 2560 คาดว่าขยายตัวได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายกระทรวงพาณิชย์ที่ 5% โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากประเทศคู้ค้าสำคัญ ประกอบกับแรวโน้มสินค้าอุตสาหกรรมหลายรายการกลับมาดีขึ้น โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง รวมถึงการส่งออกสินค้าเกษตรแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกยางพารา น้ำตาลทราย อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม แต่คาดว่าไม่น่าจะส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ มองว่าการส่งออกระยะที่เหลือหากส่งออกอยู่ที่ 18,752 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึง ธันวาคม 2560 การส่งออกทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 5%